ข่าว

 ปตท.จัดทัพ "ดิจิทัล เวิร์กเพลส"รับไทยแลนด์4.0 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ปตท.จัดทัพ "ดิจิทัล เวิร์กเพลส" ขับเคลื่อนองค์กรรับไทยแลนด์4.0

              ไม่ปฏิเสธว่าในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรยักษ์ใหญ่อย่างปตท.ที่จำเป็นต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ก้าวสู่ดิจิทัล (Digital Culture) ด้วยการปรับรูปแบบการทำงานขององค์กรให้ก้าวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นโลกาภิวัตน์ในโลกยุคปัจจุบัน สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี

 ปตท.จัดทัพ "ดิจิทัล เวิร์กเพลส"รับไทยแลนด์4.0 

             “ปตท. กำลังก้าวสู่ปีที่ 40 โดยปรับรูปแบบการทำงานให้มีความทันสมัย ตอบสนองต่อกระแสธุรกิจยุคใหม่ยิ่งขึ้น ด้วยการนำแนวคิดและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาองค์กร (Digital Transformation) ผ่าน Internet of Things หรือ IoT เมื่ออุปกรณ์เชื่อมโยง ทำให้สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะทำให้ปตท.เป็นองค์กรต้นแบบแห่งนวัตกรรมผ่านการสื่อสารภายในองค์กรที่เป็นดิจิทัล ส่งผลให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ วัดผลได้อย่างชัดเจน ตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่”

 

 ปตท.จัดทัพ "ดิจิทัล เวิร์กเพลส"รับไทยแลนด์4.0 

            ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างการเสวนาหัวข้อ “Journey to Digital Transformation” นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพิ่มความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กรได้อย่างไร้พรมแดน โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรแห่งความก้าวล้ำด้านดิจิทัล อาทิ OneDrive, PowerBI, KOOLS Keeper, SkillLane, Chatbot แจ้งซ่อม รวมถึง Workplace by Facebook ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันรูปแบบใหม่ที่เชื่อมต่อพนักงานทุกคนในองค์กรผ่านการสนทนาด้วยเสียงและวิดีโอคอล สนทนาเป็นกลุ่ม และการฟีดข่าวถึงกัน

              “ปตท.พร้อมขับเคลื่อนเชิงรุกสู่ยุคดิจิทัล เดินหน้าสู่การเป็นองค์กรต้นแบบที่ส่งเสริมการทำงานแบบดิจิทัลเวิร์กเพลสอย่างเต็มรูปแบบ เป็นทางเลือกในการทำงานรูปแบบใหม่ที่อาศัยเครื่องมือทางดิจิทัลในการเชื่อมต่อสื่อสารและทำงานร่วมกันได้สะดวกขึ้น รับรู้สถานะการทำงานได้แบบเรียลไทม์ สามารถเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานและข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลาจากทุกอุปกรณ์ นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการทำงานขององค์กรในยุคปัจจุบันให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับการแข่งขันในภาคธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี ตอกย้ำการเป็น PTT Digital Culture หรือวัฒนธรรมแห่งความเป็นดิจิทัลอย่างแท้จริง” ชาญศิลป์ กล่าว

               ชาญศิลป์ยังพูดถึง Digital Transformation ว่าไม่ใช่ว่ามีเทคโนโลยีมาแล้วทุกคนจะทำได้ แต่เป็นเรื่องวิธีการคิดของคนที่จะต้องปรับตัวและอาจจะต้องมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ซึ่งกลุ่มปตท.โชคดีมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและมีบุคลากรที่มีความสามารถระดับหนึ่งเข้ามาร่วมในกลุ่ม บุคลากรโดยส่วนใหญ่มีพื้นฐานต้องใช้สิ่งเหล่านี้อยู่แล้วเพราะถ้าไม่ใช้ก็ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้

             “วันนี้เราวางเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องต่างๆ ให้ดี มีความปลอดภัย ร่วมมือกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ สร้าง New Experience ใหม่ๆ เซอร์วิสให้ดี  เมื่อตัวเลือกมีมากมายต้นทุนก็ถูกลงด้วย เท่านี้ก็ไปได้ ผมคิดว่าอย่างนั้น เทคโนโลยีมีเยอะแยะในโลกที่เราจะเลือกนำมาใช้”  

             ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer และ Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์กล่าวยอมรับว่า สำหรับธนาคารเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล จากการศึกษารายละเอียดเราค้นพบว่าธุรกิจที่มีบิสซิเนสโมเดล หรือมีการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งธนาคารในสมัยก่อนมีหน้าที่รับฝากเงิน โอนเงิน ซึ่งมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และเวลาโอนเงินต่างธนาคารก็จะมีค่าธรรมเนียม 25-30 บาท เราอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเสียตังค์  พอเรามองไปสักระยะก็จะพบว่ามีธุรกิจดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถเข้ามา เปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าหากเราไม่เปลี่ยนแปลงความอยู่รอดขององค์กรก็คงไม่มี 

             “เมื่อก่อนการโอนเงินจากไทยไปต่างประเทศ สมมุติโอนไปซิมบับเวหรือประเทศไกลๆ ที่ไม่คุ้นเคย ค่าโอนบางทีแพงกว่าเงินที่เราจะส่งไป โอน 3,000 อาจจะเสียค่าโอน 1,500 สาเหตุเพราะว่าต้องผ่านตัวกลางหลายตัวมีค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บกันไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันธุรกิจที่เข้ามาใช้เทคโนโลยีใหม่ บล็อกเชนที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้เร็วแบบเรียลไทม์และราคาถูก ซึ่งในวันนี้เกิดขึ้นจริงแล้ว”

                  ดร.อารักษ์ระบุอีกว่า ไทยพาณิชย์เองก็มีการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เช่นกัน เพียงแต่เราค้นพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่าง ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อตัวตนขององค์กร ซึ่งวันนี้ไทยพาณิชย์มีพนักงานประมาณ 2 หมื่นคนประจำอยู่ตามสาขาหมื่นกว่าคน ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในสาขาน้อยกว่า 10% ของธุรกรรมทั้งหมด แต่เรามีคนมากกว่าครึ่งที่อยู่ตามสาขา กลับหัวกลับหางกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งธนาคารยินดีที่จะไปใช้บนเทคโนโลยีโมบายแบงกิ้งมากขึ้น เพราะต้นทุนก็ถูกและเร็วกว่า แต่เป็นโจทย์ที่ต้องคิดเช่นกันว่าองค์กรต้องถามตัวเราว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อมีผลกระทบเหล่านี้เข้ามา

               “ผมเชื่อว่าหลายๆ องค์กรมีโจทย์ที่คล้ายกัน เป้าหมายของการใช้เทคโนโลยีคือสร้างขีดความสามารถให้องค์กรในการแข่งขันในโลกที่มีความไม่ชัดเจนนี้ได้ พูดง่ายๆ คือทำยังไงก็ได้ให้เราสามารถดูแลลูกค้าได้ดีขึ้น เร็วขึ้น แต่มีต้นทุนที่ถูกลง มีรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา เป้าหมายคือเราจะเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ได้อย่างไร” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officerธนาคารไทยพาณิชย์

               พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในช่วงเสวนาตอนหนึ่ง โดยระบุว่า กิจการโทรคมนาคมในขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าเทคโนโลยีกำลังก้าวไปเปรียบได้กับการที่เราพายเรือลำเล็กๆ จากคลองมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และในอีก 2 ปีจะออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปสู่มหาสมุทรที่กว้างใหญ่  หมายความว่าเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ข้อจำกัดในหลายเรื่อง ซึ่งคล้ายกับที่เราผ่านข้อจำกัดเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้วที่สามารถเป็นสถานีโทรทัศน์ได้ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเห็นหน้ากันในการสื่อสาร หรือสามารถ Broadcast live ได้มาก่อน 

                “เราได้ก้าวทะลุผ่านจุดสำคัญหนึ่งแล้วแต่เรากำลังจะผ่านจุดที่สำคัญยิ่งในปี 2020 ก็คือ ขีดความสามารถในการส่งข้อมูลจะไปถึง 100 เมกะบิตเปอร์เซคเคิล  คือในสิ่งที่เราไม่เคยทำได้มาก่อนเราจะทำได้ คือเรานี่ไม่ใช่องค์กรแต่คือพวกเราที่เป็นผู้ใช้ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนที่เคยเสนอข่าว แต่กลับกลายเป็นหน่วยซีลเสนอข่าวก่อนสื่อมวลชน  นี่คือยกตัวอย่างที่ชัดเจน” 

                  รองประธานกสทช.ย้ำด้วยว่า การก้าวมาของเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จะส่งผลทำให้องค์กรเปลี่ยนรูปแบบไปโดยที่องค์กรดั้งเดิมไม่สามารถที่จะอยู่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนที่ทำงานรูปแบบเดิมๆ กลับกลายเป็นไม่สามารถเสนอข่าวแบบทันท่วงทีได้ ต้องไปเอาข่าวจากประชาชนมาเล่าให้ฟัง เช่นเดียวกันในอนาคตองค์กรที่ไม่พัฒนาต่อไปถ้าไม่ intelligent ประชาชนจะฉลาดกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้องค์กรขนาดใหญ่ที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะค่อยๆ เฟดตัวหายไป 

             ดังนั้นต้องมีการเตรียมการบุคลากรที่ก้าวไปสู่แพลตฟอร์มในการทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียลไทม์มากยิ่งขึ้น สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยที่ไม่มีอุปสรรคหรือกฎหมายในเรื่องกฎระเบียบเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่องค์กรต้องเตรียมการและผู้บริหารต้องวางนโยบายและโรดแม็พ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่จุดนั้นให้ได้ ถ้ายังใช้เทคโนโลยีการปฏิบัติงานเดิมๆ ก็จะเกิดองค์กรเล็กๆ ที่สามารถปฏิบัติงานได้ฉลาดกว่ามาแทนเรา

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ