ข่าว

ประมูลไฮสปีดคึกคัก ทุนต่างชาติแห่เข้าร่วมเพียบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมูลไฮสปีดคึกคัก ทุนต่างชาติแห่เข้าร่วมเพียบ

 

“คมนาคม” มั่นใจ 12 พ.ย.นี้ เอกชนลงสนามชิงไฮสปีดเทรน 5 กลุ่ม หลังพบรายนามหน้าใหม่ ทุนต่างชาติแห่เข้าร่วมเพียบ ขณะที่ รฟท.เผยยอดขายซอง วันสุดท้ายคึกคักมีเอกชนไทย-ต่างชาติซื้อซองถึง 8 ราย ปิดยอดขาย 31 รายสูงเกินคาด

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) ได้ข้อสรุปมีบริษัทซื้อซองประมูล 31 ราย สูงกว่าที่ภาครัฐประเมินไว้ โดยหลังจากนี้ จะมีการประชุมชี้แจงเอกชนที่ซื้อซองประมูลในวันที่ 23 ก.ค.นี้

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ผลจากการซื้อซองประมูลครั้งนี้แสดงให้เห็นความสำเร็จที่มีเอกชนแสดงความสนใจเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งมีเอกชนหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงทุนในไทย และไม่เคยมีสัญญาณที่จะเข้าร่วมโครงการมาซื้อซองในครั้งนี้ด้วย

“รถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการที่เอกชนตอบรับดีมาก และยอมรับว่าเซอร์ไพรส์กับกลุ่มต่างชาติอย่างกลุ่มเกาหลี ที่เข้ามาร่วมซื้อซองด้วย เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าจะมีเกาหลีเข้ามาร่วม ทำให้ตอนนี้ประเมินว่าอาจจะมีเอกชนรวมกลุ่มกันเข้ามายื่นประมูลโครงการมากกว่า 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 5 อาจจะเป็นกลุ่มทุนที่ร่วมกับเกาหลีก็มีความเป็นไปได้”

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า หลังจากเปิดขายซองเอกสารตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. - 9 ก.ค.2561 มีผู้ซื้อซอง 31 ราย โดยวันสุดท้าย (9 ก.ค.) มีผู้ซื้อซองสูงถึง 8 ราย คือ 1.บริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF)  2.บริษัท Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ญี่ปุ่น) 

3.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 5.บริษัทแอล เอ็ม ที สโตน 6.WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD (มาเลเซีย) 7.บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (จีน) และ 8. MRCB Builders SDN. BHD. (มาเลเซีย)

“ตามที่คาดการณ์ว่าวันสุดท้ายจะคึกคักก็ได้เห็นบรรยากาศเช่นนั้นแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มบริหารจัดการ และโอเปอร์เรต รวมทั้งมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา เช่น มาเลเซีย และกลุ่มขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคาดว่ากลุ่มเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในตัวประกอบ หรือเป็นกลุ่มที่มาดูรายละเอียดโครงการ แม้ไม่ยื่นประมูลเอง แต่ก็มีส่วนร่วมกับโครงการผ่านการรับเหมางานต่อได้”

นายวรวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนตัวคาดการณ์ว่าจะมีเอกชนร่วมยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 พ.ย.นี้ รวม 4 กลุ่มใหญ่ ซึ่งหากเป็นไปตามข่าวก่อนหน้านี้ ก็คาดว่าจะมีกลุ่มบีทีเอส กลุ่มซีพี กลุ่มบีอีเอ็ม และการร่วมกลุ่มใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่องานนี้ ส่วนการเข้ามาร่วมซื้อซองของเอกชนผู้เล่นหน้าใหม่ อย่างมาเลเซีย ส่วนตัวประเมินว่าจะเป็นเพียงการเข้ามาเก็บบรรยากาศ

“คณิศ”ปลื้มซื้อซองจำนวนมาก

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า เอกชนไทยและต่างประเทศสนซื้อซองรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถึง 31 ราย โดยเอกชนที่ซื้อซองทั้งหมดจะต้องทำรายละเอียดข้อเสนอการเข้าร่วมประมูลต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อพิจารณาคัดเลือกในการประมูลภายในวันที่ 12 พ.ย.นี้ และจะได้บริษัทที่ชนะการประมูลได้ภายในต้นปี 2562

“การเปิดประมูลครั้งนี้นับว่าเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล จากการที่นักลงทุนให้ความสนใจในการเข้ามาซื้อซอง ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการของภาครัฐ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน 5 โครงการหลักของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะด้านการบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เกิดการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่”

ไทยซื้อซองมากสุด15ราย

สำหรับการเปิดขายซองโครงการไฮสปีดเทรนสายดังกล่าว มีเอกชนร่วมซื้อซอง 31 ราย แบ่งออกเป็น ภาคเอกชนไทย 15 ราย เช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) บริษัทชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริษัท และเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

ส่วนญี่ปุ่นมี 3 ราย คือ บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด และ Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development ด้านมาเลเซียมี 2 คือ บริษัท WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD และบริษัท MRCB Builders SDN. BHD

ขณะที่ฝรั่งเศสซื้อซอง 2 ราย คือ บริษัท Transdev กรุ๊ป และบริษัททางรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส (SNCF) อิตาลี 1 ราย บริษัท Salini Impregio S.p.A. เกาหลี 1 ราย กลุ่มกิจการร่วมค้า โคเรีย - ไทย ไฮสปีดเทรน เรล โรด และจีนซื้อซองมากที่สุด 7 ราย เช่น บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ฟอเรชั่น ลิมิเต็ด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป

 

บีทีเอสเจรจาต่างชาติ2ราย

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีทีเอสพร้อมร่วมประมูลโครงการนี้แน่นอน โดยขณะนี้ให้ทีมประเมินข้อมูลรอบด้าน ส่วนกรณีที่จะร่วมทุนกับเอกชนรายอื่นนั้น ปัจจุบันกลุ่ม BSR ซึ่งประกอบไปด้วย บีทีเอส ซิโน-ไทย และราชบุรีโฮลดิ้งตั้งใจลงทุนร่วมกัน ส่วนบริษัท ปตท.ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันถ้า ปตท.จะเข้าร่วมก็ยินดี

“ตอนนี้มีต่างชาติอย่างน้อย 2 ประเทศเข้ามาพูดคุยกับเรา ซึ่งมีทั้งเอเชีย และยุโรป โดยบริษัทนี้มีความถนัดทั้งในด้านงานก่อสร้าง งานระบบ และขายรถด้วย ส่วนกับซีพี ที่ผ่านมาก็มีคุยกันตลอด ถ้ามีความจำเป็น และเกิดประโยชน์กับประเทศ เราก็จับมือกันได้ตลอด บีทีเอสไม่ได้ปิดกั้นใคร เราพร้อมร่วมทุนกับทุกฝ่าย และหากบทสรุปโครงการนี้ทางซีพีได้ ทางบีทีเอสก็อาจจะเข้าไปร่วมทำในส่วนที่เราถนัด หรือหากบีทีเอสได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ซีพีจะเข้ามาช่วย”

ยุโรปแนะเลือกบริษัทเชี่ยวชาญ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วานนี้ (9 ก.ค.) นายสเตฟาน โมลนาร์ ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (EABC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจยุโรปที่ลงทุนในประเทศไทยได้เข้ามาพบหารือในประเด็นธุรกิจที่ธุรกิจยุโรปสนใจลงทุนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ นักธุรกิจยุโรปมีข้อแนะนำว่าประเทศไทยกำลังจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายแรกเชื่อม 3 สนามบิน จึงต้องการอยากให้เลือกบริษัทที่มีคุณภาพสูงเข้ามาดำเนินการเพราะเป็นโครงการที่มีระยะเวลาสัมปทานยาวถึง 50 ปี ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปว่าไทยต้องการบริษัทที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงจึงได้เปิดประมูลโครงการนี้เป็นการประมูลแบบนานาชาติ (International Bidding) และไทยยังต้องการการพัฒนาบุคลากรด้านรถไฟประมาณ 30,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในเมือง และรถไฟความเร็วสูง จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรไว้รองรับด้วย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ