ข่าว

  อนาคต "สตาร์ทอัพ" ไทยก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

   อนาคต "สตาร์ทอัพ" ไทยก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น เล็ง3ธุรกิจหลัก"เกษตร-สุขภาพ-บริการ"

 

  อนาคต "สตาร์ทอัพ" ไทยก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น

           จากคำกล่าวที่ว่า “ถึงยุคที่เราไม่ได้จ้างพนักงานมานั่งแพ็กของส่ง แต่จ้างวิศวกรมาคุมโปรแกรมการผลิต”

 เป็นคำกล่าวที่น่าจะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ยุค 4.0 มุ่งใช้เทคโนโลยีในทุกกระบวนการผลิตทุกรูปแบบ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าตัวผลิตภัณฑ์  จึงไม่แปลกที่รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มเริ่มจะตั้งตัวหรือที่เรียกกันว่า “สตาร์ทอัพ” ให้มีการเติบโตและก้าวไปสู่ความเป็น "ยูนิคอร์น" อย่างยั่งยืนในอนาคต 

  อนาคต "สตาร์ทอัพ" ไทยก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น

   ในวงการธุรกิจสตาร์ทอัพเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นการเป็นยูนิคอร์น  หลายคงเคยได้ยินคำว่า “อยากเป็น Unicorn” จำนวนไม่น้อยคงสงสัยว่ายูนิคอร์นคืออะไร ยูนิคอร์น  หมายถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในต่างประเทศเราจะเห็นสตาร์ทอัพชื่อดังในสหรัฐอเมริกา อย่าง Uber, Airbnb หรือ Snapchat เป็นต้น โดยปัจจุบันจีนก็มีสตาร์ทอัพ อย่าง Xiaomi หรือ Didi Chuxing ผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพรายใหญ่ในจีนที่ผ่านจุดประสบความสำเร็จเป็นยูนิคอร์นกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ในภูมิอาเซียนเองก็มีไม่น้อยธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น สำหรับสตาร์ทอัพไทยถือว่ายังไกลเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะอินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนามก็เริ่มมียูนิคอร์นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Garena, Grab Taxi, Razer, Lazada, Traveloka, VNG, Tokopedia เป็นต้น ซึ่งรายหลังเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของอินโดนีเซีย ประเทศที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย และล่าสุด Alibaba ได้เข้าไปลงทุน 3 หมื่นกว่าล้านบาทใน Tokopedia ที่กลายเป็น E-commerce Platform ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย 

  ขณะที่เวียดนามก็มี VNG ที่เป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น เพราะฉะนั้นยูนิคอร์นจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในแง่ของตัวเลขการลงทุนมหาศาลย่อมก่อให้เกิดการจ้างงานระดับทักษะสูง (High Skill Employee) เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นการเกื้อหนุนเอสเอ็มอี เพราะกำลังจ่ายที่มากขึ้นจากฐานรายได้อีกด้วย

     “จริงๆ เราได้รับคำถามนี้มาค่อนข้างเยอะเหมือนกันว่าประเทศของเรามีประชากรอยู่กว่า 60 ล้านคน มีโครงสร้างกำแพงทางภาษีเต็มไปหมด  เราจะสร้างยูนิคอร์นได้อย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย เขามียูนิคอร์นอยู่ 3 ตัว เช่น traveloka tokopedia  Go-jek และประชากรเขาก็มากกว่าเราหลายเท่า หรือสิงคโปร์มี lazada  มาเลย์มี grab taxi ส่วนบ้านเรายูนิคอร์นมีตลาดรองรับหรือเปล่า เราก็กำลังเร่งทำให้เอสเอ็มอีของเราไปเป็นลูกค้ายูนิคอร์นในอนาคตได้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามร้านก๋วนเตี๋ยวเราใช้บริการของสตาร์ทอัพได้  ร้านค้าหรือโรงแรมใช้เทคโนโลยีบางอย่าจากสตาร์ทอัพได้ ผมคิดว่าตรงนั้นจะทำให้ระบบนิเวศเริ่มเติบโตแล้ว ประเทศไทยจึงไม่ใช่ผู้นำเฉพาะอาเซียนแต่จะเป็นผู้นำของทั้งโลกได้เลย ถ้าเราสามารถพลิกตัวขึ้นมาสร้างเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมของตัวเองได้จะทำให้ประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดดทันที”

 

   ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า (depa) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาหัวข้อ “ทิศทางการเติบโตและโอาสของสตาร์ทอัพ อีโคซิสเต็มไทยกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน” ระหว่างการแถลงข่าวดีป้าจับมือเทคซอสพัฒนาสตาร์ทอัพไทยผ่านโครงการ depa Accelerator Program x Techsauce ณ อาคารสีลม คอมเพล็กซ์ โดยเขาระบุต่อว่าดิจิทัลเป็นเพียงเครื่องมือที่ก้าวพ้นขีดจำกัดทางกายภาพเท่านั้น แต่วิธีการเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีประชากรอยู่ในธุรกิจนี้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับสร้างรายได้ให้ประเทศเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  ส่วนที่เหลือเป็นของคนอีก 60 เปอร์เซ็นต์ 

     “จริง ๆ แล้วเรามองตรงนี้เป็นโอกาส ถ้าคน 40 เปอร์เซ็นต์ทำรายได้เพิ่มขึ้นอีกสักเท่าตัวคือ 20 เปอร์เซ็นต์ก็จะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นทันที  ทำอย่างนี้ได้ก็ต้องทำให้เทคโนโลยีเข้าไปสู่ภาคเกษตรกรรมมากขึ้น ถ้าเราลงไปช่วยเขาให้มีรายได้เพิ่มเท่าตัวก็จะดีมาก เพราะเงินที่พร้อมลงไปในภาคเกษตรเยอะมาก ผมมองว่าภาคเกษตรยังมีช่องว่างอีกเยอะ หรือธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวของเราก็สร้างรายได้มากกว่าภาคการเกษตร เพราะเรามีทรัพยากรตรงนี้มากกว่าคนอื่นเขา ถ้าเราเทคโนโลยีไปใช้กับภาคบริการเหล่านี้ก็จะสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไม่กระจุกตัวอยู่ที่โรงแรมหรือสายการบินให้มันลงไปวิีทีแหนมเนือง ผ้าย้อมครามสกลนคร ลงไปที่ชุมชนประมงที่ภาคไต้ก็จะทำให้รายได้มีการกระจายในพื้นที่มากขึ้นนั่นเอง” รองผอ.ดีป้า ให้มุมมอง

  อนาคต "สตาร์ทอัพ" ไทยก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น

   อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัดยอมรับว่าสตาร์ทอัพคือจุดเริ่มต้นของคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวไปสู่ยูนิคอร์นในการสร้างรายได้ในภาคธุุรกิจที่ยั่งยืน  การเป็นยูนิคอร์นไม่ได้แค่มีตลาดที่ใหญ่เท่านั้นแต่ต้องมีสมาชิกที่ใหญ่ด้วยอย่างอินโดนีเซียมีทราเวลโลกา (Traveloka)  กรณีของประเทศไทยแน่นอนว่าแม้ตลาดจะไม่ใหญ่ แต่ถ้ายูนิคอร์นไปลงโมเดลให้คนรุ่นใหม่ก็จะยิ่งเสริมความแกร่งให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วย

   “ประเทศไทยถ้าเรามองไปที่ภาคเกษตร มองไปที่ตัวเกษตรกรกว่าจะถึงปลายน้ำมันมีกระบวนการที่เยอะมาก ซึ่งกระบวนการผลิตทั้งหมดมันยังมีปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่มีการแก้ไข การที่เรามีโปรแกรมที่เน้นเรื่องพวกนี้ทำให้เปิดโอกาสให้คนที่เขาอยากจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ ได้มีเวทีให้เขาได้พบเจอ  อย่างเช่นพ่อแม่เป็นเกษตรกรส่งลูกมาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ พอกลับมามันมีปัญหาคนรุ่นใหม่ไม่อยากทำเหมือนคนรุ่นเก่า เราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในภาคการเกษตรกร ทำอย่างไรให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของทั้งประเทศมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น หาตลาดรองรับได้ทันที  อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวาน แต่ไม่มีคนดูแล จะทำอย่างไร เราก็เริ่มเห็นบริการเฮลล์แอทโฮม (health at home) ก็สามารถเข้ามาช่วยได้ คนที่มีวิชาชีพอยู่แล้วเขาต้องการพื้นที่ ถ้ามีโครงการแบบนี้เขาจะเริ่มเปิดตัวและจะเปิดเป็นธุรกิจได้ในทันที” บอสใหญ่เทคซอสฉายภาพความจำเป็นของยูนิคอร์นที่จะเป็นเชื่อมเครือข่ายสตาร์ทอัพและธุรกิจเอ็มเอ็มอีไทย

   ขณะที่ ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการกองทุน 500 TukTuks ในฐานะตัวแทนสตาร์ทอัพมองว่าสตาร์ทอัพในเมืองไทยโอกาสคว้าประโยชน์จากสิ่งเหลา่นี้มีมากน้อยแค่ไหนและทิศทางการเติบโตเป็นอย่างไรในฐานะนักลงทุนมองว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ภาครัฐ เอกชนได้ร่วมมือกันมีหลายๆ เรื่องที่ภาคเอกชนมีปัญหา ไม่สามารถทำได้ แต่ภาครัฐสามารถเชื่อมต่อให้ก้าวต่อไปได้สำเร็จจะทำให้เหล่าบรรดาสตาร์ทอัพทั้งหลายมีความเชื่อมั่นในธุรกิจที่ตัวเองลงทุนลงแรงไปและจะได้เห็นธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากสตาร์ทอัพถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา เพราะยังเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่นิ่งต้องค่อยๆ ประคับประคองอยู่ตลอดเวลา เพราะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา

               

 ดีป้าผนึกเทคซอสเปิดเวที“สตาร์ทอัพ”ทั่วไทย

       สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับเทคซอส มีเดีย เปิดตัว depa Accelerator Program x Techsauce หวังใช้ความร่วมมือระหว่างเอกชน-ภาครัฐ ยกระดับอีโคซิสเท็มและศักยภาพสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีสากล พร้อมเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพจากทั่วประเทศที่มีโปรดักท์เป็นของตัวเองมาเข้าร่วมโปรแกรม โดยเน้น 3 ธุรกิจหลักได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech)- และเทคโนโลยีด้านบริการ (ServiceTech)  เริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคมนี้ และประกาศรายชื่อ 20 ทีมที่เข้ารอบในวันที่ 7 กันยายน เพื่อเข้าโปรแกรมในเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ รวมเวลา 3 เดือน 

   โดยทั้ง 20 ทีมที่ได้รับการคัดเลือกจะมีโอกาสได้พบกับเมนเทอร์จากต่างประเทศที่จะเข้ามาช่วยสอนในโปรแกรมและทำการแมทช์ชุดทักษะหรือ Skillset ให้ตรงกับกลุ่มสตาร์ทอัพของตัวเอง ใครที่เชี่ยวชาญด้าน ไหนเป็นพิเศษก็จะมีการจัดเวิร์กช็อปแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ นอกจากนี้ทีมงานจะช่วยดูพัฒนาการของแต่ละคนเพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนถึงวัน Demo Day รวมถึงมีโอกาสได้พบกับเหล่านักลงทุนด้วย 

    ทั้งนี้จะมีการจัด Demo Day ในวันที่ 23 มกราคม  2562 เพื่อหาผู้ชนะ 1 ทีมจาก 20 ทีม โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเงินสด 5 แสนบาทพร้อมสิทธิ์ในการไปแข่งขันบนเวทีสตาร์ทอัพในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีรางวัลจาก AWS (Amazon Web Services) และ Hubba ผู้นำการให้บริการ Co-Working Space ร่วมให้การสนับสนุนพิเศษในโครงการนี้อีกด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ techsauce.co/depa-accelerator หรือสอบถามที่ 06-5406-6608

                                                                                          ............................................................. 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ