ข่าว

 มิติใหม่วิทยุมก.สู่ "เคยูเรดิโอพลัส"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 มิติใหม่วิทยุมก.สู่ "เคยูเรดิโอพลัส" รวมทุก "แพลตฟอร์ม" ไว้บนมือถือ

 

           เคยูเรดีโอพลัส (KUR+) คือบทบาทใหม่ของสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สถานีวิทยุมก.) เพื่อรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารในยุค 4.0  ถือเป็นสถานีวิทยุรายแรกๆ ที่พลิกโฉมการสื่อสารจากการฟังอย่างเดียวให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์แบบย่อมๆ ที่ได้เห็นทั้งภาพและเสียง โดยมุ่งเป้าเจาะกลุ่มผู้ฟังในทุกระดับ ทั้งเอ บี และซี

           “วิทยุมก.มีกลุ่มผู้ฟังเป็นกลุ่มซีก็คือกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพราะเราตั้งธงเป็นเอเอ็มมาโดยตลอด ผู้บริหารไม่ได้มองเอฟเอ็มเลยนะ เพราะจริงๆ แล้วกลุ่มคนพวกนี้ฟังเอเอ็มจากวิทยุ พอโลกเปลี่ยนเราก็พัฒนาให้มันเป็นแอพพลิเคชั่น เรามองว่าฐานผู้ฟังเปลี่ยนแล้วจะได้กลุ่มบีและกลุ่มเอเข้ามาด้วย คนเมืองแต่ก่อนฟังเอฟเอ็มตอนนี้เขาก็จะไม่ฟังแล้ว ก็จะฟังผ่านโทรศัพท์มือถือ ในขณะเดียวกันโทรศัพท์มือถือไม่ได้ฟังเสียงอย่างเดียวมันมีเรื่องของภาพและเนื้อหาเอามาโชว์ได้ด้วย”

 

 มิติใหม่วิทยุมก.สู่ "เคยูเรดิโอพลัส"

 

        ผศ.อนุพร สุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวิทยุมก.เพื่อรับกระแสการไหลบ่าของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคไร้พรมแดนที่ไม่จมจ่อมอยู่กับรูปแบบเดิมๆ 

        หากมองย้อนกลับไปเมื่อปี 2504 เป็นปีที่สถานีวิทยุมก.ถูกเผยแพร่ไปสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรก โดยมี “รศ.พร สุวรรณวาจกกสิกิจ” เป็นดั่งผู้ฟูมฟักสถานีวิทยุแห่งนี้ให้เติบใหญ่ ซึ่ง รศ.พร เล็งเห็นว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นมีแหล่งองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรมากมายแต่จะไม่มีประโยชน์อะไรหากไม่ได้รับการเผยแพร่ให้สาธารณชนหรือเกษตรกรได้รับรู้เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตจริง

       กว่า 50 ปีที่สถานีวิทยุมก.ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนท่ามกลางพายุเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนารุดหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ เครื่องมือ ตลอดจนพฤติกรรมของผู้รับข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงไป จากสถานีวิทยุในรูปแบบเดิมๆ ดูเหมือนไม่เพียงพ่อต่อความต้องการแห่งยุคสมัย จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือและมุ่งพัฒนาวิทยุให้ทันสมัยทั้งข้อมูลและรูปแบบของการสื่อสารในทุกแพลตฟอร์ม

 มิติใหม่วิทยุมก.สู่ "เคยูเรดิโอพลัส"

         ผศ.อนุพร ยอมรับว่าที่ผ่านมาสถานีวิทยุมก.ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรไปสู่เกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไปในรูปแบบของเสียงเพียงอย่างเดียว  กระทั่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้พัฒนาการถ่ายทอดข้อมูลให้ทันยุคสมัยมากขึ้น รวมถึงการขยายพื้นที่การเข้าถึง จึงเริ่มออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตและเป็นสถานีวิทยุแห่งแรกในระบบเอเอ็มของประเทศไทยที่ออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้เห็นได้ว่าสถานีวิทยุมก.ไม่เคยหยุดอยู่กับที่

          “ในปัจจุบันสื่อจะต้องเป็นรูปแบบคอนเวอร์เจน คือการรวมสื่อหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เราจึงตั้งหน่วยงานเคยูเรดิโอพลัสขึ้นมาเพื่อทำให้สถานีวิทยุมก.เป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนและทันสมัย เราบวกด้านเนื้อหาเข้าไปบวกทั้งภาพและเสียงเข้าไป เผยแพร่เนื้อหาทั้งระบบอะนาล็อกและดิจิทัล เรามีแอพพลิเคชั่นทั้งในระบบไอโอเอส และ แอนดรอยด์ เรากลายเป็นสถานีโทรทัศน์เล็กๆ บนโทรศัพท์มือถือที่มีภาพและเสียงที่คมชัด”

             ทว่าการถ่ายทอดทั้งภาพและเสียงผ่านระบบอินเทอร์เน็ตนี้นำมาสู่การถ่ายทอดข้อมูลความรู้ที่มีคุณภาพและไร้พรมแดน พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีอีเวนท์อบรมเกษตรกรในหลายโครงการโดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นโรงเรียนเกษตรทางอากาศ โรงเรียนข้าวทางอากาศร่วมกับกรมการข้าว โรงเรียนลำไย โรงเรียนโคเนื้อร่วมกับธ.ก.ส. โดยเป็นกลุ่มผู้ฟังที่สามารถจับต้องได้ ขณะเดียวกันยังต้องการขยายฐานในกลุ่มอื่นๆ รวมถึงมีเนื้อหาอื่นๆ นอกจากการเกษตรเพียงอย่างเดียว ล่าสุดร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน จัดโครงการประกวดเรื่องเล่าเป็นความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นโดยใช้ภาษาถิ่นของเด็กนักเรียนในภูมิภาคต่างๆ 

           "เรามองมาโดยตลอดว่าวิทยุมันอยู่ไม่แน่นอน คนฟังน้อยลง ทีวีก็ไม่ใช่สื่อหลักอีกต่อไป อะไรที่น่ากลัวที่สุด โทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา จะทำยังไงก็ได้ที่ให้เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ เราสร้างแอพพลิเคชั่นของเราเองเคยูเรดิโอ เราได้พัฒนาแอพทั้งแอนดรอยด์และไอโอเอส เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มผู้ฟัง เราจะมีกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มผู้ฟังใหม่ของเรา นั่นคือการขยายฐานผู้ฟัง การสร้างกลุ่มใหม่แต่ยังคงกลุ่มเก่า พัฒนารายการ พัฒนารูปแบบ ถ่ายทอดผ่านสื่ออื่นๆ ทั้งหมดคือสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้” ผู้อำนวยการใหญ่วิทยุมก.ฉายภาพกระบวนการทำงานของสถานีให้ฟัง

           ด้วยทีมงานคุณภาพและความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ราชบัณฑิตยสถาน บีทูเอส ทรูฟาร์ม แอพพลิเคชั่น เว็บไซต์เกษตรก้าวไกล ฯลฯ ทำให้ผลงานของสถานีวิทยุมก.ในปัจจุบันมีความรอบด้านมากขึ้นไม่ใช่แค่สถานีวิทยุทางด้านการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานีวิทยุเพื่อการเกษตร ภาษา วัฒนธรรมและสาธารณประโยชน์

          การมุ่งทิศทางแห่งการพัฒนาของสถานีวิทยุมก.ไม่ได้มีเพียงเฉพาะพัฒนารูปแบบหรือช่องทางการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงการพัฒนาเนื้อหาสาระของรายการต่างๆ อีกด้วย และในอนาคตอันใกล้นี้อีกหนึ่งบทบาทในฐานะหน่วยงานกลางที่นำองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปถ่ายทอดสู่สาธารณะ

          “เรามีหลักการทำงานว่ารายการเดิมต้องพัฒนาให้ดีขึ้นและก็ต้องพัฒนารายการใหม่ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน ล่าสุดเราได้เสนอทางมหาวิทยาลัยว่าจะเป็นหน่วยงานกลางในการนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การเกษตร แต่รวมไปถึงการนำผลงานวิจัยของคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมาเผยแพร่ เป็นการดำเนินการที่เห็นได้ว่าเราจะไม่หยุดนิ่ง” ผอ.สถานีวิทยุมก.กล่าวทิ้งท้าย 

         นับเป็นอีกก้าวของสถานีวิทยุมก. หรือเคยูเรดิโอพลัส ในการเปลี่ยนแปลงเพื่อรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารในทุกแพลตฟอร์มและยังคงบทบาทความเป็น “สื่อกลาง” ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณชนเป็นสำคัญ  

  เสียงสะท้อนจากแฟนพันธุ์แท้ “วิทยุมก.”

           ประสิทธิ์ ผุดกระจ่าง รองประธานศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผักอินทรีย์ บ้านป่าสีเสียด ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง แฟนพันธุ์แท้วิทยุมก. เผยว่า ติดตามฟังวิทยุมก.มาตั้งแต่เด็ก จนปัจจุบันฟังมาตั้งแต่มีวิทยุอย่างเดียวจนวันนี้สามารถฟังได้ทางอินเทอร์เน็ต โดยโหลดแอพพลิเคชั่นเคยูเรดิโอมาไว้ในโทรศัพท์มือถือก็สามารถเปิดฟังได้ทันที ส่วนเหตุผลที่ฟังคลื่นนี้เพราะชอบเนื้อหามีสาระดี มีประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื้อหาก็มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ภาคการเกษตรในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

           “ชอบมากฟังมาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนเวลาเข้าสวนทุกครั้งจะต้องหิ้ววิทยุไปด้วยเพื่อฟังข่าวสารด้านการเกษตรจากวิทยุมก.แต่ปัจจุบันไม่ต้อง ใช้ฟังจากโทรศัพท์มือถือ โดยโหลดแอพพลิเคชั่นเคยูเรดีโอในมือถือแล้วเข้าไปเปิดฟังได้ทันที”

           ส่วนปัญหาทีี่ผ่านมายอมรับว่าคลื่นไม่ค่อนเสถียร โดยเฉพาะช่วงเช้ากับช่วงเย็นมักมีคลื่นแทรกอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งก็มีภาษาจีน ภาษาเวียดนามมารบกวน ทำให้เกิดปัญหาขาดช่วงฟังไม่รู้เรื่อง ส่วนการดูทางแอพพลิเคชั่นเคยูเรดิโอเน็ตเวิร์กนั้นไม่มีปัญหาชัดแจ๋วทั้งภาพและเสียง 

            ปัจจุบันประสิทธิ์ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายให้สมาชิกหันมาติดตามฟังรายการต่างๆ ของสถานีวิทยุมก. เนื่องจากสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่ จ.ระยอง ประมาณ 200-300 คนแล้ว  

         เช่นเดียวกับ สัมพันธ์ เย็นวารี ประธานกลุ่มชาวไร่ข้าวโพดและเกษตรอินทรีย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้วิทยุมก.อีกราย ยอมรับว่าติดตามวิทยุมก.มาเป็นสิบปีแล้ว ชอบทุกรายการ มีเนื้อสาระที่หลากหลาย ทั้งเกษตร ภาษา วัฒนธรรม และธรรมะ แต่ที่ผ่านมามักมีปัญหาคลื่นแทรกเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็น แต่ทุกวันนี้ไม่มีปัญหาแล้วเพราะส่วนใหญ่รับฟังจากโทรศัพท์มือถือโดยผ่านแอพพลิเคชั่นเคยูเรดิโอเน็ตเวิร์ก

         “ปัญหาตอนนี้คือเกษตรกรบางรายยังไม่มีสมาร์ทโฟน หรือถ้ามีก็เป็นโทรศัพท์ธรรมดาโทรเข้าออกไม่สามารถโหลดแอพได้ ก็จะสามารถรับฟังจากวิทยุได้อย่างเดียว ก็อยากให้สถานีพัฒนาคลื่นให้มีความเสถียรมากกว่านี้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการรับฟังทางวิทยุ” ประธานกลุ่มชาวไร่ข้าวโพดและเกษตรอินทรีย์เผยทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ