ข่าว

อนาคตธุรกิจ"สื่อ-ธนาคาร-ค้าปลีก"ยุคออนไลน์ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อนาคตธุรกิจ"สื่อ-ธนาคาร-ค้าปลีก"ยุคออนไลน์  ในมุมมอง"ภาวุธ วงศ์วิทยาภาณุ"   

 

             โลกของธุรกิจจะอยู่ยากขึ้น หากไม่มีการปรับตัวเมื่อโลกออนไลน์รุกคืบข้ามาแทนระบบเดิมในทุกเซกเมนต์ ไม่เฉพาะมีเดียทุกแพลตฟาร์มที่ตอนนี้ต้องเร่งปรับตัวกันยกใหญ่เพื่อเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคาร ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า หันมารุกตลาดด้านออนไลน์มากขึ้นเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด

 

อนาคตธุรกิจ\"สื่อ-ธนาคาร-ค้าปลีก\"ยุคออนไลน์ 

 

โลกออนไลน์ในยุคแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นสนุกดอทคอม ไทยแลนด์ดอทคอม แม้จะไม่หวือหวามากนัก แต่ก็ยังยืนระยะอยู่ได้ ทว่าโลกออนไลน์มาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังมีกูเกิล เฟซบุ๊ก เข้าสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน ส่งผลให้มีเดียในทุกแพลตฟอร์มต้องหวั่นไหว ไม่ว่า ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่ขณะนี้ได้ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งทีวี เมื่อเจอเฟซบุ๊ฟไลฟ์ ก็ต้องหาทางไป เพราะเฟซบุ๊กไลฟ์สามารถทดแทนทีวีได้ในเกือบจะทุกมิติ ทั้งความคมชัดและระยะเวลา รวมทั้งยังสามารถรับชมได้ทั่วโลก 

ไม่เพียงเท่านั้นโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กยังสามารถตีมีเดียจำพวกสิ่งพิมพ์จนไม่มีที่ยืน ด้วยเหตุที่มีความหลากหลายมากกว่า เข้าถึงคนเฉพาะกลุ่มได้มากกว่าแล้วยังไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเซกชั่นเหมือนสื่อสิิ่งพิมพ์ในรูปแบบเดิม ที่มีแค่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กีฬา บันเทิง ฯลฯ แต่ที่สิ่งพิมพ์ยังคงอยู่ได้ ผู้เชี่ยวชาญโลกออนไลน์ต่างมองตรงกันว่าเพราะยังมีกลุ่มผู้อ่านคนรุ่นเก่ารองรับ แต่อีกไม่ช้าไม่นานเมื่อคนกลุ่มนี้หมดไป มีเดียยุคใหม่จะเข้าสู่ยุคออนไลน์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ 

“อย่างเฟซบุ๊กไลฟ์ก็มาบูมแทนทีวี ตอนนี้ผลิตคอนเทนต์ได้ทุกอย่างไม่ต่างจากทีวี หรือถ้าอยากรู้เรื่องไก่ชน ลองเสิร์ชในเฟซบุ๊กดู จะมีกลุ่มไก่ชนเยอะมาก แต่ละกลุ่มมีสมาชิกเป็นพันนะ ใครอยากรู้เรื่องไก่ชนก็เข้ามาดูได้ มาคอมเมนต์ได้ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ตอบปัญหาได้ เกิดความรู้ใหม่ตลอดเวลา แต่เป็นข้อมูลข่าวสารเฉพาะกลุ่ม แต่ที่เขียนในหนังสือพิมพ์ก็จะมีคนเขียนคนเดียว รู้คนเดียว ถ่ายทอดออกมาฝ่ายเดียว สู้ข้อมูลที่มาจากหลายคนไม่ได้”                      

ภาวุธ วงศ์วิทยาภาณุ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารตลาดดอทคอม พูดถึงแนวคิดการพัฒนาสื่อในยุคดิจิทัลในระหว่างการบรรยายให้แก่พนักงานสื่อเครือเนชั่น เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย.) โดยระบุว่า การรวมกลุ่มเกิดขึ้นได้จะต้องมี 3 ซี ซีแรกคือ คอมมูนิตี้ (Community) คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันมารวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน ซีที่สอง คอนเทนต์ (Content) ข้อมูลข่าวสาร และซีที่สามก็คือ คอมเมิร์ซ (Commerce) หรือการขาย เพราะในที่สุดเมื่อสมาชิกในกลุ่มมีปฏิสัมพันธ์กันแล้วก็จะมีการค้าขายเกิดขึ้น

ไม่เฉพาะธุรกิจสื่อมีเดียที่มีผลกระทบจากโลกออนไลน์ ธนาคารก็เป็นอีกธุรกิจที่ภาวุธมองว่าได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน แต่เร็วและรุนแรงมากกว่า ทำให้หลายธนาคารเร่งปรับตัวกันยกใหญ่ อย่างไทยพาณิชย์หรือกสิกรไทยเห็นได้ชัดเจนที่มุ่งสู่การทำธุรกิจทางออนไลน์มากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะอยู่ยากมากในอนาคต 

ภาวุธมองนโยบายรัฐว่า บางครั้งก็มีความขัดแย้งกันเอง อย่างเช่นรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ จ่ายค่าสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ดจากโทรศัพท์มือถือ เพื่ออำนวยการความสะดวกลดการจ่ายเงินสดตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่กรมสรรพากรก็ออกกฎหมายตามไล่เก็บภาษี อย่างเช่นสแกนคิวอาร์โค้ดเกิน 8 ครั้งต่อวัน หรือมีเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์ 3,000 ครั้งต่อปี มีการเสียภาษี ซึ่งบางครั้งทำให้สตาร์ทอัพทำธุรกรรมทางออนไลน์จึงไม่กล้าเสี่ยง 

“ธุรกรรมออนไลน์บ้านเราก็มีความก้าวหน้านะครับ เรามีพร้อมเพย์เป็นประเทศที่สองรองจากอังกฤษ แต่คนกลับไม่ค่อยนิยมใช้กัน อันที่จริงเป็นระบบที่ดีมาก” ผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอมย้ำชัด 

โดยยกตัวอย่างประเทศจีนทุกวันนี้คนจีนทำธุรกิจทางการเงินจากนอนแบงก์มากขึ้น เนื่องจากมีความสะดวก ง่าย การฝากเงินในนอนแบงก์ก็ให้ดอกเบี้ยที่จูงใจกว่าการฝากเงินในธนาคาร ทำให้คนจีนเริ่มนำเงินมาฝากในระบบนี้มากขึ้น

“ตอนนี้ที่จีนมี 2 ตัวที่ใช้กันมากคือวีแชทเพย์กับอาลีเพย์ มีอยู่ครั้งหนึ่งคนจีนแห่ถอนเงินในธนาคารมาฝากไว้ในอาลีเพย์ วีแชทเพย์ ซึ่งเป็นนอนแบงก์ รัฐบาลจีนต้องออกมายับยั้ง เพราะนอนแบงก์เขาให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า แล้วเวลาจ่ายซื้อสินค้าก็ง่ายจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดจากโทรศัพท์มือถือ โดยหักเงินจากวีแชทเพย์หรืออาลีเพย์ ไม่ต้องพกพาเงินสดให้หนักกระเป๋า การซื้อขายสินค้าที่จีนตอนนี้ไม่ว่าจะร้านริมทางจนถึงห้างใหญ่ ไม่ต้องจ่ายเงินสด แต่จะจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดเพียงอย่างเดียว”   

เขาให้ข้อมูลอีกว่า ความก้าวหน้าของจีนไม่ได้มีแค่จ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด แต่มีการนำระบบเซ็นเซอร์สินค้ามาใช้ สามารถรู้ได้ว่าใครหยิบสินค้าจากตรงไหน สินค้าชนิดใด แล้วยังมีระบบกล้องสแกนหน้าลูกค้าเพื่อจ่ายเงินแทนการจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดจากโทรศัพท์ กรณีลูกค้าลืมนำโทรศัพท์ติดตัวมา เมื่อเป็นเช่นนี้ร้านสะดวกซื้อจึงไม่มีความจำเป็นต้องมีพนักงานให้บริการแต่อย่างใด แต่หากมีการแอบลักขโมยหรือมีสินค้าไม่ผ่านการสแกนจ่ายเงินก็จะมีสัญญาณเตือนดังขึ้นทันที 

 

ความก้าวหน้าของระบบออนไลน์ ไม่ได้มีแค่ในประเทศจีน แต่ขณะนี้สิ่งเหล่านี้กำลังรุกคืบเข้ามายังประเทศไทยแล้ว เมื่อห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัล และเดอะมอลล์ จับมือกับอาลีบาบา ให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ได้ โดยเขาให้เหตุผลว่าเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มลูกค้าคนจีนที่มาท่องเที่ยวเมืองไทยที่นับวันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

นอกจากระบบออนไลน์และวิธีการใช้งานแล้ว ในเรื่องของข้อมูลบิ๊กดาต้าก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ภาวุธมองว่าบิ๊กดาต้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน เพราะจะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการต่อยอดทางธุรกิจที่จะนำพาองค์กรหรือหน่วยงานนั้นไปต่อไป โดยข้อมูลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นเก็บรวบรวมไว้ ส่วนที่สองมีทีมวิจัยหรืออาร์แอนด์ดีในการนำข้อมูลที่เก็บไว้มาวิเคราะห์ในการนำพาองค์กรไปในทิศทางใด

บิ๊กดาต้าใช่ว่าจะมีความจำเป็นในเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงาน แม้กระทั่งร้านอาหารตามสั่งริมทาง หากมีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าก็จะสามารถลดเวลาและต้นทุนได้มาก เขาบอกว่าเคยให้เจ้าของร้านอาหารตามสั่งจดบันทึกข้อมูลทุกอย่างทั้งจำนวนลูกค้า เมนูอาหาร ช่วงเวลาที่เปิดให้บริการ โดยกำหนดเวลาให้ 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์พบว่ามีไม่กี่เมนูที่ลูกค้าชอบสั่ง บางช่วงเวลาลูกค้าจะแน่น ในขณะที่บางช่วงกลับไม่มีลูกค้า 

“เคยลองให้ป้าเจ้าของร้านอาหารตามสั่งเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าในหนึ่งสัปดาห์ จดบันทึกทุกอย่าง จำนวนลูกค้าที่เข้าร้านในแต่ละวัน เมนูอาหารที่สั่งในแต่ละวันพบว่าข้าวกะเพราหมูสับมีลูกค้าสั่งเยอะที่สุด ก็เลยบอกป้าให้เตรียมวัตถุดิบทำข้าวกะเพราหมูสับไว้ล่วงหน้าเยอะหน่อย จากเดิมทำทีละจานใช้เวลา 5 นาที พอเรารู้ข้อมูลแล้วใช้เวลาทำเพียง 1 นาที ลูกค้าก็ชอบ สั่งอาหารได้เร็ว นี่คือผลดีของดาต้า” ผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอมให้มุมมองทิ้งท้าย 

ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมระบบออนไลน์กับการใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าจึงต้องไปด้วยกัน ในโลกธุรกิจออนไลน์ใครกุมดาต้าไว้มากที่สุด ย่อมรู้อนาคตและกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนที่สุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ