ข่าว

รฟท.เตรียมเปิดพีพีพีประมูลบางซื่อไตรมาส3ผุดมิกซ์ยูสหมื่นล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รฟท.เตรียมเปิดพีพีพีประมูลบางซื่อไตรมาส3 16ไร่ผุดมิกซ์ยูสหมื่นล.

 

รฟท.เตรียมเปิดพีพีพี เอกชนร่วมทุนกิจการรัฐ พัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ไตรมาส 3 นี้ นำร่องโซน A พื้นที่เชิงพาณิชย์ 16 ไร่ เงินลงทุนหมื่นล้านบาท มั่นใจผู้ประกอบการกลุ่มห้างสรรพสินค้าสนใจปะมูลหลายราย เล็งประมูลพื้นที่โซน E ระยะต่อไปรองรับพัฒนาอาคารหน่วยงานราชการ

 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อ นำร่องในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ (พีพีพี) บริเวณพื้นที่โซน A เฟสแรก ครอบคลุมพื้นที่ 16 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 32 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น ห้างสรรพสินค้า รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบผสมผสาน(มิกซ์ยูส) โดยกำลังตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อยกร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์)

คาดห้างค้าปลีกสนประมูล

“รฟท.ตั้งเป้านำพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อนมาเปิดประมูลเลย ไม่รอผลการศึกษาครบทั้งโครงการแล้ว เพราะจะทำให้แผนงานล่าช้าออกไปอีก โดยพื้นที่โซน A ที่จะนำมาเปิดประมูลเป็นส่วนแรกนั้น ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของโครงการนี้ เพราะเป็นพื้นที่ในส่วนของการก่อสร้างงานประเภทการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างห้างสรรพสินค้า ประเมินมูลค่าโครงการเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเข้าร่วมประมูล คือ ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า”

สำหรับ ขั้นตอนดำเนินการหลังจากเปิดประมูลแล้ว ร.ฟ.ท.คาดว่าจะประกาศผู้ชนะประมูลได้สิทธิ์ลงทุน และลงนามสัญญาพัฒนาพื้นที่ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยหลังจากการประมูลนำร่องประมูลในพื้นที่โซน A แล้วยังเตรียมนำพื้นที่โซน E บริเวณตึกแดงออกมาประมูลเป็นส่วนต่อไป เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นพื้นที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ รวมทั้งบ้านพักพนักงานด้านปฏิบัติการของ ร.ฟ.ท.ที่อยู่ย้ายมาจากพื้นที่แปลง G หรือ กม.11

ส่วนแผนพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ที่ ร.ฟ.ท.จะนำมาเป็นแบบอย่างในการวางแผนงานนั้น เป็นแผนที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ช่วยศึกษา และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่ผ่านมา ใช้เวลาในการพัฒนา 15 ปี ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

ดัน“สมาร์ทซิตี้”แห่งแรก

ส่วนรายละเอียดของแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จะพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะเป็นศูนย์กลาง หรือ Transit Oriented Development (TOD) เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานจากศักยภาพของสถานีกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการขนส่งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 

1.ระยะสั้นหรือระยะที่ 1 ดำเนินการภายในปี 2567 ช่วงที่สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ โดยในช่วงนี้จะเน้นพัฒนาย่านการค้าและสำนักงานเป็นหลัก เช่น การพัฒนาพื้นที่ โซน A ที่อยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ 50–100 เมตร เป็นพื้นที่กิจกรรมพาณิชยกรรม มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และร้านอาหาร

2.ระยะกลางหรือระยะที่ 2 ดำเนินการภายในปี 2572 เน้นการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวกับการจัดประชุมบริษัทนานาชาติ ย่านศูนย์การค้าและทางเดินเท้า และ 3.ระยะยาวหรือระยะที่ 3 ดำเนินการภายในปี 2577 พัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยที่เหลือ

ขณะที่เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่ตามหลัก TOD ร.ฟ.ท.มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้ชีวิต ธุรกิจ และการคมนาคมขนส่ง ผ่าน 4 เป้าหมายหลัก คือ 1.International Community เพื่อสร้างศูนย์กลางชุมชน และเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของต่างชาติ 2.New Central District Full of Various Attractive หรือเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่ ที่มีการพัฒนาอย่างสมดุล 3.Visitor Friendly พัฒนาระบบคมนาคมเพื่อความสะดวกแก่ผู้มาเยือน และ 4.Step wisely by both public and private sector เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน

ตั้งเป้าฮับคมนาคมแห่งใหม่

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ไจก้ายังศึกษาแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้เข้ามาศึกษาการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ โดยจะเป็นผู้วางระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดครอบคลุมพื้นที่ 8 โซนของ รฟท. ประกอบไปด้วย 1.พื้นที่โซน A พื้นที่รวม 35 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่ง 2.พื้นที่โซน B พัฒนาเป็นพื้นที่มิกซ์ยูสศูนย์กลางการค้า 

3.พื้นที่โซน C พัฒนาเป็นฮับการจัดประชุมสัมมนา 4.พื้นที่โซน D ติดรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีเขียว มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ดึงดูดนักท่องเที่ยว 5.พื้นที่โซน E พัฒนาเป็นสำนักงานหน่วยงานราชการ 6.พื้นที่โซน F พัฒนาเป็นย่านศูนย์การค้า 7. พื้นที่โซน G พัฒนาเป็นย่านที่พักอาศัย และ 8.พื้นที่โซน H พัฒนาเป็นพื้นที่มิกซ์ยูส

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ตั้งเป้าว่าจากแผนพัฒนาทั้งหมด ประกอบกับโครงข่ายระบบรางที่อยู่ระหว่างพัฒนามากกว่า 10 เส้นทาง จะทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่ ที่เป็นทั้งศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อไปยังทุกภาคของประเทศ เชื่อมโยงระหว่างประเทศไปยังลาว จีนและมาเลเซีย

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ