ข่าว

จี้รัฐแจ้งเกิดอุตฯระบบราง รับลงทุน"เมกะโปรเจค"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จี้รัฐแจ้งเกิดอุตฯระบบราง รับลงทุน"เมกะโปรเจค"

 

จี้รัฐหนุนลงทุนอุตฯระบบราง รองรับการลงทุนเมกะโปรเจคล้านล้าน ดันเอกชนไทยผลิตชิ้นส่วนในประเทศทดแทนนำเข้า ลดต้นทุนผลิต ลดค่าโดยสารได้ในอนาคต ชี้ตามแผนลงทุนไทยต้องการบุคลากรระบบรางสูงถึง 3.1 หมื่นคน ขณะวสท.เผยศักยภาพไทยผลิตโบกี้- อะไหล่ระบบราง

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจค) ด้วยเงินลงทุนในระดับล้านล้านบาท เพื่อผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ทว่าเมื่อในส่วนของการผลักดันอุตสาหกรรมระบบรางให้เกิดขึ้น รองรับการลงทุนมโหฬารที่เกิดขึ้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่ารัฐยังขาดรูปธรรมในการดำเนินงาน โดยเลือกที่นำเน้นการนำเข้าสินค้าระบบรางจากต่างประเทศ

 

นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.)กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางของไทย ยังขาดรูปธรรมในการดำเนินงานจากรัฐ แม้ก่อนหน้านี้ วศรท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พบรัฐมนตรีหลายท่านเพื่อผลักดันเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเปิดทางให้เอกชนในประเทศลงทุนผลิตชิ้นส่วน อะไหล่ หรืออุปกรณ์ประกอบระบบราง เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จนถึงขณะนี้ยังไม่กำหนดเรื่องใช้ชิ้นส่วน อะไหล่ต่างๆภายในประเทศ

“รัฐมุ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าระบบราง ทั้งที่หากรัฐลงทุน เห็นความสำคัญกับพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางจะทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ถ้ารัฐไม่สร้างอุตสาหกรรมเอง ไทยผลิตชิ้นส่วนเองไม่ได้ ต้องซื้อต่างประเทศตลอดไป จะทำให้ประเทศไม่มีความมั่นคง สะท้อนต้นทุน ค่าตั๋วโดยสารจะสูงขึ้น และผู้ที่แบกภาระคือประชาชน ประเทศก็จะไม่ได้ประโยชน์” นายดิสพล กล่าว

ลงทุน44โครงการ 2ล้านล้าน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ.2561 ซึ่งมีโครงการสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันรวม 44 โครงการ วงเงินลงทุน 2,021,283.52 ล้านบาท อาทิ มอเตอร์เวย์ ทางยกระดับ H35 กรุงเทพฯ-มหาชัย, รถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง, รถไฟชานเมืองสายสีแดง, รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ,รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และรถไฟเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อฯลฯ

ต้องการคนราง 3.1หมื่นคน

โดยแผนแม่บทการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนรวม 31,307 คน โดยจำนวนนี้มีความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิค 11,479 คน และระดับวิศวกร 5,740 คน เพื่อรองรับพัฒนาและขยายระบบขนส่งทางรางของไทย

นายดิสพล กล่าวต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ วศรท.ชะลอผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง หันไปมุ่งพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษา ทั้งช่างซ่อมบำรุง ช่างไฟฟ้า เครื่องกล โยธา พนักงานบริการในสถานี พนักงานขายตั๋ว พนักงานต้อนรับ พนักงานดูแลชานชาลา วศรท. จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดทำหลักสูตรพัฒนาครูช่าง เพื่อนำความรู้ถ่ายทอดผลิตบุคลากรสายช่าง ให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้ และตรงกับความต้องการตลาด รวมถึงได้สนับสนุน อบรมการเรียนการสอนร่วมกับอุดมศึกษา

ไทยศักยภาพผลิต“ชิ้นส่วน-โบกี้”  

นายเอนก ศิริพานิชกร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่าภาพรวมอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางราง ยอมรับว่าไทยไม่พร้อมดำเนินการทั้งหมด แต่มีศักยภาพในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น มีความพร้อมในการสร้างโบกี้ อะไหล่ที่เกี่ยวกับระบบราง มีความพร้อมทั้งกำลังคน และองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ

“ถ้าภาครัฐกำหนดชัดเจนว่าอุตสาหกรรมระบบรางเริ่มจากเรื่องไหน ด้านใด เป็นสิ่งแรก เช่น มีบุคลากรด้านผลิตอะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งหากกำหนดงานใดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางได้ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวทน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัย และหน่วยงานเกี่ยวกับระบบรางได้มีแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆ”นายเอนก กล่าว

จี้ตั้งสถาบันวิจัยฯระบบราง

นายเอนก กล่าวอีกว่าขณะนี้ทางภาครัฐเห็นชอบให้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงต่างๆ เบื่องต้นสถาบันดังกล่าวมี 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา 2.สร้างมาตรฐานในการรองรับ 3.สร้างอุตสาหกรรมหลัก โดยกำหนดการให้อุตสาหกรรมนวัตกรรมจะได้สิทธิประโยชน์ จาก BOI ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้  4.การทดสอบและแลปต่างๆ และ 5.การสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับระบบราง สิ่งที่สถาบันฯ ต้องดำเนินการเริ่มแรก คือ การสร้างอุตสาหกรรมนวัตกรรม เพราะถ้าไม่มีิทิศทางอุตสาหกรรมชัดก็ไม่สามารถดำเนินการด้านอื่นๆ ได้ สถาบันฯ นี้ เป็นทางออกแก่อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางขอให้ได้จัดตั้งขึ้นจริงๆ 

แนะรัฐสร้างเมืองบริวาร

นายเอนก กล่าวด้วยว่าข้อเท็จจริงเรื่องรถไฟความเร็วสูงและโครงสร้างพื้นฐานระบบราง คือ รัฐบาลควรพิจารณาการสร้างเมืองบริวาร โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเส้นทางที่ไกลมาก เพื่อให้เมืองบริวารที่สามารถเดินทางได้ภายใน 2 ชั่วโมงเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่เป็นแหล่งที่ตั้งของธุรกิจและแรงงาน 

ทั้งนี้การดำเนินการเช่นนี้จะหยุดยั้งการอพยพของธุรกิจและแรงงานเข้ากรุงเทพฯได้ รวมถึงพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ในเมืองบริวารที่ยังมีราคาไม่แพง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงในราคาไม่สูงมาก

“เมื่อประเทศสามารถกำหนดอุตสาหรรมระบบรางได้ชัดเจน จะทำให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานวิจัย ได้รู้ทิศทางในการพัฒนาบุคลากร งานวิจัย นวัตกรรมรองรับ ซึ่งตอนนี้การดำเนินการเกี่ยวกับระบบราง มีแผนแม่บทรถไฟรางคู่ ลดต้นทุนโลจิสติลง รัฐบาลกำหนดสร้างในเมืองใหญ่ถือเป็นเรื่องที่ดี และมีความจำเป็นต่อประเทศ อย่างไรก็ตามหลายเรื่องที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเป็นสิ่งที่ดี แต่รัฐบาลควรมองว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้ใช้”นายเอนก กล่าว

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ