ข่าว

รฟม.จ่อประมูลสายสีม่วง วงเงินแสนล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รฟม.เตรียมเปิดประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง เตาปูน - ราษฎร์บูรณะภายในเดือน ก.ย.นี้

 

รฟม.เตรียมเปิดประมูลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีม่วง เตาปูน - ราษฎร์บูรณะ วงเงินลงทุนราว 1 แสนล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.นี้ ด้าน “ซิโนไทย” ลั่นพร้อมลงสนามชิงงานเพิ่ม หลังปีนี้เริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู คาดเปิดใช้งาน ต.ค.64

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานในปีนี้ รฟม.จะเปิดประมูลก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ คาดว่าภายในไตรมาส 3 หรือภายในเดือน ก.ย.นี้ วงเงินลงทุนราว 1 แสนล้านบาทได้ เนื่องจากขณะนี้การศึกษารายละเอียดโครงการแล้วเสร็จ เหลือเพียงการจัดหาแหล่งเงินทุน

“เหลือแค่การจัดหาแหล่งเงินกู้ และก็ยังมีเรื่องการขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่อีกบางส่วน แต่มั่นใจว่าสามารถเดินหน้าประมูล และจะจัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการได้ภายในช่วงต้นปีหน้า ส่วนงานเดินรถไฟฟ้า ก็คาดว่าจะประมูลในปี 62”นายภคพงศ์กล่าว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เบื้องต้น รฟม.จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี ตามนโยบายของรัฐบาล และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี เนื่องจากมีงานระบบใต้ดินค่อนข้างมาก โดยภาพรวมโครงการมีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งออกเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 11 กิโลเมตร จำนวน 7 สถานี

ในส่วนของแนวเส้นทางโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาฯ จะเริ่มจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ ที่บริเวณสถานีเตาปูน โดยเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดิน เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม) เข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้า เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร

นอกจากนี้ จะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสีแยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์ จากนั้นเปลี่ยนเส้นทางยกระดับผ่านแยกถนนจอมทองเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีครุใน 

สำหรับความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง นอกจากจะเริ่มต้นงานก่อสร้างแล้ว ขณะนี้ รฟม.ได้ลงนามข้อตกลงขอใช้พื้นที่ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) แล้ว และคาดว่าภายในอีก 2 สัปดาห์ จะสามารถขอใช้พื้นที่ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ ส่งผลให้เอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ จะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 39 เดือน จึงคาดว่าโครงการจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ต.ค. 64 ซึ่งยอมรับว่าล่าช้ากว่าแผนเดิมไปประมาณ 3 เดือน

“แม้ว่าการเปิดใช้โครงการจะล่าช้ากว่าแผนเดิมออกไป แต่ที่ผ่านมาเราก็ได้รับความร่วมมือจากกรมทางหลวง กทม. และปะปานครหลวง เพื่ออนุญาตให้เข้าพื้นที่ เตรียมงาน รื้อถอนต้นไม้ งานสาธารณูปโภคไปก่อนหน้าแล้ว ทำให้มั่นใจว่างานก่อสร้างโครงการหลังจากนี้จะเดินหน้าไปทันที ทำให้ภาพรวมจะไม่กระทบต่อผู้โดยสาร”

ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ทางภาคเอกชนเสนอมา ทั้งสายสีชมพู ที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมจากแจ้งวัฒนะ เข้าไปยังเมืองทองธานี และสายสีเหลืองที่จะเชื่อมจากสถานีลาดพร้าว ผ่านหน้าศาลอาญา เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวบริเวณแยกรัชโยธิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการจัดการระบบการจราจร (คจร.) โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 62 

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ หรือส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จะช่วยการคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางเมืองหลวง และเขตปริมณฑล จากนนทบุรี-กรุงเทพ-สมุทรปราการ ซึ่งกระทรวงฯ คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารใช้งานราว 4 แสนคนต่อวัน ขณะที่คาดคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) เคยมีผลการศึกษาประเมินไว้ที่ 12.95% และความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) อยู่ที่ 4.59% 

ด้านนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กล่าวว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โครงการลงทุนของภาครัฐจะทยอยเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 ที่คาดว่าจะมีเงินลงทุนรวมกว่า 3 แสนล้านบาท โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มูลค่า 1.07 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท และ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทฯ เตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการภาครัฐต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และไฮสปีดเทรน โดยคาดว่าจะได้งานประมูลประมาณ 25% ส่วนเป้าหมายรายได้ปีนี้ ยังคงไว้ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท เติบโตจากรายได้ 2 หมื่นล้านในปีนี้ประมาณ 25% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท”

ขณะที่ภาพรวมงานในมือ (Backlog) ของบริษัทฯ พบว่าปัจจุบันมีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปี 61 ถึงปัจจุบันมีงานใหม่เข้ามารวมมูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายงานใหม่ในปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 3 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ดีบริษัทฯ ยังคงวางเป้าหมายมูลค่างานใหม่ไว้ที่ 3 หมื่นล้านเช่นเดิม เนื่องจากประเมินว่าแม้รัฐบาลจะมีการประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ออกมา แต่เชื่อว่าจะยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ