ข่าว

 ปักหมุด"พลังงานทางเลือก"ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ปักหมุด"พลังงานทางเลือก"ไทย           นำ"แสงอาทิตย์"สู่ภาคอุตฯปี2579

 

“อีก 5 ปีข้างหน้ารถยนต์ไฟฟ้าจะเหมือนสมาร์ทโฟนที่ประชาชนทุกคนมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเติมเต็มการเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์ ขณะที่การออกแบบบ้านและอาคารจะหันมาใส่ใจในเรื่องของการจัดการพลังงานและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ที่สำคัญแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยพร้อมเดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปี 2579 ทั้งหมดคือก้าวเดินอย่างเป็นรูปธรรมของพลังงานทางเลือกไทยในอนาคต”  

 

              จากการพูดคุยกับ รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกุดะ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะที่เป็นผู้ทำงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 15 ปี พูดถึงความเห็นในเรื่องของพลังงานทดแทนของไทยได้อย่างน่าสนใจว่า ภาพรวมการใช้พลังงานทดแทนอยู่ในระดับดีมาก และประเทศไทยถือเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหลายประเทศก็ได้ยึดเอาประเทศไทยเป็นตัวอย่าง เพราะเรามีนโยบายในการสนับสนุนพลังงานทดแทนที่ดีมาก ทำให้เรามีพลังงานทดแทนในรูปของไฟฟ้า ความร้อน แล้วก็เชื้อเพลิงเหลวในภาคขนส่ง เอทานอลกับไบโอดีเซล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีการสนับสนุนการใช้พลังงานในประเทศทั้งในรูปแบบของไฟฟ้าความร้อน และเชื้อเพลิงเหลว

            รศ.ดร.สุนีรัตน์ กล่าวต่อว่า กรอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2579 การใช้พลังงานทดแทนในประเทศไทยจะต้องเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ถูกแปรรูป (transform) และจัดส่งมายังจุดที่จะมีการใช้ประโยชน์ขั้นสุดท้าย เช่น น้ำมัน

           อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันถ้าดูตัวเลขของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ จนถึงปลายปี 2560 ประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานทดแทนได้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์  โดยหลักๆ มาจากพลังงานชีวมวล พลังงานน้ำขนาดใหญ่จากเขื่อน พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น โดยในช่วง 3–4 ปีที่ผ่านมาถือได้ว่ามีพัฒนาการที่รวดเร็ว ทั้งนี้อีกหนึ่งเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานปักหมุดไว้คือ การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมภายในปี 2579 โดยต้องได้ประมาณ 6 พันเมกะวัตต์ต่อปี

             ขณะที่ ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ยอมรับว่า การพัฒนาการเทคโนโลยีด้านพลังงานถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเจริญเติบโตของประเทศและของภูมิภาค ดังนั้น การพัฒนาการศึกษาและค้นคว้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทางเลือกทุกแขนงถือเป็นปัจจัยที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมมือกัน โดยทาง สนพ.นั้นได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานในการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญใน 3 ด้าน คือ ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า รายพื้นที่ โดยคำนึงถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัวของเขตเมือง

            “ด้านเศรษฐกิจ คำนึงถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ และด้านสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าส่งเสริมระบบไฟฟ้าแบบไมโครกริด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้าจะสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่” ดร.ทวารัฐ กล่าว

            เมื่อเทคโนโลยีพลังงานกลายเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนประเทศทำให้ภาพของชุมชนเมืองได้ถูกยกระดับให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ เป็นการพัฒนารูปแบบโครงสร้างของเมืองในรูปแบบใหม่ ที่นำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมผ่านบ้าน อาคารและสำนักงาน ตลอดจนแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งรณรงค์ให้ใช้การคมนาคมที่ทันสมัยบนกรอบพื้นฐานที่เป็นมิตรกับโลก อย่างเช่นยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

           ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) หรือ EVAT ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นสำหรับประเทศไทยเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ในระยะแรกราคาของรถอาจจะสูง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะคาดว่าจะมีผู้ผลิตยานยนต์ดังกล่าวมากขึ้น ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจากสถิติในขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด ประมาณ 1 หมื่นคัน และคาดว่าจะมีมากขึ้นในระยะ 5 ปีต่อจากนี้

             “สำหรับประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้า มีคุณสมบัติก็ไม่ต่างไปจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ทั้งในเรื่องของสมรรถนะ ความสะดวกสบาย แต่ที่ได้เพิ่มขึ้นคือความประหยัด และไม่มีมลพิษ รวมถึงการมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับความต้องการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนเร่งลงทุน คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีจำนวนมากกว่า 1,000 แห่ง สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่กำลังจะเลือกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการและผู้ใช้รถจะได้โอกาสศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ สู่อนาคตที่ยั่งยืน นี่คือตอกย้ำการเป็น E-mobility ได้อย่างสมบูรณ์” ดร.ยศพงษ์ กล่าว

               ส่วนในแง่ของการลงทุน สุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของไทยยังได้รับความเชื่อมั่นและมีโอกาสในการเพิ่มสัดส่วน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปมีช่องทางในการพัฒนาพลังงานดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินงานในแบบ B2G หรือการทำธุรกิจกับรัฐบาลมีอัตราน้อยลง และจะหันไปเพิ่มในสัดส่วนของ B2B มากขึ้น หรือการขายให้แก่องค์กรภาคธุรกิจด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นการมองหากลุ่มพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ๆ อย่างพลังงานแบตเตอรี่ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มสมาชิกในการเติมเต็มพลังงานทดแทนในอนาคตให้เกิดความสมบูรณ์ 

  จัดใหญ่มหกรรมเทคโนฯพลังงานหมุนเวียน 

                สำหรับงานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน (ASEAN Sustainable Energy Week2018) ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “ข้ามขีดจำกัดสู่พลังงานทางเลือกอนาคต E–Mobility – Smart Grid – Smart City” โดยมีการแสดงเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและนวัตกรรมล่าสุดด้านพลังงานอย่างครบครัน ที่สำคัญได้จัดงานร่วมกับ Boilex Asia 2018 และ Pumps & Valves Asia 2018 งานแสดงเทคโนโลยีเฉพาะทางด้านหม้อไอน้ำ ภาชนะรับความดัน ปั๊ม วาล์ว ท่อ และข้อต่อใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยทั้งสองงานรวบรวมเทคโนโลยีกว่า 1,200 แบรนด์ จาก 45 ประเทศ ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

              ไม่เพียงเท่านั้นพันธมิตรเครือข่ายผู้พัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของไทยต่างพาเหรดกันเข้าร่วมจัดงาน อย่างเช่น สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ยังได้จัดงานแสดงเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการประชุมนานาชาติ i EVTech 2018 และ Electric Vehicle 2018 ที่สำคัญผู้เข้าร่วมงานจะได้ทดลองขับรถยนต์ไฟฟ้าจริงในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการแสดงเทคโนโลยีด้านพลังงาน จำนวน 8 พาวิลเลียน จากจีน เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน สวิตเซอร์แลนด์ และอเมริกา รวมทั้งแบรนด์ชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกจากทั่วโลกเข้าร่วม โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 3 หมื่นราย จาก 45 ประเทศ

              นอกจากนี้ มีงานสัมมนาระดับนานาชาติ “International Conference The Future of ASEAN’S Energy Journey E-mobility-Smart Grid-Smart City” (Former Renewable Energy Asia) ที่จะจัดขึ้นภายใน ASEAN Sustainable Energy Week 2018  โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 14 และอีกไฮไลท์ที่สำคัญ การจัดสัมนาภายใต้หัวข้อ “Smart Factory สู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน” จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อถ่ายทอดความรู้ความปลอดภัยในการใช้หม้อน้ำ สารเคมี การป้องกันอัคคีภัย ระบบมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียวให้ตรงตามเป้าหมาย 

              อย่างไรก็ตาม งาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 จัดร่วมกับงาน Boilex Asia 2018 and Pumps & Valves Asia 2018 ระหว่างที่ 6 - 9 มิถุนายน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ