ข่าว

 เปิดใจบอสใหญ่บีทีเอส"คีรี กาญจนพาสน์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดใจบอสใหญ่บีทีเอส"คีรี กาญจนพาสน์" ผนึก"ซิโน-ไทย"พร้อมลุยไฮสปีดเทรน 

              ได้ฤกษ์ประกาศเชิญชวนบริษัทเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน หรือไฮสปีดเทรน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้านอย่างเป็นทางการ หลังร่างทีโออาร์เสร็จเรียบร้อย  เปิดใจบอสใหญ่บีทีเอส"คีรี กาญจนพาสน์" โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้(30 พ.ค.)ไปจนถึง 17 มิถุนายน  

 

             จากนั้นจะเปิดขายเอกสารประกวดราคาระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน-9 กรกฎาคม โดยจะมีการประชุมชี้แจงครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม จากนั้นวันที่ 24 กันยายน จะมีการจัดประชุมชี้แจงครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม-9 ตุลาคมนี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน

             ก่อนจะกำหนดให้ยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 12 พฤศจิกายน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ซอง คือ ซองคุณสมบัติทั่วไป ซองเทคนิค ซองเสนอราคา และซองข้อเสนอพิเศษที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ 

              ทั้งหมดจะพิจารณาประกอบกัน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาคัดเลือกประมาณ 1 เดือน โดยจะประกาศรายชื่อผู้ที่เสนอผลตอบแทนที่ดีที่สุดหรือมีข้อเสนอให้รัฐร่วมลงทุนน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล คาดว่าจะได้รายชื่อผู้ชนะภายในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ จากนั้นจึงสามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ราวต้นปี 2562         

              “บีทีเอสคือธุรกิจหลักของเรา ระบบขนส่ง ไฮสปีดเทรน ยังไงก็ต้องมีระบบขนส่งที่สมบูรณ์ ระบบพวกนี้เราไม่มีปัญหา เรารู้หมดหนอนตัวไหนเอาออกไป อยู่ตรงไหนบ้าง อีกด้านพาร์ทเนอร์ของเรามีซิโน-ไทย ฉะนั้นการก่อสร้างเรามั่นใจว่ามีมืออาชีพไปดูแล ส่วนราชบุรีโฮลดิ้งเขาไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่สิ่งที่เราได้คือกำลังใจ บีเอสอาร์เราจะเดินหน้าต่อไปพร้อมกัน เมื่อเราดูทีโออาร์เรียบร้อยแล้ว เราจึงให้ความเห็นได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร” 

 

 เปิดใจบอสใหญ่บีทีเอส"คีรี กาญจนพาสน์"

         คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เผยถึงอนาคตบีทีเอสกรุ๊ปในการลงชิงเค้กก้อนใหญ่ไฮสปีดเทรนหรือรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2.24 แสนล้านของรัฐบาล โดยมีพาร์ทเนอร์กลุ่มบริษัทร่วมลงทุนคือ บีเอสอาร์ จับมือเข้าประมูลด้วยกันในระหว่างการแถลงข่าวฉลองรอบ 20 ปี บริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด หรือ วีจีไอ ผู้ผลิตสื่อโฆษณาครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร วันก่อน

           โดยยอมรับว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการรอศึกษาทีโออาร์อย่างละเอียด หลังดูทีโออาร์เรียบร้อยแล้วจึงให้ความเห็นได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา 6 เดือนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลศึกษามามากพอสมควร และมั่นใจในประสบการณ์และเรื่องระบบราง ประกอบกับมีกลุ่มบริษัทร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างอย่างซิโน-ไทย จึงไม่มีปัญหา พร้อมยืนยันว่าจะลงชิงชัยร่วมประมูลโครงการไฮสปีดเทรน 3 สนามบินอย่างแน่นอน

             “ผมก็ไม่รู้ว่ามีบริษัทต่างประเทศมาแข่งหรือไม่ อย่างไร อย่างน้อยที่สุดงานนี้เราทำได้สบายๆ แต่ถ้าต่างประเทศมาลงทุนด้วย ถือว่าดี ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศชาติดูดี ต่างประเทศสนใจจะเอาก้อนเงินมหาศาลมาลงทุนที่เมืองไทยบ้านเรา เพราะอินฟราสตรัคเจอร์พวกนี้ 50 ปี 100 ปีก็เอาไปไหนไม่ได้ มันอยู่ที่บ้านเรา เรามั่นใจบริษัทในไทยว่าเราทำได้ ไม่ต้องจำเป็นต้องรอต่างชาติเข้ามาลง เงิน 2 แสนกว่าล้านนี้ไม่มั่นใจว่าต่างชาติจะรักบ้านเราเหมือนคนไทยรักกันเองหรือเปล่า” 

               บอสใหญ่บีทีเอสยังยืนยันด้วยว่า โครงสร้างพื้นฐานทุกโครงการที่ภาครัฐจะออกมาให้เอกชนลงทุน ทางบริษัทจะเข้าร่วมด้วยทุกโครงการ โดยมีกลุ่มร่วมลงทุน คือบีเอสอาร์จับมือเข้าประมูลด้วยกัน ซึ่งโครงการที่ประเมินจะมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วง กลุ่มร่วมลงทุนบีเอสอาร์ ประกอบไปด้วยบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 50% มี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ซึ่งในกลุ่มนี้มีความพร้อมแหล่งเงินทุน เทคโนโลยี ประสบการณ์การทำธุรกิจ จึงมั่นใจว่าสู้กับคู่แข่งในไทยและต่างชาติได้ ขณะที่กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่ชักชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ยังไม่ได้ตอบตกลง แต่ได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นไปแล้ว ว่าอยากรอดูหลักเกณฑ์การประมูล มีความเสี่ยงอะไรบ้าง ถึงจะมาพูดคุยกันอีกครั้งหลังทีโออาร์ออกมา  

               “หลังชนะรถไฟฟ้าสายสีชมพู กลุ่มบีเอสอาร์คุยกันตกลงว่าให้เราไปด้วยกันทุกโครงการ ซึ่งรวมกัน 3 บริษัทสบายมาก ยิ่งมีปตท.เข้ามาด้วยดีเข้าไปอีก ส่วนต่างประเทศถ้าจะร่วมลงต้องมีข้อเสนอเช่น ขายระบบถูก 50% อาจจะพิจารณา” บอสใหญ่บีทีเอสกล่าวย้ำ   

                สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้เอกสารเงื่อนไขประกวดราคา (ทีโออาร์) ได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการในวันนี้(30 พ.ค.) โดยรูปแบบการร่วมทุนจะเปิดกว้างให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนได้มากกว่า 50% แต่มีเงื่อนไขว่าภายในบริษัทต่างชาตินั้นจะต้องมีคนไทยถือหุ้นร่วมอยู่ด้วยไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งรูปแบบการร่วมทุนนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาลงทุนในไทย โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร รถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร และรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร ได้แก่ สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง, สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ สำหรับการเป็นสถานีสนับสนุนบริการรถไฟและโรงซ่อมหัวรถจักรของ รฟท. 

                 “วันที่ 30 พฤษภาคม จะประกาศเชิญชวนอย่างเป็นทางการให้ผู้ลงทุนที่มีความสนใจเข้ามารับเอกสารคือเชิญชวนให้เข้ามาดูโครงการ แล้วก็ให้มาซื้อเอกสารทีโออาร์ เป้าหมายคือ ให้สามารถคัดเลือกเอกชนที่เหมาะสมเข้ามาดำเนินโครงการนี้ภายในปี 2561 เป็นไปตามแผน นี่คือเป้าหมายหลัก” อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เผยในวันแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน 

              ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มิถุนายน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะจัดประชุมครั้งแรกหลังจาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจะจัดการประชุมชี้แจงต่อสถานทูตทุกประเทศเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย โดย รมว.อุตสาหกรรมยืนยันว่าขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติจากจีน ญี่ปุ่น ยุโรปหลายประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยจะดำเนินโครงการภายใต้ประกาศคณะกรรมการนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP EEC Track)  

                 สำหรับระยะเวลาก่อสร้างโครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี กำหนดอายุสัมปทานโครงการ 50 ปี ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ตลอดทั้งโครงการประมาณ 7 แสนล้านบาท เมื่อครบสัญญารัฐจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด มูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท รวมทั้งให้สิทธิพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการให้ผู้โดยสารสถานีมักกะสัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ พร้อมการพัฒนาพื้นที่สถานีศรีราชาที่มีประมาณ 100 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์พื้นที่ 75 ไร่ สำหรับเป็นสถานีเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ ที่จอดและโรงซ่อมหัวรถจักรของรฟท. ส่วนที่เหลืออีก 25 ไร่ ให้เอกชนนำไปพัฒนา และจ่ายค่าเช่าให้รฟท.ตามราคาตลาด

           ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 2.24 แสนล้าน นับเป็นอีกโครงการที่สำคัญของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายกำลังเฝ้าจับตา 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ