ข่าว

พาณิชย์ ไม่ปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พาณิชย์ ยันยังไม่มีเหตุผลปรับราคาสินค้ากับอาหารตามสั่ง เหตุต้นทุนเพิ่มเพียง 15-20 สตางค์ แนะผู้บริโภคเจอเอาเปรียบโทร 1569 พร้อมเรียนผู้ผลิตสินค้าหารือศุกร์นี้

 

          23 พ.ค. 61 - นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 25 พ.ค. นี้จะเชิญผู้ผลิตสินค้ามาหารือถึงสถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้

 

          หลังจากได้สั่งการให้กรมการค้าภายในไปศึกษาผลกระทบของการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขนาดถัง 15 กก. จาก 353 บาทต่อถัง เป็น 395 บาทต่อถัง หรือปรับเพิ่มขึ้น 49 บาทต่อถัง พบว่าส่งผลให้ต้นทุนอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) เพิ่มขึ้นเพียง 15-20 สตางค์ต่อจานต่อชาม ซึ่งคำนวณจากก๊าซหุงต้ม 1 ถัง สามารถปรุงอาหารได้ 100-200 จานต่อชาม เช่น ก๋วยเตี๋ยว มีต้นทุนก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้น 1.88 บาทต่อชาม จากเดิมต้นทุนค่าก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 1.68 บาทต่อชาม หรือต้นทุนก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อชาม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการอาหารจานด่วนจะปรับราคาขึ้นมา เพราะกระทบต้นทุนการผลิตอาหารน้อยไม่ หรือไม่ถึง 1 บาท

 

พาณิชย์ ไม่ปรับขึ้นราคาอาหารจานด่วน

 

          "ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สายตรวจลงพื้นที่ตรวจสอบร้านอาหารตามสั่ง และหากพบว่ามีการปรับราคาเกินจริงก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้บริโภคพบเห็นสามารถโทรแจ้ง 1569 ทั้งนี้ยืนยันว่ายังไม่มีผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาสินค้า แต่หากมีจะมีการพิจารณาว่ามีการกระทบต้นทุนเท่าไหร่" นายสนธิรัตน์ กล่าว

 

          ส่วนกรณีการปรับขึ้นค่าขนส่งรถบรรทุกที่จะปรับราคาขึ้นมาประมาณ 5% นั้นพบว่าจะกระทบราคาขายปลีกสินค้าในภาพรวมน้อยสุด 0.0032% และกระทบมากสุดที่ 0.4853 % โดยสินค้าที่กระทบน้อยสุด คือ ผ้าอนามัย และสินค้ากระทบมากสุด คือ ปูนซีเมนต์ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม พบว่าจะกระทบน้อยสุด 0.0178% มากสุด 0.2772% ซึ่งสินค้าที่กระทบน้อยสุด คือ ปลากระป๋อง สินค้าที่กระทบมากสุดคือ นมถั่วเหลือง ส่วนหมวดเกษตร สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น ยาปราบศัตรูพืช กระทบ 0.0848% และปุ๋ยเคมี กระทบ 0.2452% 

 

          นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ จัดทำโครงการ ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม ครั้งนี้จัดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างวันที่ 25 - 30 มิ.ย. 61 และช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 11 - 15 ส.ค. 61 โดยจะมีการลดราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคครั้งใหญ่ 20 - 50% เพื่อบรรเทาค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย พร้อมส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยในร้านค้าส่ง-ค้าปลีกแบบดั้งเดิมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับชุมชนระยะยาว โดยคาดว่าการจัดงานทั้งสองช่วงนี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ไม่น้อยกว่า ครั้งละ 500 ล้านบาท.

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ