ข่าว

  ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม4.0 พลิกโฉมสายผลิตสู่เทคโนฯอัจฉริยะ

 

              มุ่งยกระดับผู้ประกอบการไทย มุ่งสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ในเวทีจริง และมุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่ “ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะเต็มรูปแบบ”สำหรับงาน “อินตอร์แมค – ซับคอนไทยแลนด์ 2018” ซึ่งได้รวบรวมความเป็นที่สุดและครบวงจรทุกมิติในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม กว่า 1 ล้านชิ้น ควบคู่ไปกับการจัดแสดงงานสาธิต สัมมนาวิชาการและการจับคู่ธุรกิจที่จะเชื่อมโยงโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย นักลงทุน และสตาร์ทอัพได้เข้ามาสร้างความร่วมมือ เรียนรู้ และต่อฐานเติมยอดอุตสาหกรรมในอนาคตให้แก่ประเทศไทย    

 

  ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม4.0

              “อินตอร์แมคและซับคอนไทยแลนด์ 2018 มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ยุค 4.0 เป็นโอกาสที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ จึงต้องใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะและมุ่งสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”        

               โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “อินตอร์แมค–ซับคอนไทยแลนด์ 2018” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม โดยระบุว่า ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 รัฐบาลมีแผนที่จะมุ่งหน้าสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยี ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างแท้จริง 

            รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นและชาวจีน ซึ่งในปีนี้การเข้ามาจัดแสดงของทั้งสองชาติคาดว่าจะเพิ่มโอกาสการลงทุนได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญเรายังมองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับเกาหลีใต้หนึ่งชาติในเอเชียที่โดดเด่นและเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) ในอนาคตอันใกล้นี้ สอดรับกับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.อีอีซี ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างเชื่อมโยง

          “คาดว่าปีนี้จะมีผู้เข้าชมงานกว่า 45,000 ราย จะมีการจับคู่ธุรกิจภายในงานไม่น้อยกว่า 6,500 คู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมงานในสายอาชีพต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกมั่นใจว่างานนี้จะได้รับโอกาสดีๆ ทั้งการเรียนรู้จากเครื่องจักรกลที่ทันสมัย งานแสดงภาคการผลิตและหัวข้อสัมมนาที่เปิดกว้างและครอบคลุมในทุกหน่วยธุรกิจ” โชคดีย้ำ

           อย่างไรก็ตาม อินเตอร์แมคและซับคอนไทยแลนด์ นับเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงหลากหลายด้าน อาทิ การมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย หรือจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญยังเป็นฟันเฟืองที่สำคัญสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต เป็นเวทีที่สำคัญในการฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ก่อสร้าง แม่พิมพ์ และยานยนต์ไฟฟ้า

           ขณะที่ มนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงงานอินเตอร์แมค 2018 หรืองานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล ซึ่งได้จัดมากว่า 30 ปีแล้ว โดยในปีนี้จัดคู่กับงานซับคอนไทยแลนด์ 2018 หรืองานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งได้มีการรวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดของโลกมาไว้ในงาน และยังเป็นงานแรกของภูมิภาคที่ได้รวบรวมภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำมารวมไว้ในงานเดียวด้วย อีกทั้งยังเป็นเวทีแห่งโอกาสที่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ จะได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการผลิตร่วมกัน ตลอดจนเปิดโลกทัศน์ในมิติของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยความพร้อมและเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ 

          “ในปีนี้ งานอินเตอร์แมค–ซับคอนไทยแลนด์ 2018 จัดขึ้นภายใต้ธีมงาน “พลิกโฉมสายการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ” โดยมุ่งเน้นการโชว์ศักยภาพความเป็นที่สุดผ่านการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะมานำเสนอ ยกตัวอย่างเช่น โซน “Smart Factory Showcase” ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในอาเซียนที่จัดแสดงการสาธิตไลน์การผลิตแบบเต็มรูปแบบภายในโรงงานอัจฉริยะจำลองบนพื้นที่ 400 ตร.ม. โดยสามารถผลิตชิ้นงานได้จริงด้วยระบบออโตเมชั่นไร้การควบคุมจากแรงงานของมนุษย์”

          นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือ เพราะได้รวบรวมแบรนด์ชั้นนำด้านเครื่องจักรกลมาโชว์ศักยภาพและขีดความสามารถในการผลิตชิ้นงาน เช่น OKUNO, UNIARC, CERATHAI สำหรับแขนกลอัจฉริยะ หรือจะเป็นเครื่องพับโลหะจากวงศ์ธนาวุฒิ และกลไกต่างๆ จากแบรนด์ KAESER, TUNGALOY และ PHOTONICS SCIENCE ร่วมผลิตชิ้นงานและมอบให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน  

        ไม่เพียงเท่านั้นการทำงานของแต่ละเครื่องจักรยังสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดจากสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ การจัดโซน “Smart Factory Showcase” ยังถือเป็นโอกาสที่ดีในภาคการผลิตที่จะก่อเกิดการจับคู่ธุรกิจในอนาคตเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนได้นำไปต่อยอด และเป็นการเน้นย้ำการพลิกโฉมสายการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะได้อย่างน่าสนใจ  

        ด้าน บุญเลิศ ชดช้อย อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เผยภาพรวมอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและขั้นตอนการผลิตต่างๆ กำลังก้าวผ่านรูปแบบเดิมๆ หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดภูมิภาคอาเซียนยิ่งทำให้เรามีคู่แข่งมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยหันมายกระดับธุรกิจด้วยเครื่องกลอัจฉริยะที่มีหัวใจหลักอย่างเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบ เช่น งานพิมพ์ในยุคสมัยนี้ที่นำเอานวัตกรรมสุดทันสมัยมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น 3D พรินติ้ง เทคโนโลยีการพิมพ์บนพื้นผิวหรือฉลากบรรจุภัณฑ์ที่แม่นยำ รวดเร็ว 

        “ไฮไลท์ที่น่าสนใจและแสดงออกถึงความเป็นที่สุดอีกมิติ คือ โซน “Progressive Bending Robot” เพราะถือเป็นครั้งแรกของโลกกับการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องพับ 3 เครื่อง และหุ่นยนต์แขนกลที่สามารถประมวลผลภาพการทำงานหรือสั่งการผ่านจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจแขนงต่างๆ อย่างหลากหลาย ตอกย้ำการเดินหน้าสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะในอนาคตได้อย่างตรงประเด็น” 

        “อินเตอร์แมค-ซับคอนไทยแลนด์ 2018” จัดขึ้นร่วมกับงาน MTA 2018 ระหว่างวันพุธที่ 16 ถึงวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นับเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงหลากหลายด้านและเป็นฟันเฟืองที่สำคัญสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะและผลักดันไทยใหม้เป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของอาเซียน  

  “โรงงานอัจฉริยะ”เพิ่มศักยภาพการผลิต

         สมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวถึงการจำลอง Smart Factory จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นภาพโรงงานอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลไกการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ทำให้แขนกลสามารถทำงานกับเครื่องกลึง เครื่องตัดและเครื่องวัดจนผลิตมาเป็นชิ้นงาน ยิ่งไปกว่านั้นการสาธิตดังกล่าวยังแสดงออกถึงขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยและจะเป็นแม่พิมพ์ให้ผู้ประกอบการได้นำไปปรับใช้ และในเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่อง Smart Factory ทางสถาบันอยู่ระหว่างการจัดทำหลักสูตรเพื่อเปิดสอนให้แก่ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยด้วย

          อัฒพล สุริยนต์ ผู้จัดการจากมิตูโตโย กล่าวเสริมว่า สำหรับโซน “Smart Factory Showcase” มิตูโตโยได้นำเครื่องวัดมาเป็นส่วนประกอบในการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน ซึ่งนอกจากความถูกต้อง แม่นยำ ยังฉายภาพหรือประมวลผลไปยังจอแสดงผลหรือสมาร์ทโฟน ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบายในการตรวจสอบการผลิตในทุกช่วงเวลาและทุกสถานที่บนโลกใบนี้ ทั้งนี้ ยังมองว่าโซนดังกล่าวเป็นไอเดียที่เหมาะสมกับการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

          ทั้งนี้ ภายในงานยังก่อเกิดความร่วมมือครั้งแรก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย(TARA) ที่จะร่วมจัดแสดง Smart Logistic และ Mini Smart Factory เพื่อให้นักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้มาศึกษาเทคโนโลยีจริงอย่างใกล้ชิดกับ Systems Integrator พร้อมกับนำเสนอโซน “Advanced Technology” หรือพื้นที่เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น นวัตกรรมการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบ 3D ที่เร็วที่สุดในโลก การฉายภาพเสมือนจริงของตัวอย่างโรงงานและผังสายการผลิตต่างๆ ด้วยเทคโนโลยี VR (Virtual Reality)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ