ข่าว

 ค้านนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐ   หวั่นซ้ำเติม "เกษตรกร" ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ค้านนำเข้าเนื้อสุกรสหรัฐ   หวั่นซ้ำเติม "เกษตรกร" ไทย

 

   ความพยายามของทางการสหรัฐอเมริกาที่กดดันให้รัฐบาลไทยยอมเปิดรับเนื้อสุกรสหรัฐ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเดินทางเยือนสหรัฐของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม 2560 ดูเหมือนจะยิ่งสร้างความกดดันให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง "กลิน เดวีส์" เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เดินทางมาพบ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือขอให้ไทยเร่งพิจารณาเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐโดยเร็ว  แต่จากการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไทยพบว่า เนื้อหมูของสหรัฐมีสารเร่งเนื้อแดง ทำให้มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายจนทำให้ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดโดยมีหน่วยงานต่างๆ ได้ศึกษาเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูนี้ให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง 

 

 

    ไม่เพียงเท่านั้นการกดดันของสหรัฐในการให้ไทยเปิดรับนำเนื้อสุกรนั้นยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) อ้างเกณฑ์ต่างๆ ของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX Alimentarius Commission - CAC) ที่สหรัฐอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้มีการกำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ หรือที่เรียกว่าค่า MRL ของสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีน (Ractopamine) ที่สหรัฐอนุญาตให้มีการใช้ในการเลี้ยงสัตว์ทั้งในการสุกรและวัวเนื้อ โดยกำหนด MRL ในประเทศไว้ที่ 30 ppb (part per billion) สำหรับเนื้อวัว และ 50 ppb สำหรับเนื้อหมู 

  การผลักดันให้โคเด็กซ์ (CODEX) กำหนดมาตรฐานนี้จึงเป็นการเปิดทางให้เนื้อสุกรและเนื้อวัวที่มีสารเร่งเนื้อแดงของตนเองสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ได้ กระทั่งความพยายามเป็นผลเมื่อคณะกรรมการโคเด็กซ์ มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 69/67 เสียง ให้กำหนดค่า MRL ของ Ractopamine ที่ 10 ppb ตั้งแต่กรกฎาคม 2555 เป็นต้นมา ซึ่งข้อกำหนดนี้กลายเป็นอาวุธลับที่สหรัฐสามารถนำไปกล่าวอ้างกับทุกประเทศเป้าหมายได้อย่างชอบธรรม

  มาตรฐานของโคเด็กซ์นี้ถูกยกขึ้นมาเป็นไม้ตายของสหรัฐอีกครั้งในการเจรจาด้านการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ที่คณะของกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปร่วมประชุมคณะมนตรี ภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเรื่องนี้ “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่ามีการหยิบยกเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐในการหารือกันด้วย โดยสหรัฐยืนยันว่าหมูเนื้อแดงที่จะส่งออกมาประเทศไทยนั้นผ่านการรับรองมาตรฐานโคเด็กซ์ และไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นภัยต่อร่างกาย 

  ขณะที่ฝ่ายไทยได้แจ้งว่า ไทยยอมรับในมาตรฐานดังกล่าว แต่คนไทยและคนเอเชียรับประทานหมูทุกส่วนทั้งเนื้อหมู หัว เครื่องใน หนัง มัน ฯลฯ แถมคนไทยยังมีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างทั้งการกินหมูแบบสุก แบบดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก เช่น ลาบ ลู่ และเนื้อแดงๆ ผิดกับชาวยุโรปและอเมริกันที่รับประทานเฉพาะเนื้อหมู จึงขอให้สหรัฐตั้งคณะทำงานร่วมมาดูพฤติกรรมการรับประทานเนื้อหมูของคนไทย และทำการวิจัยว่าจะมีผลกระทบต่อสารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 1 ปี  

  “ยังไงเราก็ไม่ยอมรับกรรมการร่วมที่ตั้งขึ้นมาศึกษาก็มีแต่หน่วยราชการมีทั้งปศุสัตว์ อย.  ทำไมไม่มีตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลกระทบโดยตรงเข้ามาเป็นกรรมการร่วมด้วย และการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐก็เป็นการเหยียบย่ำอาชีพเลี้ยงสุกรของคนไทย ทุกวันนี้ราคาเนื้อสุกรก็ตกต่ำอยู่แล้ว หากนำเข้ามาอีกก็จะเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”        

    สุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทยยืนยันกับ “คม ชัด ลึก” ไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐ แม้ว่าทางการสหรัฐจะหยิบยกมาตรฐานโคเด็กซ์ขึ้นมากล่าวอ้าง โดยเขาย้ำว่าค่ามาตรฐานโคเด็กซ์ของสหรัฐจะแตกต่างจากโซนยุโรป จีนและญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็ปฏิเสธนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐด้วยเช่นกัน 

ขณะที่ ประสิทธิ์ หลวงมณี ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร 4.0 ร้อยเอ็ด จำกัด บอกว่า คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศหวั่นใจว่าในอนาคตรัฐบาลอาจเปิดรับเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐเข้ามาทำร้ายผู้บริโภคและเกษตรกรไทย ซ้ำเติมความทุกข์ของคนเลี้ยงหมูทั่วประเทศจากสถานการณ์ราคาหมูตกต่ำมากว่า 10 เดือนแล้ว และวันนี้ยังต้องกังวลกับการรุกคืบของหมูสหรัฐที่ทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้เศษเหลือทั้งหัว ขา เครื่องใน ที่คนอเมริกาไม่กิน เข้าไปทำตลาดในตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยที่นิยมบริโภคชื้นส่วนเหล่านี้ จึงเหมาะสมที่จะรับผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งของมะกัน

“เกษตรกรทุกคนอยากฝากถึงท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าปัจจุบันหมูไทยมีมากจนล้นตลาด เกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนต่อเนื่อง จนหลายคนต้องเลิกเลี้ยงหมูแล้ว วันนี้หมูร้อยเอ็ดก็ไม่มีที่จะขายเพราะมีมากเกินล้นตลาดจำต้องยอมขายให้พ่อค้าในราคาถูกๆ เกษตรกรทั้งหมดขอยืนยันคัดค้านการนำเข้าหมูสหรัฐอย่างถึงที่สุด คนร้อยเอ็ดกินหมูร้อยเอ็ด คนโคราชกินหมูโคราช คนไทยก็ต้องกินหมูไทย แล้วทำไมท่านนายกฯ ต้องเอาหมูสหรัฐมาให้คนไทยกิน ขอให้ท่านนายกฯ เอาอย่างทรัมป์ ที่ปกป้องรักษาอาชีพเกษตรกรของเขา ท่านนายกฯ ก็ต้องปกป้องเกษตรกรคนไทยของท่านเอง ทุกวันนี้หมูก็มีมากเกินกว่าที่คนไทยจะกินได้ แล้วยังจะปล่อยให้หมูสหรัฐเข้ามาเหยียบย่ำคนไทยอีกหรือ” ประสิทธิ์ บอกและว่า

    ภาครัฐต้องคิดถึงคนไทยเป็นสำคัญ เพราะสารเร่งเนื้อแดงที่อยู่ในเนื้อหมูสหรัฐนั้นเป็นภัยร้ายที่แฝงมาทำร้ายสุขภาพคนไทย ซึ่งวงการเลี้ยงหมูรวมถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่างเดินหน้าปราบปรามการใช้สารเร่งเนื้อแดงเพื่อปกป้องความปลอดภัยในอาหารเพื่อผู้บริโภคมาตลอด จนมีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้มากว่า 16 ปี การใช้สารเร่งเนื้อแดงกับเนื้อสัตว์จึงถือว่าผิดกฎหมาย ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 พ.ศ.2546 ซึ่งหากมีการนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐจริงนั่นเท่ากับค้านกฎหมายไทยและไม่ต่างกับการนำเข้าระเบิดเวลาเข้ามาทำลายสุขภาพและความปลอดภัยในอาหารของคนไทย 

อย่างไรก็ตามจากรายงานของกรมปศุสัตว์ซึ่งรับผิดชอบพ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ห้ามผู้เลี้ยงผสมสารเร่งเนื้อแดงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานของคณะกรรมาธิการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเด็กซ์) ซึ่งมีสมาชิก 187 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย โดยมาตรฐานของไทยสูงกว่ามาตรฐานของโคเด็กซ์ สหรัฐจึงอยากให้ไทยใช้มาตรฐานเดียวกับโคเด็กซ์ 

 “เถ้าแก่เนื้อหมูตู้เย็นชุมชน” อาชีพใหม่ชาวเวียดนาม 

   เกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของชาวเวียดนาม จากประชากร 92.7 ล้านคน มีคนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากถึงร้อยละ 80 เช่นเดียวกันกับครอบครัวของ “เหงียน วัน ทัน” ที่ส่งต่อมรดกนี้มารุ่นต่อรุ่น แต่สำหรับทันแล้วเขารู้สึกว่าน่าจะมีอาชีพอื่นๆ ที่จะทำให้ครอบครัวอยู่มีกินดีกว่าการเป็นเกษตรกร

    “คิดมาตลอดว่าเราน่าจะทำอาชีพที่ตอบโจทย์เรื่องรายได้และความมั่นคงที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเราดีขึ้น จึงพยายามมองหาอาชีพอื่นอยู่ตลอด จนได้เห็นว่า ซีพี เวียดนามมีการสนับสนุนอาชีพขายเนื้อไก่ ก็รู้สึกสนใจมากเพราะไม่ยุ่งยาก ผลิตภัณฑ์ของซีพี ก็เป็นที่ยอมรับของคนเวียดนามอยู่แล้วจึงติดต่อขอร่วมโครงการซึ่งก็สร้างอาชีพและรายได้ที่ดีอย่างที่คิดไว้จริงๆ จนเมื่อมีโครงการเถ้าแก่เนื้อหมูตู้เย็นชุมชน ซีพี พ็อก ช็อป เพิ่มขึ้น เราก็ตัดสินใจร่วมโครงการนี้ทันที เพราะมั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มรายได้และความมั่นคงในการทำธุรกิจได้” นายทันกล่าวถึงที่มาของการเป็นเถ้าแก่เนื้อหมูตู้เย็นชุมชนกับบริษัท ซีพี เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น

   ทันเริ่มต้นอาชีพนี้เมื่อต้นปี 2561 โดยเปิด “ร้านลินห์ ดอง สาขา 2” ที่ถนน 13 อำเภอเหียปบิญเฟื้อก เขตถู๋ดึ๊ก เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ซึ่งก่อนจะเปิดร้านอย่างเป็นทางการเขาได้เข้าร่วมกลุ่มโครงการเถ้าแก่กลาง ภายใต้หลักสูตรพัฒนาผู้นำ 4.0 (Leaders 4.0 Development Program) ของซีพีเวียดนาม เพื่อฝึกอบรมเกี่ยวกับการตัดแต่งและแยกชิ้นส่วนหมู รวมถึงเทคนิคการขาย ใช้เวลาอบรม 2 อาทิตย์ หลังจากฝึกฝนจนชำนาญจึงเริ่มเปิดขาย โดยได้รับความสนใจและเสียงตอบรับจากผู้บริโภคดีมากเนื่องจากร้านมีความทันสมัย สะอาด มีมาตรฐาน เนื้อหมูคุณภาพส่งตรงจากทีมงานซีพีเวียดนาม เป็นประจำทุกวัน ตลอดเวลาที่รอจำหน่ายจะแช่เนื้อหมูในตู้แช่เย็นทำให้คงความสดไว้ได้ตลอด ปัจจุบันที่ร้านมียอดขายหมู 2 ตัวต่อวัน ทำให้มีรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายประมาณวันละ 9,000,000 ด่อง หรือ 13,000 บาทต่อวัน

  “ผมขอขอบคุณซีพีเวียดนามที่จัดโครงการนี้ขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวเวียดนามเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนเวียดนาม ทำให้พวกเรามีรายได้มั่นคนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว และยังมีโอกาสได้ส่งต่ออาหารปลอดภัยทั้งเนื้อไก่และเนื้อหมูที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภคชาวเวียดนาม ส่วนข้อแนะนำสำหรับคนที่ต้องการทำอาชีพนี้ต้องเริ่มจากการมีทำเลที่ดี ต้องมีวิสัยทัศน์ มีเงินทุน และมีคนที่สามารถบริหารจัดการร้านได้ ที่สำคัญต้องมีใจรักในอาชีพและพร้อมที่จะให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า เพียงเท่านี้ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน” ทันกล่าว

   วันนี้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง การขายเนื้อหมูช่วยเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวราวๆ 390,000 บาทต่อเดือน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก และคาดว่าภายในปีนี้จะเปิดร้านซีพี พ็อก ช็อป เพิ่มอีก 4 ร้าน โดยจะลงทุนและบริหารจัดการเอง หรือบางร้านอาจจะให้คนในครอบครัวเข้ามาช่วยดูแลซึ่งจะกลายเป็อาชีพให้แก่ครอบครัวของเขาต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ