ข่าว

บอร์ดปตท.ไฟเขียวส่ง2บริษัทลูกประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บอร์ดปตท. ไฟเขียวส่ง 2 บริษัทลูกประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบิน

        บอร์ดปตท. ไฟเขียวส่ง 2 บริษัทลูก เอนโก้ และ จีพีเอสซี ซื้อซองประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3สนามบิน สนองนโยบายรัฐร่วมแข่งบิดโครงการใหญ่มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท หวังต่อยอดลงทุนธุรกิจใหม่ วงการคาดผนึกบีทีเอส-ชิโนไทย ร.ฟ.ท.เตรียมขายซอง พ.ค.นี้ เผยทีโออาร์เข้าทางรายใหญ่มีเงินสดในมือไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาท ด้าน “เปรมชัย”ยื่นข้อเสนอ ซี.พี.-ปตท.ขอร่วมลงทุน

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) เงินลงทุน 120,000 ล้านบาท ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศร่างทีโออาร์ออกมา แต่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนต่างๆ ที่มีการเจรจาจับมือกันเพื่อเตรียมตัวเข้าประมูล

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.อนุมัติให้กลุ่มปตท.เข้าซื้อเอกสารเชิญชวนประมูล (ทีโออาร์) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยาน โดยจะนำมาศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนเพราะเป็นโครงการที่น่าสนใจ  และที่ประชุมยังไม่มีการตัดสินใจในการลงทุนและพิจารณาร่วมลงทุนกับพันธมิตร

แหล่งข่าวจาก ปตท.กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.มอบให้บริษัทลูก ปตท.ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงการนี้ 2 บริษัท คือ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด หรือ EnCo ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี ที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซื้อซองประมูลเพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนหลายด้าน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ไฟฟ้า รถไฟฟ้า โดยการจับมือกับพันธมิตรรายใดหรือการร่วมประมูลต้องรอผลการศึกษาความเหมาะสมมาเสนอคณะกรรมการ ปตท.พิจารณา

“การซื้อซองโครงการนี้ใช้เงินไม่มากซองละ 1 ล้านบาท เพื่อสนองต่อนโยบายรัฐที่ต้องการเห็นบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศที่มีไม่กี่บริษัทเข้าร่วมแข่งขันในโครงการที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และโครงการนี้ก็เป็นโอกาสในการสร้าง New S–Curve ของ ปตท. เช่น รถไฟฟ้า” แหล่งข่าวกล่าว

ปตท.ผนึกบีทีเอส-ชิโนไทย

แหล่งข่าวจาก ปตท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท.ได้เตรียมเรื่องการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดย ปตท.จะจับมือกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ (บีทีเอส) และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หลังจากก่อนหน้านี้ ปตท.เจรจากับเครือซีพีเข้าประมูลแต่ไม่สำเร็จจึงมาจับมือกับบีทีเอสและชิโน-ไทย

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ รายงานโดยอ้างนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมต์ หรือ ไอทีดี กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นลักษณะ พีพีีพี ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่บริษัทมีความพร้อมด้านงานก่อสร้าง ออกแบบ และจัดหาผู้เดินรถให้พร้อมที่จะเดินรถได้ในต้นทุนต่ำ โดยได้เข้านำเสนอไปยังเครือซีพี และ ปตท.แล้ว

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพฯ และระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ และบริการผู้โดยสาร บริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์มักกะสัน ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชาเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร

ประกาศร่างทีโออาร์กลาง พ.ค.นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า วันที่ 27 เม.ย.นี้ จะประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.ชุดใหม่นัดแรก และจะหารือโครงการเร่งด่วน โดยเ้ฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งคงทบทวนทีโออาร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงหารือโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์รถไฟฟ้าสายสีแดงและการบริหารแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ร่างทีโออาร์เสร็จแล้ว 95% ยังเหลือรายละเอียดเล็กน้อย และคาดว่าจะประกาศร่างทีโออาร์ได้ในกลางเดือน พ.ค.นี้จากนั้นก็เข้าสู่การประมูล โดยโครงการนี้มีระยะทาง 220 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนงานจะคัดเลือกบริษัทผู้ได้รับการประมูลได้ในเดือน พ.ย.2561 กำหนดเปิดให้บริการปี 2566

 

เข้มคุณสมบัติด้านการเงิน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ร่างทีโออาร์เบื้องต้นกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยจะเป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันหรือเป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนใหม่ สมาชิกหรือหุ้นส่วนแต่ละรายต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ โดยคุณสมบัติด้านการเงิน จะต้องมีคุณสมบัติด้านมูลค่าสุทธิของกิจการอย่างน้อย 1 ข้อ ดังนี้ 1.เป็นนิติบุคคลรายเดียว ต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี โดยคิดเฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปี ล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท 2.เป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ สมาชิกหรือผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่นำมาคำนวณคุณสมบัติทางการเงินต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี โดยคิดเฉลี่ยในรอบ 3 ปี ล่าสุดไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และรวมกันทั้งหมดต้องไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท

3.ผู้ถือหุ้นหรือสมาชิกรายอื่นที่เหลือที่ไม่ได้นำคุณสมบัติทางการเงินมาคำนวณต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี โดยคิดเฉลี่ยรอบ 3 ปี ล่าสุดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท 4.ผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นนิติบุคคลควบรวมกิจการนิติบุคคลแต่ละรายต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปีจากงบเสมือน โดยคิดเฉลี่ยในรอบ 3 ปี ล่าสุดไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และรวมกันทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาท

กำหนดโชว์เงินสด 1.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้จะต้องหนังสือแสดงเจตจำนงหรือเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด จะต้องยื่นรายละเอียดอย่างน้อย 1 ข้อ ดังนี้ 1.ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง ซึ่งเป็นหนังสือจากสถาบันการเงินของไทยหรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่จะสนับสนุนสินเชื่อรวมเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท 2.ยื่นหลักฐานเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่แสดงในงบการเงินย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือน เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท ทั้งในกรณีเป็นนิติบุคคลรายเดียว กิจการร่วมค้าและกิจการควบรวม

3.ยื่นหลักฐานหนังสือแสดงเจตจำนง หลักฐานเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงินย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือน รวมกันเป็นเงินไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท ทั้งในกรณีเป็นนิติบุคคลรายเดียว กิจการร่วมค้าและกิจการควบรวม

ผู้ชนะประมูลต้องตั้งเอสพีวี

นอกจากนี้ ร่างทีโออาร์ได้กำหนดประสบการณ์ของผู้ยื่นประมูล โดยจะต้องมีประสบการณ์การออกแบบโครงสร้างรถไฟยกระดับ ทางรถไฟใต้ดินหรือโครงสร้างทางยกระดับไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท รวมทั้งมีประสบการณ์ในการก่อสร้างทางรถไฟไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และมีประสบการณ์ในการเดินรถไฟความเร็วสูงอย่างน้อย 5 ปี รวมทั้งมีประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรืออาคารไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร 

รวมทั้งมีข้อกำหนดให้ผู้ที่ชนะการประมูลต้องตั้งนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย (SPV) เพื่อดำเนินธุรกิจ การออกแบบและการก่อสร้างงานโยธา สิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์ซ่อมบำรุง จัดซื้อจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง พร้อมติดตั้งระบบรถไฟความเร็วสูง และดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในสัญญา เช่น พื้นที่มักกะสัน พื้นที่สถานีศรีราชา

บีโอไอเผยจีนสนใจลงทุนไฮสปีดเทรน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอโอ) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อทำอย่างไรอีอีซีจะตอบสนองเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างคุ้มค่ายั่งยืนที่สุด ว่า โครงการอีอีซีได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยในส่วนของรถไฟความเร็วสูงน่าจะมีนักลงทุนหลายประเทศให้ความสนใจ โดยล่าสุดทราบว่ามีภาคเอกชนของจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุน

นายจุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง รฟท.กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ที่ไทยยังไม่เคยทำมาก่อน และโครงการนี้แบ่งการบริหารงานทั้งในส่วนของธุรกิจบริหารสินทรัพย์คือที่ดินบริเวณสถานีมะกะสัน และสถานีศรีราชา ขณะที่อีกธุรกิจเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินรถซึ่งมีเรื่องของการบริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงค์มาด้วยจึงมีความน่าสนใจที่จะเข้ามาแข่งขันประมูลโครงการ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ