ข่าว

ครม.จัดงบ1.4หมื่นล้าน ปั้นแรงงาน4.0ดันเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.ทุ่มงบฯ 1.4 หมื่นล้าน ผลิตบัณฑิต-อาชีวะพันธุ์ใหม่ เป้า 5 ปี 115,626 คน

 

 

นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ เห็นชอบโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถะสูง สำหรับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ตามนโยบายไทยแลนด์4.0และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (อาชีวะพันธุ์ใหม่ปี2661-2565และอาชีวะพันธุ์ใหม่ปี2561-2569) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเป้าหมายผลิตบัณฑิตเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ 115,626 คน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14,138 ล้านบาท โดยขออนุมัติงบกลาง ประจำปีงบประมาณ2561จำนวน1,396 ล้านบาท แบ่งเป็นงบดำเนินการ 1,360 ล้านบาทและงบลงทุน 36 ล้านบาท 

ซึ่งปัญหาที่ผ่านมานั้นประเทศไทยขาดแคลนแรงงานด้านช่างอุตสาหกรรม ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่างเทคนิค วิศวกรหลายแขนงที่จะตอบสนองต่อเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองความต้องการ 

“โครงการดังกล่าวจะตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ เป้าหมายประเทศ ยุทธศาสตร์ 20 ปี นโยบายไทยแลนด์4.0 การขาดแคลนช่างฝีมือ ช่างที่มีทักษะชั้นสูง วิศกรด้านต่างๆและแรงงานด้านอุตสาหกรรม” นายแพทย์อุดมกล่าว

โครงการดังกล่าวจะเริ่มในภาคศึกษาในเดือน พ.ค.เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม 

ซึ่งหลักสูตรการเรียนนั้นจะเน้นในเรื่องการเรียนในสถานประกอบการ 50%ของเวลาเรียน เช่น หลักสูตร4ปี ต้องเรียนในสถานที่จริง 2 ปี โดยอาจารย์ของสถาบันนั้นก็ต้องไปสอนนักศึกษาด้วย ขณะที่สถานประกอบการต้องตั้งอาจารย์พิเศษเพื่อช่วยสอนทักษะต่างๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ในการออกแบบกระบวนการเรียนการสอนใหม่เพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ป.ตรีหัวละ 1.5 แสนบาทต่อคนต่อปี

มหาวิทยาลัยที่เข้าโครงการ 20 แห่ง มีหลักสูตร 235 หลักสูตร แบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 ประเภทคือ1.หลักสูตรอบรม เพื่อเป็นเพิ่มสมรรถนะทักษะ119หลักสูตร มีระยะเวลาเรียน 6 เดือนถึง1ปี โดยหลักสูตรนี้รับคนที่จบการศึกษา ปวช.ปวส.ที่ทำงานแล้วแต่ต้องการเพิ่มศักยภาพหรือทักษะของตนเองมาเรียน คาดว่าใน 3 ปีแรกจะผลิตกำลังคนได้ประมาณ 51,999 คน โดยรัฐบาลให้เงินเป็นรายหัวๆ ละ 60,000 บาทต่อคนต่อปี และ2.หลักสูตรที่รับคนที่จบปริญญาตรี มี116 หลักสูตร จบโครงการ 5 ปี จะผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ได้ 56,078 คน ซึ่งหลักสูตรรัฐบาลจะให้เงินเป็นรายหัวๆ ละ 1.2 -1.5 แสนบาทต่อคนต่อปี

ขณะที่ อาชีวศึกษาจะผลิตบัณฑิตใหม่ได้ 85,000 คน โดยมี 27 วิทยาลัยอาชีวะศึกษาเข้าร่วมโครงการ โดยโครงการนี้มีระยะเวลา 5 ปี จะผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ รวมกันได้ 115,626 คน แยกเป็น อาชีวะพันธุ์ใหม่ 52,899 คน บัณฑิตพันธุ์ใหม่ 62,717 คน

สำหรับโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะนั้นเป็นโครงการเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยส่งเสริมให้วิทยาลัย สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา ผลิตบุคลากร โดยมีขอบเขตของเนื้อหาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ตรงกับอุปสงค์ของตลาดแรงงาน ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม 

โดยการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษาที่ใช้สถานที่จริงจากสถานประกอบการและชุมชน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะฝีมือควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อให้มีสมรรถนะที่เป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยจัดทำหลักสูตร 2 ระดับคือ ระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา

โครงการระดับอาชีวศึกษา ให้สำนักงานอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้รับผิดชอบ โดยผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะพันธุ์ใหม่ที่เป็นช่างเทคนิค นักเทคโนโลยีที่มีความชำนาญขั้นสูง และมีความรู้ สมรรถนะตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในภาคการผลิตสำหรับอุตสหกรรมเป้าหมาย 6 สาขา คือ สาขาวิชาช่างอากาศยาน สาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาวิชาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม สาขาวิชาการระบบขนส่งทางราง สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และสาขาเกษตรก้าวหน้า

โครงการระดับอุดมศึกษา หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง สำหรับคนในอุตสาหกรรมใหม่สู่อุตสาหกรรมในอนาคตและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการดำเนินการออกเป็น4รูปแบบ คือ1.การเพิ่มสมรรถนะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ตอบโจทย์กำลังคนเร่งด่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

2.การบูรณาการทักษะชีวิตของสังคมดิจิทัลกับความรู้หลักศาสตร์สาขาวิชาชีพ 3.การสร้างสมรรถนะและความรู้พื้นฐานใหม่ที่ต้องบูรณาการข้ามศาสตร์สาขาวิชาชีพเดิมที่มีอยู่ในศตวรรษที่ 20 ตอบโจทย์ภาคการผลิตสู่New S-Curveและ 4.การตอบสนองการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

ที่มา:·กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ