ข่าว

ประมูล'เอราวัณ'ส่อเดือด 'มูบาดาลา'ชนเชฟรอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมูล'เอราวัณ'ส่อเดือด 'มูบาดาลา'ชนเชฟรอน

 

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดดาวน์โหลดเอกสารประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชวันนี้ ให้ยื่นแสดงความจำนงตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น 4 พ.ค.นี้ พร้อมเปิดห้องดาต้ารูม 7 มิ.ย. - 21 ก.ย.นี้ ให้วางเงินค้ำประกัน7 ล้านแลกดูข้อมูลเชิงลึก ด้าน “ศิริ” หาข้อสรุปเปิดเผยทีโออาร์เพื่อปิดข้อครหาไม่โปร่งใส่ เชื่อการประมูลเอราวัณแข่งเดือด คาด“มูบาดาลา”ท้าชิงเชฟรอน ด้าน พรายพล ชี้ทีโออาร์เปิดทางรายใหญ่แข่งขันกันเอง 

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การเปิดประมูลครั้งนี้ กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงและค่าไฟฟ้า โดยให้คะแนนราคาก๊าซในอัตราที่ไม่สูงกว่าราคาปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนคะแนน 65% และที่เหลือ 25% ดูจากส่วนแบ่งกำไรให้รัฐที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งราคาก๊าซปัจจุบันของบงกชเฉลี่ย 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และแหล่งเอราวัณ 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าอยู่ที่ 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ ตามสัญญาพีเอสซี ผู้ชนะประมูลเอราวัณและบงกช จะได้สิทธิ์สำรวจแหล่ง 3 ปี หากไม่พบจะได้สิทธิ์สำรวจต่ออีก 3 ปี ก่อนยื่นผลิตซึ่งจะมีสัญญาผลิต 20 ปี โดยตามเงื่อนไขทีโออาร์กำหนดให้การผลิต 10 ปีแรก แหล่งเอราวัณต้องผลิตก๊าซไม่ต่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มตั้งแต่ 24 เม.ย.2565 ส่วนแหล่งบงกชเหนือต้องผลิตก๊าซไม่ต่ำกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มตั้งแต่ 24 เม.ย.2565

สำหรับขั้นตอนการประมูลจะ ให้ผู้ประมูลยื่นคุณสมบัติเบื้องต้น ต้องแสดงข้อมูลการถือครองหุ้นในกิจการ 2 ปีย้อนหลัง (ปี 2559-2560) ซึ่งแหล่งเอราวัณต้องมีเงินทุนหมุนเวียน 4,000 ล้านดอลลาร์ และแหล่งบงกช ต้องมีเงินทุนหมุนเวียน 2,000 ล้านดอลลาร์ และมีประสบการณ์ผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

โดยให้ผู้สนใจดาวน์โหลดเอกสารในเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในวันนี้ (24 เม.ย.)  จากนั้นยื่นแบบฟอร์มร่วมพิจารณาคุณสมบัติในวันที่ 4 พ.ค. 2561 และยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติในวันที่ 15-16 พ.ค.2561 และประกาศผลคุณสมบัติเบื้องต้นวันที่ 28 พ.ค.2561

นอกจากนี้ ผู้ประมูลจะต้องวางหลักทรัพย์ค่าเข้าดูข้อมูล Data Room วงเงิน 7 ล้านบาทต่อแหล่ง และยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นคำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต รวมทั้งแผนการดำเนินงาน และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในวันที่ 25 ก.ย.2561 ซึ่งต้องวางหลักทรัพย์คำขอยื่นซื้อซอง 50,000 บาทต่อแหล่ง และหลักทรัพย์ค้ำประกันคำขอ 3 ล้านบาทต่อแหล่ง และจะประกาศผู้ชนะประมูลเดือน ธ.ค.2561 และลงนามสัญญาเดือน ก.พ.2562

ตั้งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯคุมประมูล

ทั้งนี้ สำหรับผลการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น คณะกรรมการปิโตรเลียมจะตั้งคณะอนุกรรมการที่มาจากข้าราชการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ราย โดยอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน จะพิจารณาผู้ชนะจากผู้ที่ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือร่วมกับผู้บริหารกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยมีแนวคิดที่อาจจะเปิดเผยรายละเอียดของเงื่อนไข(ทีโออาร์)ประมูลต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใส จากเดิมที่จะเปิดให้เฉพาะผู้ผ่านคุณสมบัติ

ส่วนการแข่งขันประมูลครั้งนี้ คาดว่า จะเข้มข้น โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณ ที่มีความเป็นไปได้สูงที่ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ประเทศไทย จะยื่นข้อเสนอดุเดือดเพื่อแข่งกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดที่เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน ส่วนแหล่งบงกชนั้น มูบาดาลา อาจเจรจาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) เพราะประมูลเองโอกาสชนะได้ยาก เนื่องจากรัฐถือหุ้นในแหล่งบงกช

  ชี้ปิดทางรายเล็กเข้าประมูล

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างทีโออาร์ที่เผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นว่ากระทรวงพลังงานให้น้ำหนักกับความมั่นคงด้านพลังงาน เพื่อให้ไม่กระทบกับค่าไฟฟ้าในอนาคตและไม่กระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการกำหนดเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประมูลแสดงให้เห็นว่ารัฐต้องการผู้ที่มีความพร้อมทางการเงิน เพื่อมั่นใจว่าจะผลิตปิโตรเลียมได้ตามแผน และทั้ง 2 แหล่งมีการผลิตมานานต่างจากการประมูลแหล่งใหม่ที่ไม่มีข้อมูลชัดเจน จึงไม่ต้องการให้รายเล็กเข้ามาเสี่ยงผลิตก๊าซเพราะจะกระทบกับความมั่นคงพลังงาน

นอกจากนี้ การประมูลครั้งนี้จะชี้วัดกันด้วย 3 ด้าน คือ 1.แผนการผลิตปิโตรเลียมในช่วง 10 ปี เพื่อให้มีการผลิตมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่รัฐกำหนด 2.ผลประโยชน์ที่เสนอให้รัฐและราคาซื้อขายก๊าซ ซึ่งคาดว่าผู้ประมูลแต่ละรายจะเสนอราคาก๊าซไม่ต่างกันมากและใกล้เคียงเกณฑ์ราคาที่รัฐกำหนด เพราะคาดการณ์ราคาก๊าซในอนาคตลำบาก 3.คุณสมบัติอื่น เช่น เงินทุน ประสบการณ์ ซึ่งส่วนนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ