ข่าว

ปรากฎการณ์ทุเรียน"แจ๊คหม่า"!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปรากฎการณ์ทุเรียน"แจ๊คหม่า" จิตวิทยา"พีอาร์"รัฐบาล...เกินคุ้ม!     

 

           ในแง่จิตวิทยาถือว่าได้ผลเกินคาด แต่กระบวนการยังต้องลุ้นกันอีกยาวไกลสำหรับปรากฎการณ์“แจ๊คหม่า”แห่งอาลีบาบาที่กดปุ่มซื้อทุเรียนผ่านเวปไซต์อาลีบาบาจำนวน 80,000 ลูกใน 1 นาที จนเรียกเสียครางฮือจาก พ่อค้า แม่ค้าและบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SMEs)ทั้งหลายที่อาจตกท้าตาย หลังยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรเข้ามาฮุบส่วนแบ่งทางการตลาด  

ปรากฎการณ์ทุเรียน"แจ๊คหม่า"!

            "ถ้ามองในเชิงพีอาร์ถือว่าได้ผล งานนี้รัฐบาลได้ไปเต็ม ๆ แต่กระบวนการอาจจะได้หรือไม่ยังไม่รู้ ทั้งในแง่คุณภาพ เรื่องราคา ระยะเวลาการขนส่งสู่ปลายทาง มันยังมีอีกหลายขั้นตอน แต่ถ้ามองตลาดล่วงหน้า มองในระยะยาวอาจจะได้ผล แต่มันจะเป็นการผูกขาดหรือไม่ก็ยังไม่มีใครรู้  แต่ในมุมมองชาวสวน เกษตรกร ถือเป็นเรื่องดี จะขายผลผลิตได้ในราคาที่สูง แต่ราคาก็ต้องมาคู้กับคุณภาพด้วย"

          รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ อาจารย์ภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองปราฏการณ์แจ๊คหม่าเดินทางการเยือนเมืองไทยในครั้งนี้ โดยระบุว่าส่วนตัวไม่ได้มีความตื่นเต้นกับการจำหน่ายทุเรียนผ่านเวปไซต์อาลีบาบาหรือตื่นตระหนกที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบ เนื่องจากทุกวันนี้มีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์กันอยู่แล้ว การาเข้ามาของอาลีบาบาจะเป็นตัวเชื่อมไปสู่ตลาดโลกได้กว้างขึ้น จึงเป็นการยากที่จะปฎิเสธการเข้าสู่สังคมดิจิทัล

       แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและกังวลมากกว่า รศดร.พิชัยมองว่าเป็นเรื่องคุณภาพของผลผลิต ถึงแม้การตลาดจะพร้อม หากแต่ผลผลิตไม่มีหรือคุณภาพไม่ได้มาตรฐานตามกำหนดก็จะมีปัญหาตามมาเช่นกัน เพราะฉะนั้นคุณภาพและราคาจะต้องไปด้วยกัน 

        "วันนี้เรามองข้ามออนไลน์หรือขายตรงพ่อค้า อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปตระหนก  มันผ่านจุดนั้นมาแล้ว แต่เราต้องหันมาดูคุณภาพมากกว่า เพราะเวลานี้ตลาดเป็นของผู้ผลิต เป้นของเกษตรกร โดยเฉพาะทุเรียน ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน ถ้าของดีมีคุณภาพตลาดพร้อมอ้าแขนรับ"อาจารย์คนเดิมให้มุมมอง พร้อมระบุว่าจากการนำนิสิตลงพื้นที่เก็บข้อมูลในจ.จันทบุรีพบว่าเกษตรกรมีการแบ่งโซนอย่างชัดเจนว่าโซนใดจะพัฒนาผลผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้ากลุ่มใด ส่งขายที่ไหน มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ

       ขณะที่เกษตรกรรุ่นใหม่อย่าง"นางสาวสัณฐิติ ธรรมศรี"เจ้าของสวนธรรมศรีในท้องที่ต.พลวง อ.คิชกูฎ จ.จันทบุรีที่มองว่าการค้าผ่านระบบออนไลน์นั้นเป็นเรนื่องที่ดี มีความรวดเร็วและหลากหลาย แต่ด้วยปริมาณผลผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดการซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลางหรือล้งยังคงมีความจำเป็นสำหรับเกษตรกรชาวสวนในจ.จันทบุรี ส่วนการค้าผ่านระบบออนไลน์นั้นใช้เป็นทางเลือกมากกว่า

       "ช่วงนี้เกษตรกรที่ทุเรียนออกดอกช่วงปีใหม่กำลังทยอยตัดส่งพ่อค้าคนกลาง บางสวนตัดไปส่งล้ง(พ่อค้าที่เขารับซื้อมีตู้ส่งออก) บางสวนให้พ่อค้าคนกลางเข้ามามาตัดให้เลย ส่วนหนูเป็นแบบนี้ค่ะถ้าไปล้ง ราคาจะต่างกันประมาณ 2-3 บาท  อย่างหมอนทองช่วงนี้ถ้าส่งล้งราคาจะอยู่ที่ 75 บาทต่อกิโล  แต่ถ้ามีพ่อค้าคนกลางส่งคนมาตัดที่สวนก็จะอยู่ประมาณ 72-73 บาทแล้วแต่ตกลงกันค่ะ ส่วนกระดุมจะอยู่ที่ 100-110 บาทต่อกิโล"

        เธอระบุอีกว่าสำหรับทุเรียนที่ออกดอกในเดือนมกราคมและให้ผลผลิตในเดือนพฤษภาคมในสวนของตนนั้นขณะนี้ผลผลิตได้ถูกจับจองไปเกือบหมดแล้ว โดยผ่านล้งและพ่อค้าคนกลาง ไม่มีเหลือสำหรับการจำหน่ายในช่องทางอื่น ส่วนสวนอื่น ๆ ในจ.จันทบุรีเท่าที่ทราบจากสมาชิกในเครือข่ายก็คงจะมีน้อยเช่นกัน เพราะปีนี้ทุเรียนให้ผลผลิตน้อยมากเนื่องจากเป้นผลมาจากสภาพภูมิอากกาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้แต่ละสวนติดดอกออกผลน้อย      3

      ในส่วนมุมมองของผู้ประกอบการส่งออกอย่าง บริษัท ซันไชน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งและทุเรียนอบแห้งภายใต้ตราสัญลักษณ์“คิงฟรุ๊ต” โดย“ปิยะภัทร ศรีพลัง ”ผู้จัดการฝ่ายผลิตของบริษัท เผยกับ“คมชัดลึก”ว่าการที่แจ๊คหม่าเดินทางมาเมืองไทยและได้ตกลงรับซื้อผลผลิตทุเรียนผ่านเว็ปไซต์อาลีบาบา  ในอนาคตจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนโดยเฉพาะเรื่องราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตมีอยู่อย่างจำกัด จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกระแสของโลกดิจิทัล

        “เมื่อก่อนเราส่งออกทุเรียนผลสดไปจีน แต่ก็มีปัญหา ก๋็เลยเปลี่ยนมาเป็นทุเรียนแช่แข็งและอบแห้งแทน ซึ่งก็ไปได้ดีในตลาดจีน ส่วนเปลือกแทนที่จะทิ้ง เราก็ส่งให้กับกรมพัฒนาที่ดินทำวิจัยและผลิตปุ๋ยให้กับเกษตรกร ตอนนี้กระบวการผลิตทุกอย่างจะไม่เศษเหลือทิ้ง ทุกอย่างนำมาใช้ให้เกิดประยชน์เพิ่มมูลค่าทั้งหมด”ผู้จัดการคนเดิมระบุ

 

 

        อย่างไรก็ตามการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ทุเรียนสดเพื่อส่งสินค้าสู่ตลาดปลายทางอย่างประเทศจีน ค่อนข้างมีปัญหาพอสมควร  ทั้งในแง่ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ระยะเวลการขนส่ง เนื่องจากจีนเป็นประเทศไที่กว้างใหญ่ การขนส่งอาจต้องใช้เวลานาน แม้ว่าปัจจุบันระบบการคมนาคาจะสะดวกมากกว่าแต่ก่อนก็ตาม แหล่งข่าวในสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ยกตัวอย่างกรณีเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี.มีอยู่ช่วงหนึ่งได้พยายามซื้อขายทุเรียนผลสดผ่านระบบออนไลน์ โดยมีตลาดเป้าหมายที่ประเทศจีน แต่ก้มีปัญกาสุดท้ายก็ล้มเลิกไป

      ในส่วนของรัฐบาล โดยสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ยังคงยืนยันก่อนประชุมครม.วานนี้(24 เม.ย.)ถึงความร่วมมือทางธุรกิจกับแจ็คหม่าถือเป็นกระแสที่ดีมาก โดย 2 วันแรกมียอดจองทุเรียนจากไทยไป 350,000 กิโลกรัม รวมกว่า 8 หมื่น ลูกน้ำหนักประมาณ 350 ตัน

      ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าล็อตแรกที่มีการสั่งซื้อทุเรียนแล้วชาวสวนทุเรียนไม่ได้อะไรนั้น ก็เป็นเพียงการเริ่มต้น โดยจากนี้จะมีการเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ เกิดการค้าขายร่วมกับฝ่ายจัดซื้อเว็บไซต์อาลีบาบา ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่ได้ง่ายนักที่ผู้ประกอบการคนไทย จะเข้าไปซื้อขายกับฝ่ายจัดซื้อของเว็บไซต์อาลีบาบา ทั้งนี้ในปี 2561 คาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียนรวมทั้งประเทศจะมีปริมาณ 734,284 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 08.2

       ส่วนผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออก จะมีปริมาณ 403,906 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 04.37 โดยผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เนื่องจากราคาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชไม้ผลอื่น และยางพาราหันมาปลูกทุเรียนแทน และสภาพภูมิอากาศในปี 2561 เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล และการขยายเนื้อที่ปลูกทุเรียนในปี 2556 จะเริ่มทยอยให้ผลผลิตในปี 2561 (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ณ วันที่ 4 เมษายน 2561) 

  การค้าระหว่างประเทศปล่อยหมัดเด็ด“ไทยเทรดดอทคอม” 

              จันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กล่าวถึงแจ๊ก หม่า ประธานกรรมการบริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ได้มีเป้าหมายสำคัญที่จะมาช่วยผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยให้มีความสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยเชื่อมสินค้าเกษตรเข้ามาสู่การค้าทางออนไลน์ ขณะที่ทางผู้ประกอบการ ก็เริ่มมีความตื่นตัวในการทำการค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะทำผ่านเว็บไซต์ทั่วไป จึงเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมและสนับสนุนในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นช่องทางตลาด การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการค้าออนไลน์ รวมไปถึงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ SMEs และ วิสาหกิจชุมชนได้มีช่องทางการส่งออกสินค้ามากขึ้น

            โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ทางอาลีบาบาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น ทุเรียนรวมถึงผลไม้ต่างๆ เพราะประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ มีการผลิตสินค้าเกษตรปริมาณมาก แต่ด้วยช่องทางการระบายสินค้าเกษตรมีอยู่จำกัด ทำให้ประสบปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรอยู่บ่อยครั้ง ในส่วนนี้จึงอาจได้อาลีบาบามาช่วยดูแลเรื่องการขายปาล์ม ข้าว และยางพาราของไทยผ่านเว็บไซต์ ที-มอลล์ ด้วย 

             จันทิรา กล่าวต่อว่า สำหรับกลไกการซื้อขายทางเว็บไซต์ที-มอลล์จะเลือกสินค้าที่จะนำไปขายที่ประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ไทยเทรดดอทคอม อีมาร์เก็ตเพลส ซึ่งเป็นเว็ปไซต์ของไทยที่จัดตั้งโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวมสินค้าไทยคุณภาพดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดสภาพคล่องทางการค้าอย่างมาก และสร้างความน่าเชื่อถือให้ลูกค้าต่างประเทศมากยิ่งขึ้น 

            ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังได้จับมือกับพันธมิตรอีมาร์เก็ตเพลสอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ อเมซอน อีเบย์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขยายสินค้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าหลังจากที่รัฐบาลได้จับมือกับอีมาร์เก็ตเพลสอย่างอาลีบาบาและอีกหลายประเทศแล้ว จะทำให้มูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท จะสามารถเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวหรือประมาณหมื่นล้านบาทภายใน 3 ปีข้างหน้าหรือในปีพ.ศ.2564 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ