ข่าว

"ดีแทค"โล่งอก ลงนาม4จีทีโอที ลุ้นประมูล1800

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดีแทค"โล่งอก ลงนาม4จีทีโอที ลุ้นประมูล1800

 

หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ.ทีโอที ได้เลือก “ดีแทค” เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (สตาร์ทิจิก พาร์ทเนอร์) เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว ล่าสุดวานนี้ (23 เม.ย.) ทีโอทีลงนามสัญญาให้บริการ 4จีบนคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์อย่างเป็นทางการ เพื่อให้บริการ 4จีแอลทีอีในแบรนด์วิธถึง 60 เมกะเฮิรตซ์ เส้นทางกว่าจะมีวันนี้ของดีแทค ถือว่าต้องฝ่าฟันอย่างหนัก เพราะหลังจากที่ได้รับเลือกจากทีโอทีแล้ว ก็ยังไม่สามารถให้บริการไดเ เพราะตัวสัญญาต้องส่งไปให้อัยการสูงสุดตรวจสอบก่อนและใช้เวลานานมากกว่า 1 ปี 

ทั้งนี้การลงนามสัญญาดังกล่าวจะช่วย “ปลดล็อก” ดีแทคไปได้เปลาะหนึ่ง จากความตึงของคลื่นความถี่ที่มีอยู่จะลดน้อยลงไป เมื่อได้คลื่น 2300 ของทีโอทีมาช่วย ในช่วงที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่ากสทช.จะจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ในกลางปีนี้ได้จริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 เม.ย.) บมจ.ทีโอที และ เทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มดีแทค ไตรเน็ต พร้อมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 เมกะเฮิรตซ์ อย่างเป็นทางการเรียบร้อย เพื่อเปิดให้บริการ 4จีแอลทีอี-ทีดีดี คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์

ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีระยะเวลาถึงปี พ.ศ. 2568 บมจ.ทีโอที จะเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต เพื่อนำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (ฟิกซ์ ไวร์เลส บรอดแบนด์) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (โมบาย บรอดแบนด์) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (คาปาซิตี้) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ และความจุโครงข่าย อีกส่วนหนึ่ง จะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โรมมิ่ง) โดย ทีโอที จะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท

หนึ่งในแผนพลิกฟื้นทีโอที

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เปิดเผยว่า จากแนวนโยบาย แผนการบริหารและมาตรการต่างๆ ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดให้คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที กำกับดูแลให้ ทีโอที ดำเนินงานตามแผนพลิกฟื้นองค์กร ด้วยการจัดทำ “แผนดำเนินงานที่ใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด” จนมาถึงวันนี้ได้นั้น ทีโอที ได้รับความอนุเคราะห์และความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน โดยกสทช.อนุญาตให้ ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 ที่ใช้งานอยู่เดิม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำมาให้บริการเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ ภายใต้แผนการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300

โดยจากผู้สนใจ 6 รายที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นพันธมิตรคู่ค้าบริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 กลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต เป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก ทุกขั้นตอนโดยทีมงานที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการสรรหาคู่ค้าระดับโลก ซึ่งก็คือ บริษัท เดเทคอน และไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ ที่เริ่มกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการสรรหาคู่ค้าอย่างละเอียด ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ผลงาน รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา และตลอดจนผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ ทีโอที มั่นใจได้ว่า พันธมิตรคู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ปรึกษาจะส่งเสริมการทำธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะบริการไร้สายของ ทีโอที ในระยะยาว และสร้างหลักประกันด้านการเงินให้กับ ทีโอที ได้เป็นอย่างดี 

ดีแทคชี้เพิ่มศักยภาพแข่งขัน 

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า คลื่นที่ได้จะนำมาเพิ่มคุณภาพบริการ และพลิกประสบการณ์การใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคที่จะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้น ลื่นขึ้นมากกว่าเดิม การนำคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ มาเปิดให้บริการครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยให้อยู่ในอันดับผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และช่วยกระตุ้นกระบวนการการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล”

“ดีแทคต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำให้การลงนามในสัญญานี้ประสบความสำเร็จ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และ กสทช. ทั้งนี้ ดีแทคมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้โอกาสร่วมมือกับทาง ทีโอที เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ดิจิทัล” นายลาร์ส กล่าว

กำไรโตแกร่งอิบิทด้าพุ่ง43% 

พร้อมกันนี้ ดีแทคแถลงผลประกอบการไตรมาส 1/2561 เติบโตของกำไรสุทธิอย่างแข็งแกร่ง โดยมี EBITDA อยู่ที่ 43.8% เพิ่มขึ้น 8.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) ลดลงเล็กน้อย 1.1%  มีฐานลูกค้ารวมเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 21.8 ล้านเลขหมาย โดยประมาณ 98% ลงทะเบียนใช้งานภายใต้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต นอกจากนี้ ดีแทคยังคงพัฒนาเครือข่าย 4จีบนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์อย่างต่อเนื่อง โดยได้ติดตั้งเสาส่งสัญญาณและสถานีฐานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการสิ้นสุดของสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 โดยดีแทคมั่นใจว่าจะสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่องโดยไม่มีผลกระทบ ไม่ว่าการประมูลคลื่นความถี่จากสัมปทานเดิมที่หมดอายุลง จะถูกจัดขึ้นเมื่อไร 

แบนด์วิดท์กว้างสุดในตลาด 

นอกจากนี้ การร่วมเป็นพันธมิตรกับทีโอทีในการให้บริการบนโครงข่ายคลื่นความถี่ 2300 นั้น จะส่งผลให้เครือข่าย4จีของดีแทคมีแบนด์วิดท์ที่กว้างที่สุดในตลาด พร้อมรองรับความต้องการในการใช้บริการข้อมูลที่สูงขึ้น และเสริมสร้างประสบการณ์ใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สายของลูกค้าบนโครงข่ายดีแทค ซึ่งปัจจุบันครอบคลุม94%ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยในช่วงไตรมาส 1/2561จำนวนผู้ใช้บริการ4จีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.5 ล้านเลขหมาย และสัดส่วนผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาที่ 55%

แม้ว่ารายได้รวมจะลดลงในไตรมาส 1/2561แต่ EBITDAเติบโตอย่างแข็งแกร่งมาอยู่ที่ 8,400ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการลดลงของค่าธรรมเนียม การอุดหนุนค่าเครื่อง และค่าใช้จ่ายในการขายและดำเนินการ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนขยายเครือข่ายภายใต้ระบบใบอนุญาต กำไรสุทธิในไตรมาสที่1เพิ่มขึ้น 474%มาอยู่ที่ 1,300ล้านบาท เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของ EBITDA และการปรับปรุงการตั้งสำรองสำหรับกรณีข้อพิพาทในเรื่องส่วนแบ่งรายได้กับ กสท นอกจากนี้ กระแสเงินสดจากการดำเนินการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5,800 ล้านบาท และอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเงินสดในมืออยู่ที่ 29,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ดีแทคยังคงประมาณการทางการเงินสำหรับปี 2561ไว้ในระดับเดิม โดยคาดการณ์ว่ารายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมไอซี) จะใกล้เคียงกับปีก่อน งบลงทุนโครงข่ายอยู่ระหว่าง 15,000 -18,000 ล้านบาท

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ