ข่าว

กพช.ไฟเขียวคลอด "ทีโออาร์"เข้มสเปคชิง'เอราวัณ-บงกช'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กพช.ไฟเขียวคลอด "ทีโออาร์"เข้มสเปคชิง'เอราวัณ-บงกช'

 

การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่กำลังจะสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณ และบงกชมีความคืบหน้า หลังจากมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะประกาศเชิญชวนการประมูลในวันที่ 24 เม.ย.นี้ ตามการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข (ทีโออาร์) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี)

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า การประมูลปิโตรเลียมต้องทำให้ชัดเจนในสิ่งที่มีมุมมองแตกต่างกัน โดยพิจารณาทุกมิติเพื่อให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบการและประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากพลังงาน รวมทั้งต้องทำให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพราะจำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงการใช้พลังงานของชุมชน 

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดประมูลครั้งนี้กำหนดทีโออาร์ดังนี้ 1.ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่อง 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และต้องผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณการผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่อง 10 ปี ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช)

2.ผู้ร่วมประมูลต้องเสนอราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่สูงไปกว่าราคาเฉลี่ยของราคาก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน ตามสูตรราคาที่กำหนดในเงื่อนไขประมูล โดยล่าสุดราคาซื้อขายก๊าซ ณ เดือน ก.พ.2561 แหล่งเอราวัณอยู่ที่ 165 บาทต่อล้านบีทียู และแหล่งบงกช อยู่ที่ ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู 

3.ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้รัฐไม่ต่ำกว่า 50% และเสนอผลประโยชน์พิเศษ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต  4.ผู้ประมูลต้องเสนอสัดส่วนการจ้างพนักงานไทยไม่ต่ำกว่า 80% ในสิ้นปีที่ 1 และไม่ต่ำกว่า 90% ในสิ้นปีที่ 5 ของการดำเนินงาน

นายกฯย้ำจ้างงานคนไทย

“นายกฯ ย้ำให้ความสำคัญกับการจ้างพนักงานคนไทยทุกระดับ โดยจ้างพนักงานที่ทำงานอยู่ปัจจุบันเป็นอันดับแรก ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่กระทบผู้ปฏิบัติงานที่มีการจ้างงานโดยตรงกว่า 2,000 คน และแรงงานสืบเนื่อง 4-5 เท่า รวมพนักงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกว่า 1 หมื่นคน” นายศิริ กล่าว

สำหรับปริมาณก๊าซสำรองทั้ง 2 แหล่งในปัจจุบันมีอัตราการผลิตรวม 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งผลิตไปแล้ว 75% ของปริมาณสำรองก๊าซ คาดว่าเหลือก๊าซ 25-30% เพียงพอต่อความต้องการใช้ก๊าซที่กำหนดการผลิตขั้นต่ำจาก 2 แหล่งไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ใน 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้กำลังผลิตก๊าซรวม 2 แหล่งที่ 2,110 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน ในส่วนนี้มีกำลังผลิตส่วนเกิน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากความต้องการใช้ของภาคปิโตรเคมี (ผ่านโรงแยกก๊าซ) อยู่ที่ 1,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากยึดอัตราการผลิตก๊าซขั้นต่ำที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะขาดก๊าซราว 200 ล้านลูกบาศก์ต่อวันเท่านั้น จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรฯ

นายศิริ กล่าวว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ควรประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ส่วนบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งรับสัมปทานแหล่งเอราวัณในปัจจุบันสนใจประมูลเพื่อดำเนินการต่อเนื่อง แต่ในแหล่งบงกช ยังไม่ได้รับคำยืนยันว่าจะร่วมประมูลหรือไม่

กำหนดเงินทุนหมุนเวียนขั้นต่ำ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล เบื้องต้น 1.กำหนดให้บริษัทต้องมีเงินทุนหมุนเวียนย้อนหลังในรอบ 2 ปี โดยแหล่งเอราวัณ ต้องมีเงินทุน 4,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนแหล่งบงกช ต้องมีเงินทุน 2,000 ล้านดอลลาร์ กรณีที่บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลมีเงินหมุนเวียนไม่ครบตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถให้บริษัทแม่เป็นผู้รับรองเงินหมุนเวียนแทนได้ และ 2.ต้องมีอัตรากำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนขั้นตอนเมื่อประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าประมูลแล้วจะคัดกรองบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ 1 เดือน หรือภายในเดือนพ.ค.2561 และให้ผู้ที่ผ่านการคัดกรองมาศึกษาข้อมูลแหล่งผลิตเป็นเวลา 4 เดือน จากนั้นผู้ที่ผ่านคุณสมบัติสามารถเข้ามาศึกษาข้อมูลแหล่งผลิตภายในเวลา 4 เดือน หลังจากนั้นจะให้ทำข้อเสนอการประมูลยื่นมายังกรมฯประมาณเดือน ก.ย. 2561 และใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอ 2 เดือนครึ่ง โดยจะคัดเลือกให้เสร็จในเดือนธ.ค. 2561 และจะลงนามสัญญาเดือนก.พ. 2562

คาดมูบาดาลาประมูลเอราวัณ

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า การประมูลครั้งนี้คาดว่าจะมีผู้สนใจยื่นประมูลไม่ต่ำกว่า 3 ราย คือ ปตท.สผ.ที่จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิมคือบริษัท โททาล อีแอนด์พี ไทยแลนด์ เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 แหล่ง ส่วนเชฟรอน จะจับมือกับบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด เชื่อว่าจะเข้าประมูลทั้ง 2 แหล่งเช่นกัน เพราะการผลิตทั้ง 2 แหล่งจะช่วยให้ต้นทุนต่ำลง 

ขณะที่บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ประเทศไทย เบื้องต้นแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลแต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะประมูลแหล่งใด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะยื่นประมูลแหล่งเอราวัณ เพราะอยู่ใกล้กับฐานผลิตในปัจจุบันของมูบาดาลา 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กลุ่มแหล่งเอราวัณมีปริมาณการผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565

ขณะที่กลุ่มแหล่งบงกช มีปริมาณการผลิต 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 โดยจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 และจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566

ปตท.สผ.พร้อมประมูล2แหล่ง

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.กล่าวว่า ทั้ง 2 แหล่งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์พลังงานเพราะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติ 60% ของการผลิตก๊าซธรรมชาติของไทย และ ปตท.สผ.ตั้งมาเพื่อเป็นตัวแทนรัฐทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ดังนั้น ปตท.สผ.จะร่วมประมูล โดยมั่นใจว่าความชำนาญในการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกช 20 ปี จะทำให้เข้าใจธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียม และหาก ปตท.สผ.ได้รับเลือกให้ดำเนินการต่อจะสร้างความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ประเทศ และการผลิตไม่หยุดชะงัก

ทั้งนี้ การประมูลแหล่งบงกชมีแผนประมูลกับผู้ร่วมทุนรายเดิม หรือ บริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์ เพราะเป็นพันธมิตรที่ดีและใช้ความรู้เทคโนโลยีร่วมกันได้มีประสิทธิภาพ สำหรับแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ.จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิม โดยกำลังเจรจากับเชฟรอน และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าประมูลกรณีที่หาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้  ส่วนทีโออาร์นั้นขอดูในรายละเอียดอีกครั้ง โดยเชื่อมั่นว่ารัฐจะพิจารณาจากผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก และเชื่อว่ารัฐจะรักษาสมดุลโดยดูหลายองค์ประกอบ เพื่อดึงดูดให้บริษัทน้ำมันเข้าร่วมประมูล

ส.อ.ท.ชี้ข่าวดีเดินหน้าประมูล

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานสถาบันพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การออกประกาศเชิญชวนร่วมประมูลปิโตรเลียมถือเป็นข่าวดีสำหรับเอกชนที่จะมีก๊าซเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อเนื่อง เพราะทีโออาร์กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำในการผลิตก๊าซจึงไม่ต้องนำเข้าต่างประเทศและยืนยันได้ว่าราคาก๊าซจะไม่แพงกว่าปัจจุบัน

ส่วนผู้ชนะประมูลจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ไม่สำคัญไปกว่าการมีผู้มาผลิตก๊าซให้ต่อเนื่อง และเมื่อดูชื่อของ 3 บริษัทที่สนใจประมูล คือ ปตท.สผ. เชฟรอน และมูบาดาลา มีคุณสมบัติทัดเทียมกันและพร้อมด้านการเงิน และมีประสบการณ์การผลิตก๊าซ แม้ว่ามูบาดาลาจะไม่เคยผลิตแหล่งที่ประมูลแต่ก็มีประสบการณ์ผลิตก๊าซในอ่าวไทย ดังนั้นทั้ง 3 รายนี้ ไม่ว่าใครชนะก็จะเป็นประโยชน์กับไทย ส่วนรายอื่นน่าจะเสียเปรียบทั้ง 3 ราย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ