ข่าว

วัดกำลัง3ตัวเต็งชิงเอราวัณ-บงกช!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดกำลัง'ปตท.สผ.-เชฟรอน-มูบาดาลา'3ตัวเต็งชิงเอราวัณ-บงกช

 

พลังงาน ส่ง ปตท.สผ.ชิงแข่งประมูล2 แหล่งก๊าซในอ่าวไทย ขณะที่ เชฟรอนฯ ประมูลอย่างน้อย 1 แหล่ง แนะจับจามูบาดาลาร่วมวง นักวิชาการ ชี้ทุนยักษ์ปิโตรเลียมทั้ง 3 กลุ่ม มีชื่อเสียงระดับโลกการันตี ฐานะการเงินแกร่ง พร้อมเชื่อเงื่อนไข “ทีโออาร์” รัดกุม มั่นใจประเทศได้ประโยชน์สูงสุด ด้าน ปตท.สผ.ยืนยันจับมือโททาลร่วมประมูลบงกช

 

วันนี้ (23 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) การประชุมครั้งนี้จะพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขหลักเกณฑ์ (ทีโออาร์) เปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะสิ้นสุดสัปทานในปี 2565-2566 และถ้าอนุมัติจะออกประกาศเชิญชวนร่วมประมูลและเกณฑ์คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น (Pre-Qualification) ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าจะมีผู้ประมูลไม่น้อยกว่า 3 ราย

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประมูล 2 รายแรกชัดเจนว่า จะเป็นผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นผู้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตแหล่งเอราวัณ โดยกลุ่ม เชฟรอนจากสหรัฐ และอีกรายผู้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตแหล่งบงกช คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

โดยเบื้องต้น ปตท.สผ.ในฐานะบริษัทของไทย จะจับมือกับพันธมิตรรายเดิม คือ บริษัท โททาล อีแอนด์พี ไทยแลนด์ จากฝรั่งเศส เข้าร่วมประมูลแข่งขันทั้ง 2 แหล่ง หลังจากไม่สามารถเจรจาเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่งเอราวัณกับกลุ่มเชฟรอนฯ ได้สำเร็จ เพราะยังไม่ตกลงการบริหารจัดการร่วมกันไม่ลงตัว อีกทั้งภาครัฐต้องการให้ ปตท.สผ.ดำเนินการประมูลทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงและเป็นประโยชน์ต่อราคาก๊าซและเกิดความต่อเนื่องในการผลิต อีกทั้งยังปิดความเสี่ยงกรณีที่หากไม่มีรายอื่นเข้าร่วมการประมูลครั้งนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันแหล่งบงกช มี ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินสัดส่วนการลงทุน 44.4445% และโททาล ในสัดส่วน 33.3333% โดย ปตท.สผ.ลงทุนใน 10 ประเทศ ส่วนการลงทุนในไทยมี 8 โครงการ ในปี 2560 มีการขายปิโตรเลียม 3 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนโททาลเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสัญชาติฝรั่งเศสอันดับ 4 ของโลก ทำธุรกิจใน 130 ประเทศ โดยปี 2560 มียอดขายน้ำมันและก๊าซ 1.715 แสนล้านดอลลาร์

เชฟรอนครองสัดส่วนผลิตก๊าซ50%

ขณะที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จากสหรัฐ ยังคงจับมือกับพันธมิตรเดิม คือ บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด (MOECO) ของญี่ปุ่น เข้าร่วมการประมูลแหล่งเอราวัณอย่างแน่นอน แต่ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะเข้าแข่งประมูลแหล่งบงกชด้วยหรือไม่ โดยเชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของโลกก่อตั้งปี 2422 ปัจจุบันทำธุรกิจใน 100 ประเทศ ส่วนการลงทุนในไทยเริ่มเมื่อปี 2548 หลังผนวกรวมกิจการกับยูแคลไทยแลนด์ และปัจจุบันผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันดิบ โดยก๊าซธรรมชาติที่เชฟรอนผลิตได้ในไทยคิดเป็น 50% ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ ก๊าซธรรมชาติที่เชฟรอนผลิตได้ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

คาดการแข่งขันประมูลเข้มข้น

ส่วนบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ประเทศไทย เป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ติด 1 ใน 5 ของโลก ที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตฯ ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ และจะประมูลกี่แหล่ง แต่ด้วยศักยภาพทางการเงินของบริษัทแล้ว สามารถแข่งขันกับเชฟรอนฯ และปตท.สผ.ได้ ซึ่งมั่นใจว่าการประมูลครั้งนี้จะเห็นภาพการแข่งขันที่เข้มข้น หากการออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลและคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเบื้องต้น(Pre-Qualification :PQ)หลังวันที่ 24 เม.ย.นี้ มีผู้สนใจยื่นแข่งขันไม่ต่ำกว่า 3 ราย

“หากมูบาดาลาร่วมประมูลคงจะมาในเชิงยุทธศาสตร์ขยายลงทุนในอาเซียน เพราะเดิมเน้นขายน้ำมันและก๊าซให้กับสหรัฐ แต่หลังจากสหรัฐพบแหล่งพลังงานทำให้ลดการสั่งซื้อลง ขณะที่อาเซียนเศรษฐกิจเติบต่อเนื่อง จึงเป็นฐานสำคัญที่ยูเออีจะมุ่งลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐาน ซึ่งในแง่ของรัฐอยากให้มูบาดาลาจับมือกับ ปตท.สผ.เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงินในการลงทุนปิโตรเลียมในอนาคต” แหล่งข่าว กล่าว

ปตท.สผ.ยืนยันจับมือโททาล

ปตท.สผ.ชี้แจงความพร้อมในการประมูลปิโตรเลียมครั้งนี้ว่า การประมูลโครงการบงกชนั้นบริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูลร่วมกับผู้ร่วมทุนรายเดิม (บริษัท โททาล อีแอนด์ พี ไทยแลนด์) เนื่องจากโททาลเป็นพันธมิตรในการลงทุนที่ดีและใช้ความรู้และเทคโนโลยี ที่มีร่วมกันในการพัฒนาโครงการบงกชได้มีประสิทธิภาพ 

สำหรับแหล่งเอราวัณ ปตท.สผ. มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากปัจจุบัน โดยกำลังเจรจากับเชฟรอนที่เป็นผู้ดำเนินการปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าประมูลในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้

ทั้งนี้ แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกชและเอราวัณถือเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของไทย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันคิดเป็น 60% ของการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการที่ ปตท.สผ.ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวแทนของประเทศทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ บริษัทจึงมีหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการในแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าว

ปตท.สผ.เชื่อว่าความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งบงกชที่ดำเนินการมา 20 ปี ทำให้บริษัทเข้าใจลักษณะธรณีวิทยาของแหล่งเป็นอย่างดี รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนมาต่อเนื่องทำให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และหาก ปตท.สผ.ได้รับเลือกให้ดำเนินการต่อจะสร้างความต่อเนื่องการผลิตก๊าซธรรมชาติให้ประเทศโดยไม่หยุดชะงักในการผลิต และสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐได้มากกว่า

เตรียมแผนกรณีประมูลไม่ได้

นอกจากนี้ หาก ปตท.สผ.ไม่ได้รับเลือกให้ดำเนินการต่อในแหล่งบงกชก็มีแผนลงทุนโครงการในประเทศและต่างประเทศ เช่น โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน, โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ, โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และ 52/97, แหล่งอุบล ในโครงการคอนแทร็ค 4 รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวร่วมกับ ปตท. และการหาโอกาสลงทุนด้วยการซื้อกิจการ โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ผลิตแล้วหรือกำลังจะเริ่มผลิตในอาเซียนที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ และภูมิภาคอื่นที่มีศักยภาพสูงเพื่อรักษาปริมาณการผลิตและการเติบโตทางธุรกิจ

ทั้งนี้ หากที่ประชุม กพช.ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ยังไม่มีข้อสรุป จะส่งผลให้การประมูลล่าช้าและกระทบประเทศมาก โดยรวมเป็นมูลค่าปีละ 350,000 ล้านบาท เช่น จากก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบ รายได้รัฐที่เสียไป การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่ง ปตท.สผ.ขอสนับสนุนภาครัฐให้เร่งประมูลเพื่อประโยชน์กับประเทศและลดผลกระทบ

 

จับตา“มูบาดาลา”กล้าได้กล้าเสีย

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า หากประเมินทั้ง 3 บริษัท คือ ปตท.สผ.,เชฟรอน และมูบาดาลา เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ระดับโลก แต่ถ้ามองแง่การมาลงทุนแหล่งเอราวัณและบงกช ต้องยอมรับว่า ปตท.สผ. และเชฟรอนได้เปรียบเรื่องข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ดำเนินงานร่วม 30 ปี ทำให้คำนวนเงินลงทุนและผลตอบแทนการลงทุนได้ดีกว่า

ขณะที่มูบาดาลา แม้ว่าจะมีความเสียเปรียบด้านข้อมูลเชิงลึก แต่ก็อาจได้เปรียบเรื่องความกล้าได้กล้าเสียที่อาจกล้าตัดสินใจเสนอผลตอบแทนรัฐดีกว่า 2 รายเดิม ส่วนเรื่องสถานะทางการเงินนั้น ทั้ง 3 บริษัทมีความแข็งแกร่งและพร้อมแข่งขันการประมูลได้ทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชไม่ต่างกัน ซึ่งใครจะชนะนั้นคงเป็นเรื่องการแข่งขันทางเทคนิค

นอกจากนี้ หาก 2 รายเดิมชนะประมูลจะดีต่อประเทศเพราะการผลิตก๊าซต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นรายใหม่ก็อาจไม่มีปัญหา เพราะก่อนยื่นประมูลคงมั่นใจว่าทำตามทีโออาร์ได้ ซึ่งกำหนดให้แหล่งเอราวัณรักษาการผลิตไม่ต่่ำกว่า 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกชต้องไม่ต่กว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“การประมูลรอบนี้ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง หากไม่ปล่อยให้รายเล็กรายน้อยเข้ามาร่วมประมูลและซอยสัญญา เพราะเท่าที่ดูจากเงื่อนไขTOR ที่กำหนดให้แข่งขันราคาก๊าซไม่แพงไปกว่าปัจจุบันและต้องเกิดความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซ ก็ถือว่ามีความรัดกุม นับว่าเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศแล้ว” นายมนูญ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ