ข่าว

"ดีอี" หนุนรัฐใช้ ม.44 ช่วยผู้ประกอบการมือถือ-ทีวีดิจิทัล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดีอี" หนุนรัฐใช้ ม.44 ช่วยผู้ประกอบการมือถือ-ทีวีดิจิทัลอย่ามองแค่ประโยชน์รัฐต้องมองผลประโยชน์ชาติและประชาชนด้วย

 

                แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ให้ความเห็นถึงกรณีที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาคัดค้านการที่รัฐบาลและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จะออก ม.44 ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและมือถือ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลและกสทช.จะช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 2 ราย เนื่องจากทั้ง 2 ค่ายมือถือยังคง มีผลประกอบการที่ดี และมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ และต่างก็ยอมรับเงื่อนไขการประมูลมาตั้งแต่ต้นจึงควรรับความเสี่ยงไว้เองนั้น  ประเด็นการนำเสนอของ กสทช.ที่จะขอให้ คสช.นำ ม.44 ขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ในงวดที่ 4 ออกไป 5 ปี จนถึงปี 2567 นั้นว่า การที่ทีดีอาร์ไอมองว่าหากรัฐบาลยอมให้ผ่อนจ่ายค่าไลเซนส์ออกไปเท่ากับเป็นการอุ้มเอกชน เป็นเพราะทีดีอาร์ไอมองแค่ประโยชน์ของภาครัฐเท่านั้น ไม่ได้มองไปถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยรวม และเห็นว่ากรณีดังกล่าวจะมองแต่เรื่องของผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับเพียงด้านเดียวไม่ได้

 

       ทั้งนี้ หากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับการผ่อนผัน เท่ากับว่าผู้ประกอบการจะมีโอกาสนำเงินไปลงทุนในการพัฒนาโครงข่ายเพื่อสนองและสอดรับนโยบายรัฐบาลที่ในการกระตุ้นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่สำคัญหากรัฐบาลและ  กสทช.ยังคงยืนกรานที่จะไม่ผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมก้อนใหญ่ ก็เชื่อแน่ว่าจะส่งผลต่อการประมูลคลื่นความถี่ 4 จีบนคลื่น 900 และ 1800 รอบใหม่ ที่จะเหลือผู้ประกอบการดีแทคเพียงค่ายเดียวเข้าประมูล ขณะที่ 2 ค่ายมือถือที่ต้องเตรียมเงินหมดหน้าตักไปจ่ายค่าธรรมเนียมให้รัฐนั้นจะไม่อยู่ในสถานะที่จะร่วมประมูลด้วยแน่

            “ทั้งทรูมูฟและเอไอเอสวันนี้ต่างมีคลื่นความถี่ในมือมากกว่า 50 เมกที่มากพอจะดูแลลูกค้าในระดับหนึ่งอยู่แล้วหากถูกบีบให้ชำระค่าธรรมเนียมส่วนที่เหลือในงวดเดียวหมดหน้าตัก 2 ค่ายคงไม่เข้าร่วมประมูลแน่ ผลเสียที่จะเกิดตามมานอกจากจะไม่มีการแข่งขันแล้ว หากท้ายที่สุด กสทช.ต้องเลื่อนการประมูลออกไปหรือเก็บคลื่นความถี่ 4 จีกลับไปด่วยอีกผลเสียจะเกิดต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวมทันที ขณะที่นักวิชาการนั้นมีแต่จะลอยตัวเหนือปัญหาเพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร”

             ส่วนการคำนวณผลประโยชน์ที่อ้างว่ารัฐจะยกประโยชน์ให้เอกชนไปถึง 15% มีส่วนต่างกว่า 30,000 ล้านบาทนั้น เป็นการอ้างอิงจากดอกเบี้ยผิดนัด ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น และเอกชนเองก็ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ แต่เป็นการขอผ่อนปรนการชำระค่าธรรมเนียมออกไปเท่านั้นโดยรัฐยังคงได้รับค่าธรรมเนียมโดยรวมครบถ้วน “หากจะอิงดอกเบี้ยตลาดของแบงก์ใหญ่มาคำนวณยังจะพอยอมรับได้ แต่ก็อย่าลืมว่าเอกชนนั้นไม่ได้มีภาระแค่ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายรัฐเท่านั้น ยังมีภาระต้องจ่ายเงินกู้ยืมที่ต้องนำมาจ่ายรัฐด้วย

               นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวยืนยันว่า บริษัทจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz อย่างแน่นอน โดยคาดหวังว่า กสทช.จะมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ภายในปีนี้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ