ข่าว

ยกระดับ"รถไฟฟ้ารฟท."บริหารเดินรถสายสีแดง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีโออาร์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินใกล้คลอดเหลือวงเงินค้ำประกัน

 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การร่างเงื่อนไขประมูล (ทีโออาร์) โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุนราว 2.2 แสนล้านบาท ได้ข้อสรุปในประเด็นหลักเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ร่างทีโออาร์เบื้องต้นกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด วงเงินราว 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะร่วมลงทุนกับเอกชนไม่เกินวงเงินนี้ ในอนาคตถ้าเอกชนมีรายได้มากกว่าประมาณการณ์ก็ต้องแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้ภาครัฐด้วย โดยประมาณการณ์รายได้จะคิดเฉลี่ยมาจาก 3 ส่วน คือ 1.รายได้จากรถไฟความเร็วสูง 2.รายได้จากแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ 3.รายได้จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (ทีโอดี)

“การร่างทีโออาร์ยังเหลือประเด็นเล็กน้อยที่ต้องตัดสินใจ เช่น การวางหนังสือค้ำประกัน เพราะถ้ากำหนดวงเงินค้ำประกันมากเกินไป ก็จะเป็นภาระการลงทุนของเอกชน แต่ถ้าน้อยเกินไป ภาครัฐก็จะปรับเงินได้น้อย ในกรณีที่เอกชนผิดสัญญา”

นอกจากนี้ คณะทำงานฯ และผู้เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องร่างทีโออาร์และประกาศเชิญชวนเอกชนอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นเดือน เม.ย. นี้ ส่วนการออกประกาศเชิญชวนเอกชนยังไม่ได้กำหนดวันเวลาที่แน่นอน เพราะมีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์

 

 

 

นายอานนท์ กล่าวว่า การโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ไปให้ผู้ชนะการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ร.ฟ.ท.จะโอนหนี้สินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทไปให้รัฐบาลชำระแทน และจะโอนหนี้สินการลงทุนระบบอาณัติสัญญาณวงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทไปให้เอกชนรับภาระ

เอกชนจะต้องชำระหนี้ทั้งหมดก่อนรับโอนแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เมื่อเข้าบริหารแล้ว เอกชนก็ต้องลงทุนระบบอาณัติสัญญาณ จัดซื้อขบวนรถ และดูแลโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ต เรล ลิงค์เองทั้งหมดเป็นระยะเวลา 50 ปี ตามอายุสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูง

สำหรับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟฯ และเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ในปัจจุบัน ก็จะถูกยกระดับและจะมอบหมายให้ไปบริหารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่เปิดให้บริการปี 2563-2564 แทน โดยจะเพิ่มภารกิจและอำนาจตัดสินใจให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ในปัจจุบัน

“การรถไฟฯ จะอัพเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จากปัจจุบันที่เดินรถอย่างเดียว ในอนาคตก็จะเพิ่มทุนให้ เพิ่มอำนาจการตัดสินใจ และเพิ่มภารกิจ เช่น เรื่องการบริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง การทำตลาด และการรับรู้รายได้ เพื่อให้เป็นบริษัทแบบ Profit Center คิดง่ายๆ คือเหมือนบีทีเอสและต้องมีรายได้ในระดับที่อยู่รอด” นายอานนท์กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังระบุว่า ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเสนอให้การรถไฟฯ นำค่าสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ 10,671 ล้านบาท ที่ได้รับจากเอกชนผู้ร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มาชำระหนี้ของแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ เพื่อให้การรถไฟฯ หมดภาระหนี้ที่มีจากโครงการนี้ 

ในขณะที่สำนักงบประมาณเห็นว่า การที่รัฐบาลรับภาระหนี้แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ของการรถไฟฯ 22,558 ล้านบาท สอดคล้องกับแนวทางการรับภาระค่าใช้จ่ายโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ตามมติ ครม.วันที่ 4 พ.ค.2553 และการที่รัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานต้องไม่ให้ซ้ำซ้อนในกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ