ข่าว

จีพีเอสซีจ่อป้อนไฟ3โรงงานอีอีซี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จีพีเอสซีจ่อป้อนไฟ3โรงงานอีอีซี

 

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี เปิดเผยภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2561 ของจีพีเอสซี ว่า บริษัท เตรียมยื่นเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ในกับ 3 โครงการใหม่ ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี คือโครงการส่วนขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จ.ระยอง ซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการ คือ โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ โครงการผลิตสารโพรพิลีน ออกไซด์ และโครงการผลิตสารโพลีออลส์

โดยคาดว่า ทั้ง 3 โครงการดังกล่าว จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้า ราว 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและไอน้ำ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ และคาดว่าจะรู้ผลการประมูลได้ในไตรมาส 2 เพราะต้องเริ่มก่อสร้างโครงการในปีนี้ เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทันกับความต้องการใช้ของทั้ง 3 โครงการ ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2563

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายการเติบโตไปพร้อมกับการขยายการลงทุนของบริษัทในเครือปตท. เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่มีแผนขยายโรงกลั่น เป็นต้น ขณะที่ ยังมองโอกาสเข้าไปแข่งขันผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม หากมีบริษัทนอกกลุ่ม ปตท.เข้ามาลงทุนในอีอีซี

ส่วนโครงการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทเตรียมยื่นเสนอแพ็คเกจลงทุนร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ให้กับรัฐบาลกลางของเมียนมา เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ในเมียนมาเอง ซึ่งเบื้องต้น จะเป็นการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากรัฐบาลเมียนมา รวมถึงบริษัทได้ศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติมในลาว และหาโอกาสต่อยอดการลงทุนในญี่ปุ่นเพิ่มเติม

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนโรงงานผลิตระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage)หรือ โรงงานแบตเตอรี่ ที่ใช้เทคโนโลยีของ “24M Technologies” ในสหรัฐ กำลังผลิตเฟสแรก 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง งบลงทุน 50 ล้านดอลลาร์ จะเป็นไปตามแผน คือ เริ่มก่อสร้างปีนี้ และเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ ปลายปี 2562 โดยในอนาคตจะต้องหาพันธมิตรเพื่อผลิตเป็นระบบกักเก็บพลังงาน 

ปัจจุบัน ได้จับมือกับ AMPD พันธมิตรจากฮ่องกง ที่มีความสนใจเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ทดลองตลาดโดยผลิตเป็นระบบกักเก็บพลังงานขายให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริมาณ 17 กิโลวัตต์-ชั่วโมง 4 แสนบาท เพื่อใช้ในโครงการโครงการข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จำเป็นต้องใช้ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่แบบลิเธียม ส่วนในอนาคตจะจับมือกับ AMPD หรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้  

ที่มา:·กรุงเทพธุรกิจ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ