ข่าว

เลื่อนตั๋วร่วมอีก4เดือน ใช้อีเอ็มวีต้นทุนลด50%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลื่อนตั๋วร่วมอีก4เดือน ใช้อีเอ็มวีต้นทุนลด50%

 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (ตั๋วแมงมุม) วานนี้ (3 เม.ย.) ว่าได้เห็นชอบหลักการให้นำเทคโนโลยี อีเอ็มวี(Europay, Master Card,Visa) มาใช้ในระบบ เพื่อรองรับการจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเติมเงิน (Pre-paid) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารและประหยัดงบลงทุน

เบื้องต้นคาดว่าเทคโนโลยีอีเอ็มวีจะลดวงเงินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมลง 50% ในระยะเวลา 20 ปี จากเดิมอยู่ที่ 4 พันล้านบาท เหลือ 2 พันล้านบาท เนื่องจากไม่มีต้นทุนการบริหารจัดการค่าโดยสารและต้นทุนในการออกบัตร เพราะธนาคารและสถาบันการเงินจะเป็นผู้ออกบัตรอีเอ็มวี ทั้งหมด

โดยที่ประชุมให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) ไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายคือ เสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยีอีเอ็มวีให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ รวมทั้งดำเนินการติดตั้ง ปรับปรุงระบบซอฟท์แวร์และเครื่องอ่านบัตรให้เรียบร้อย คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2562 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมไม่ได้ยกเลิกตั๋วร่วมหรือตั๋วแมงมุมแบบเดิม โดย สนข. ได้จัดทำบัตรแมงมุมออกมาแล้ว 2 แสนใบ คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ได้พร้อมกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 1.3 แสนใบ และบัตรเอ็มอาร์ทีพลัส ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งจะใช้ในการเดินทาง 4 ระบบ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง รถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชน (รถเมล์ขสมก.) จำนวน 2,600 คัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อใช้ในรถไฟฟ้าสีเขียว (BTS)

“ในอนาคตใครถือบัตรอีเอ็มวีหรือมีบัตรเครดิต ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศก็สามารถใช้บัตรแตะชำระค่าโดยสารในระบบตั๋วร่วมในไทยได้ครบทุกโหมดการเดินทาง ใช้บัตรเดียวเที่ยวได้ทั่วโลกเพียงแต่มีบัตรเครดิต” นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับระบบอีเอ็มวี ปัจจุบันได้รับความนิยมในหลายประเทศ เช่น ในอังกฤษ สิงคโปร์ เพราะเป็นเครือข่ายของวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด โดยปัจจุบันระบบบัตรเครคิตในโลก 90% เป็นระบบอีเอ็มวี ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีผู้ถือบัตรเครดิตในระบบอีเอ็มวีมากถึง 70 ล้านใบ แบ่งออกเป็น บัตรเดบิต 50 ล้านใบ และบัตรเครดิต 20 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมได้เลื่อนการเปิดให้บริการตั๋วร่วมแบบเดิมออกไปอีก 3 เดือน เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2561 จากเป้าหมายเดิมคือ รถเมล์ ขสมก. จะเปิดให้บริการทั้งหมด 2,600 คันในเดือน มิ.ย. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดให้บริการเดือน ส.ค. รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 สายเปิดให้บริการเดือน พ.ย. นี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  กล่าวว่า รฟม. อยู่ระหว่างเจรจาขอพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519 ล้านบาทและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,931ล้านบาท จากกรมทางหลวง (ทล.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะกระทบต่อพื้นผิวจราจร

โดย รฟม. ต้องรวบรวมพื้นที่ให้ได้ 95% จากนั้นจึงส่งมอบให้ผู้รับสัมปทานคือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เริ่มต้นก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดในเดือน มิ.ย.อย่างไรก็ตาม สัญญาไม่ได้กำหนดให้ รฟม. ต้องจ่ายค่าชดเชยให้เอกชน ในกรณีที่ รฟม. ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า แต่ถ้าเอกชนต้องการเรียกร้องค่าเสียหายจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2560 (PPP)

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ