ข่าว

จากงาน“ไอทีบี2018”สู่ท่องเที่ยวเมืองรอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากงาน“ไอทีบี2018”สู่ท่องเที่ยวเมืองรอง เป้าหมื่นล้านดึงเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจฐานราก

 

               ไม่เพียงคนไทยที่ได้รับประโยชน์ด้วยการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดทั่วไทย แต่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายังมีแผนดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่พื้นที่ดังกล่าว นอกจากช่วยลดการกระจุกตัวในเมืองหลักแล้วยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้นำผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 83 ราย ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมงานมหกรรม International Tourism Borse 2018 (ITB) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม ที่ แมสส์ เบอร์ลิน เอ็กซิบิชั่น กราวนด์ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  

            ถือเป็นงานใหญ่แห่งปี เพราะแต่ละปีมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 180 ประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ กับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน มีพฤติกรรมเดินทางออกนอกประเทศเพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น จึงนับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

             สำหรับพื้นที่ของไทยอยู่ในโซน 26 ซึ่งเป็นโซนเอเชีย มีพื้นที่ทั้งหมด 1,700 ตารางเมตร มีการออกแบบคูหาและตกแต่งภายใต้คอนเซ็ปต์ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ โดยเน้นสินค้าและบริการภายใต้แนวคิด “Open to the new shades of Thailand" นำเสนอแง่มุมใหม่ๆ ของประเทศไทย ผ่านกิจกรรมสาธิตต่างๆ จากชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้มุมมองใหม่ๆ ในหมู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เข้าร่วมงาน กิจกรรมสาธิตการทำ “ตุงก้าคิง” และ “ตุงไส้หมู” ตามราศีเกิด 12 นักษัตร ชุมชนบ้านพระเกิด จ.น่าน เป็นการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ของภาคเหนือ ผ่านเรื่องราวความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณ 

            จากสถิติในปี 2560 นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 837,000 คน ระยะพำนักเฉลี่ย 17 วัน โดยมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นในปีนี้ประมาณ 7-8% มีการใช้จ่ายต่อวันที่สูงมาก จุดแข็งสำคัญของไทยที่ยังคงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเยอรมันเลือกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้แก่ หาดทรายชายทะเล กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ 

            ขณะที่ตัวเลขสถานการณ์ท่องเที่ยวปี 2560 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมในปี 2560 จำนวน 34,331,185 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 8.51 สร้างรายได้กว่า 1,764,957.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.04 ส่วนนักท่องเที่ยวไทยมีจำนวน 152 ล้านคน/ครั้ง (1 คนเที่ยวได้มากกว่า 1 ครั้ง/ปี) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.39 สร้างรายได้กว่า 9.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2561 รายได้รวมจากการท่องเที่ยวจะสูงถึง 3 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.44 และจากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.16   

              “ต่อไปประเทศไทยจะต้องเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยว เพราะจากนี้ต่อไปการท่องเที่ยวจะเป็นเหมือนลมหายใจของประเทศไทย ที่จะนำเงินตราต่างประเทศเข้าไทย ขณะนี้ไทยจะเร่งพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้มากขึ้น เราได้เพิ่มเมืองรองอีก 55 จังหวัดทั่วไทย เพื่อลดการกระจุดตัวของเมืองหลักและช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน เพิ่งได้คุยกับท่านไพรินทร์ (ชูโชติถาวร) รมช.คมนาคม ให้ช่วยพัฒนาเส้นทางคมนาคม ซึ่งท่านก็ยินดีลุยเต็มที่ ได้คุยกับ พล.อ.อนุพงศ์ (เผ่าจินดา) รัฐมนตรีมหาดไทย ท่านก็ไฟเขียวเต็มที่ เรียกประชุมผู้ว่าฯ ได้เลย จังหวัดไหนผู้ว่าฯ ไม่มาให้แจ้งท่านด้วย ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เข้ามาช่วยกันพัฒนาเมืองรอง” 

               วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณฺ์ “คม ชัด ลึก" หลังร่วมพิธีเปิดงานไอทีบี 2018 ที่ประเทศเยอรมนี โดยหวังว่าการเข้าร่วมงานของประเทศไทยในปีนี้จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าสู่เมืองรองและชุมชนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน กระจายโอกาสในเชิงรายได้จากการท่องเที่ยวให้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ปรับสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและคนต่างชาติในพื้นที่เมืองหลักต่อเมืองรอง จาก 70:30 เป็น 65:35 ในปี 2561 อีกทั้ง คาดว่าจะสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและชุมชนได้อย่างคึกคัก กระตุ้นให้เกิดการเตรียมความพร้อมและพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสมดุลในทุกมิติ

              นอกจากนี้ ยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมในเขตพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นภายในเขต เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวภายนอกเขต ตลอดจนการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านด้วย  

               “อยากเห็นงานไอทีบีในปีต่อๆ ไป ไทยพาวิลเลียนจะต้องนำชุมชน มาร่วมแสดงในงานนี้ด้วย ซึ่งหากชุมชนมาร่วมงานนอกจากจะขายความเป็นจังหวัดแล้วอยากให้รวมเป็นกลุ่มกิจกรรมท่องเที่ยว หรือโชว์เป็นคลัสเตอร์กิจกรรม อาทิ แอดเวนเจอร์ อย่างนี้เป็นต้น” รมว.ท่องเที่ยวกล่าว พร้อมย้ำว่าการที่เราให้ความสำคัญกับตลาดยุโรป เพราะเป็นตลาดนักท่องเที่ยวมีคุณภาพ มีรายจ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากเอเชียด้วยกัน ที่สำคัญเมื่อมาแล้วติดใจก็อยากจะมาอีก         

            ขณะที่ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การร่วมงานมหกรรมไอทีบี 2018 นี้ ททท.ได้เปิดแคมเปญใหม่ “Open to the new shades of Thailand” โดยเน้นสินค้าและบริการใหม่ๆ ของประเทศไทยมาร่วมจัดแสดง และถือเป็นเรื่องดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการ สามารถใช้งบประมาณจังหวัดสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยได้โปรโมตเมืองรอง ตลอดจนเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการรายใหม่ ได้มีโอกาสส่งเสริมการท่องเที่ยวกับททท.ด้วย

             “ต้องยอมรับว่าการทำการตลาดเป็นเรื่องจำเป็น เมื่อคนรู้จักก็จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยว และไปใช้จ่ายเพิ่ม โดย ททท.จะเข้าไปมีบทบาทในการให้คำแนะนำ ให้ความรู้และการวางแผนในอนาคต เพื่อเมืองรองมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวในอนาคต ภายใต้การสนับสนุน อปท. โดยมีงบประมาณรวมกันกว่าแสนล้านบาท ซึ่งหากได้รับการร้องขอจาก อปท. ททท.ก็จะเข้าไปช่วยเหลือทันที ตามนโยบายของนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา” ผู้ว่าการ ททท. กล่าว 

             ด้าน ศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการด้านการตลาดยุโรป แอฟริกาตะวันออกและอเมริกา ททท. กล่าวหลังการประชุมกับผู้อำนวยการสำนักงานยุโรปจำนวน 8 แห่ง ว่าในเดือนกันยายนปีนี้ ททท.เตรียมเปิดแคมเปญใหม่พร้อมกันทั่วยุโรป เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ อาทิ กลุ่มคนมีเงินในเมืองรอง กลุ่มสาวโสด กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชื่นชอบมาราธอน เป็นต้น โดยคนกลุ่มนี้จะมีเงินและไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ จะไม่หายไปตามฤดูกาลท่องเที่ยวที่ซบเซา โดยกิจกรรมที่จะทำเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวยุโรป

               “ช่วงโลว์ซีซั่นในยุโรปมี 2 ช่วง คือช่วงเมษายน-มิถุนายน และกันยายน-ตุลาคม สำนักงานที่ดูแลพื้นที่ในยุโรป จะต้องคิดวิธีอุดจุดอ่อน ต้องเช็กสุขภาพการท่องเที่ยว เช็กสุขภาพของตลาดที่รับผิดชอบ เพื่ออัดแคมเปญใหญ่เข้าไปพร้อมๆ กัน เราขอกันยายนเดือนเดียวอัดแคมเปญให้เต็มที่เลย แม้ล่าสุดตัวเลขการท่องเที่ยวของยุโรป บางประเทศจะมีปริมาณการท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าเป้าหรือติดลบเล็กน้อย แต่ในส่วนของรายได้กลับเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ททท.ต้องขยับฐานนักท่องเที่ยวขึ้นไปสู่ตลาดกลางและบนให้มากขึ้น โจทย์คือ ทุกสำนักงานต้องออกหาลูกค้ามีเงินให้มากขึ้น” ศรีสุดากล่าว พร้อมย้ำว่า

            ข้อดีของนักท่องเที่ยวยุโรปจะมีแผนการเดินทางท่องเที่ยวชัดเจน ไม่นิยมใช้บริการบินแบบเช่าเหมาลำ เพราะหากเกิดปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศของเรา การเดินทางท่องเที่ยวแบบนี้ก็อาจมีปัญหาได้ 

 7 กิจกรรมกับการท่องเที่ยวเมืองรองทั่วไทย

     สำหรับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองรองแบ่งออกเป็น 7 กิจกรรม ประกอบด้วย

1. Enjoy Local เที่ยวชุมชนได้ลุ้นได้แต้ม ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Google Local Guide วางแผนการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการใช้จ่าย เช่น e-Coupon ส่วนลดสินค้าและบริการตลอดเส้นทางท่องเที่ยว และการสะสมแต้ม TAT Point ผ่านระบบออนไลน์ 

2. SET in the Local กระตุ้นการจัดประชุม สัมมนา และกิจกรรมซีเอสอาร์ (ไมซ์) ในเมืองรอง โดยเน้นการเดินทางในวันธรรมดา

3. Local Link รวบรวมและคัดกรองชุมชนทั่วประเทศที่มีศักยภาพ รวมไปถึงจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองรอง อาทิ เส้นทางสีเขียว, เส้นทางจักรยาน และการออกแบบเส้นทางตามไลฟ์สไตล์ใหม่ เช่น เส้นทางงานฝีมือ เกษตรกรรม วิถีชีวิต อาหาร เป็นต้น 

4. Eat Local ประชาสัมพันธ์อาหารถิ่น (Locallicious) อาหารอร่อย อาหารห้ามพลาด โดยส่งเสริมการนำเที่ยวประเภท Local Food Tours การเยี่ยมชมแหล่งผลิต แหล่งวัตถุดิบด้านอาหารท้องถิ่น

5. Our Local สร้างสรรค์และสนับสนุนการจัดกิจกรรม Community Events กระจายทุกพื้นที่ทุกสัปดาห์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในเทศกาลงานประเพณีประจำท้องถิ่น

6. Local Heroes - Towards Global Sustainable Tourism Council และ B2D (Business to Digital) เป็นการสนับสนุนวิทยากร นักวิชาการ ศิลปิน ผู้มีชื่อเสียงผลงานการสร้างสรรค์ออกแบบ และแนะนำแหล่งทุน เพื่อการพัฒนาคน สร้างเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนจากองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันในอนาคต 

7. Local Strength พัฒนา Creative Tourism โดยสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ