ข่าว

·"คมนาคม"ผวางานเข้า ลังเลตั้งผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คมนาคม"ผวางานเข้า ลังเลตั้งผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่

 

                   แหล่งข่าวระดับสูงในการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)  เผยถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ แทนนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปีว่า แม้บอร์ดรฟม.ที่มี นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธาน จะเสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาให้เป็นผู้ว่ารฟม.คนใหม่คือ นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการรฟม.ไปยังกระทรวงคมนาคมตั้งแต่ปลายปี 60 ที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่กล้านำเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เนื่องจากยังมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหาและตัวผู้ที่ได้รับการสรรหาอยู่

                     โดยผลการสรรหาผู้ว่า รฟม.ที่เสนอชื่อนายภคพงค์เข้าป้ายนั้น ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์อย่างหนักภายใน รฟม. จนถึงขนาดที่ทำให้ประธานบอร์ดรฟม.ชุดเก่าต้องไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งจากความขัดแย้งในเรื่องผลสรรหาที่ออกมา เนื่องจากนายภคพงศ์ถือเป็นรองผู้ว่าการ รฟม.ที่มีอาวุโสต่ำสุดจากระดับรองผู้ว่าฯทั้ง 3 คนที่ยื่นใบสมัคร และเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าฯรฟม.ได้เพียงปีเดียว ที่สำคัญนายภคพงค์ยังถูกร้องเรียนในเรื่องที่ทำให้รฟม.เสียหายอยู่หลายเรื่อง ทั้งกรณีถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเอื้อผู้รับเหมาในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน

                    ส่วนต่อขยายช่วงสนามไชย-ท่าพระ ในการเปลี่ยนแปลงงานที่ทำให้ รฟม.ต้องเสียเงินเพิ่มจากงานนอกสั่งให้แก่ผู้รับเหมากว่า 290 ล้านบาท ก่อนถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและถูกสอบวินัยร้ายแรงตามมา ซึ่งแม้ในภายหลัง รฟม.จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นมาตรวจสอบอีกรอบ ก่อนสรุปผลว่าไม่ผิด แต่เรื่องดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการรอผลพิจารณาจากคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.) และป.ป.ช.

                  นอกจากนี้ นายภคพงค์ยังถูกร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมช่วยเหลือผู้รับเหมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีการปรับแก้สัญญาเปิดช่องให้ผู้รับเหมามีสิทธิเรียกร้องเงินเพิ่มกรณี รฟม.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด ซึ่งขัดกับเงื่อนไขทีโออาร์การประมูลที่กำหนดไว้ เรื่องดังกล่าวมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบข้อเท็จจริงแต่เรื่องกลับเงียบหายไป ขณะที่ตัวประธานคณะกรรมการสรรหาครั้งนี้ ก็ถูกร้องเรียนเช่นกันว่าเป็นกรรมการในบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ ที่ถูกร้องเรียนอยู่ด้วย ทำให้มีการวิพากษ์ว่า อาจจมีเรื่องของประโยชน์ทับซ้อนจากการผลักดันตัวบุคคลที่กำลังถูกร้องเรียนให้ขึ้นมาทำหน้าที่ผู้บริหารองค์กร รฟม.

                 “ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันตรวจสอบและช่วยกันขจัดปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐและในโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ อย่างเข้มงวด จนถึงกับกำหนดให้นโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ แต่บอร์ดรฟม.กลับยังคงเสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาที่ส่อว่า มีมลทินให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารองค์กรที่เกี่ยวพันกับโครงการจัดซื้อ จัดจ้างที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลที่กำลังถูกสังคมเพ่งเล็งและตั้งข้อกังขาในเรื่องกลิ่นอายทุจริตเงินใต้โต๊ะที่พุ่งขึ้นมาสูงสุดในรอบ 3 ปี มีน้ำหนักขึ้นไปอีก”แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ