ข่าว

"บ้านเอื้ออาทร ฉะเชิงเทรา" สร้างสุขด้วยสองมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"บ้านเอื้ออาทร ฉะเชิงเทรา (บ้านโพธิ์)"มุ่งจิตอาสา สร้างสุขด้วยสองมือ

             ชุมชนที่มีลักษณะเป็นโครงการ เป็นหมู่บ้านจัดสรร เป็นอาคารชุด ส่วนใหญ่อาศัยเงินค่าส่วนกลางจากสมาชิกเป็นค่าดำเนินงาน และจัดทำกิจกรรมต่างๆ

              ชุมชนไม่น้อยที่สมาชิกจ่ายบ้างไม่จ่ายบ้าง ในขณะที่สมาชิกในชุมชนเองต้องการความสุขสะดวก สงบ ปลอดภัย สะอาด แสงสว่าง และถนน ฯลฯ ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น จึงเป็นอะไรที่สวนทางกันแทบสิ้นเชิง 

"บ้านเอื้ออาทร ฉะเชิงเทรา" สร้างสุขด้วยสองมือ

             โครงการบ้านเอื้ออาทรฉะเชิงเทรา (บ้านโพธิ์) ระยะที่ 2 -3/1 ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ตกอยู่ในอาการเดียวกัน สมาชิกจ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง ดังนั้น ภาระหนักจึงตกบนบ่าของคณะกรรมการนิติบุคคลที่เป็นผู้บริหารโครงการ

           “จ้าง รปภ. อย่างเดียวไม่ไหว กรรมการชุมชนและจิตอาสาจึงเป็นอาสาสมัครตำรวจชุมชนด้วย” นายวิทวัส เชื้อสุวรรณ์ ประธานกรรมการนิติบุคคล 4 และกรรมการชุมชนโครงการบ้านเอื้ออาทรฉะเชิงเทรา ระยะ 2 - 3/1

             “เวลากลางคืน พอมีเสียงตูมตาม กรรมการก็ถึงที่เกิดเหตุแล้ว แจ้งตำรวจให้มาตรวจสอบ ใครทำเสียงดังไม่ได้เลย เพราะมีทีมอาสาสมัครตำรวจชุมชนตระเวนไปในยามค่ำคืน คดีลักขโมย มีครั้งเดียว งัดบ้านเอาโน้ตบุ๊คไป ส่วนยาเสพติดไม่มี” นายวิทวัสพูดจนเห็นภาพ

             เจ้าของรถยนต์ในโครงการจึงนอนตาหลับ อยู่ดีมีสุข เพราะรถไม่หาย ในขณะที่แฟลตใกล้เคียงหายเป็นประจำ เพราะนอกจากอาสาตำรวจบ้านแล้ว ยังมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดคอยกำกับอีกที ทำให้โจรผู้ร้ายไม่กล้าเยี่ยมกรายเข้ามาที่นี่

"บ้านเอื้ออาทร ฉะเชิงเทรา" สร้างสุขด้วยสองมือ

             ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่ทำเลของโครงการอยู่ด้านใน ก่อนเข้ามาโครงการก็ผ่านโครงการอื่นของการเคหะแห่งชาติเข้ามาชั้นหนึ่งก่อนแล้ว

              จิตอาสาจึงมีตั้งแต่ชั้นสมาชิกชุมชน กระทั่งกรรมการนิติบุคคลที่จะเข้ามาบริหารก็กำหนดแนวทางไว้ 2 อย่าง คือ ต้องซื่อสัตย์ และต้องช่วยเหลือกัน

                “จ้างหมดอยู่ไม่ได้ เพราะเราไม่มีเงินมากพอ จิตอาสาจึงทำทุกเรื่อง แม้กระทั่งการกำจัดขยะ พวกเราและจิตอาสาต้องลงไปลุยกันเองหมด”

               บางทีเงินก็อาจไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งอย่าง ใจกลับเป็นปัจจัยสำคัญคอยผลักดันให้บรรลุผล แต่ถ้าเงินพร้อม ใจพร้อม ก็ยิ่งประเสริฐกว่า

             บ่อบำบัดน้ำเสียของโครงการ มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำตลอดเวลา โดยทีมงานจากภายนอก นิติบุคคลและชุมชนจึงต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้คุณภาพน้ำที่ผ่านการบำบัดดีขึ้น รอบๆ

             บ่อบำบัดเป็นทางวิ่งทางเดินให้สมาชิกได้ออกกำลังกายทุกเช้าและเย็น 20-30 คนต่อรอบ การออกกำลังกาย เป็นแนวโน้มใหม่ของสังคมเมืองที่ยุ่งอยู่กับงาน จนลืมดูแลสุขภาพตัวเอง ทางวิ่งนี้เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ในชั้นต้น ได้ใช้งานจนถึงวันนี้

            ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ การมีส่วนร่วมของชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าการขุดลอกท่อระบายน้ำ การตัดแต่งกิ่งไม้ในชุมชน การปลูกผักรอบบ่อบำบัด การเลี้ยงปลา การทำน้ำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ จนถึงกิจกรรมด้านการออกกำลังกาย เช่น การเต้นแอโรบิก การวิ่ง เป็นต้น

           นอกจากนั้น ยังมีโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดรอบหมู่บ้านเสริมตำรวจอาสาอีก โครงการติดตั้งเครื่องขยายเสียงรอบชุมชน 21 จุดเพื่อสื่อสาร

             “น่าอยู่มากครับ” นายวิทวัสย้ำเสียงดัง ”เพราะเป็นชุมชนสะอาด และปลอดภัย”

             ข้อที่ว่าน่าอยู่ ส่วนหนึ่งตรวจสอบได้จากราคาบ้าน จากเดิมที่ซื้อจากการเคหะแห่งชาติหน่วยละ 3.9 แสนบาท ปัจจุบันราคาซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ขยับขึ้นเป็น 8.5 แสนบาท หรือ แตะ 1 ล้านบาท ในกรณีบ้านหัวมุมที่มีพื้นที่เพิ่ม

              ทำเลที่นี่ ถือเป็นทำเลทอง เพราะข้ามถนนจากโครงการบ้านเอื้ออาทรฉะเชิงเทรา (บ้านโพธิ์) ระยะ 2 -3/1 ไปฝั่งตรงข้ามก็เป็นโรงงานประกอบรถยนต์ที่มีคนทำงานมากมาย

              มีพื้นที่ใหญ่กว้างขวางและปลูกต้นไม้ริมกำแพงยาวไปตลอดแนว เป็นปอดใหญ่ให้กับคนทำงานและชุมชนใกล้เคียงไปในตัว

             “คนทำงานในโรงงานประกอบรถยนต์ก็มาซื้อบ้านในโครงการอยู่ เวลาช่วงเทศกาลหรือจัดงานอะไร ขอความช่วยเหลือไปก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี กลายเป็นความเอื้ออาทรระหว่างกัน”

            ขณะนี้ในโครงการบ้านเอื้ออาทรแห่งนี้ กำลังมีโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้แก่สตรีและครอบครัวประจำปี 2561 เป็นโครงการอบรมผลิตผ้าบาติก ใช้เวลาอบรมขั้นต้น 44 วัน มีเบี้ยเลี้ยงรายวัน 90 บาท/วัน และให้อีกครอบครัวละ 1,000 บาทภายหลังจากจบหลักสูตร จากนั้นอบรมต่ออีก 2 เดือน และมอบเงิน 8-9 หมื่นบาทสำหรับเป็นทุนดำเนินการจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยมีผู้เข้าอบรม 30 คน

            เรียนไปพร้อมภาคปฏิบัติไป ก็มีผลงานออกมาให้ชื่นใจกันบ้างแล้ว อนาคตการทำผ้าบาติกน่าจะเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างอาชีพให้สมาชิกในชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะได้รับความนิยมจากตลาดไม่น้อย

             สถานที่ตั้งของกิจกรรมผ้าบาติกก็คงเป็นศูนย์ชุมชน โดยไม่คิดค่าน้ำค่าไฟ ถือเป็นการสนับสนุนอาชีพชุมชน

             การมีส่วนร่วมของสมาชิก เป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีสุขภาวะของชุมชน และช่วยค้ำจุนให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เป็นหนึ่งสมองกับสองมือที่ระดมกันคิดวางแผนและลงมือทำจนเป็นผลสำเร็จ 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ