ข่าว

สื่อขานรับซีอีโอ.เอไอเอส แนะรัฐเร่งปลดแอกทีวีดิจิทัล-มือถือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วงการสื่อขานรับซีอีโอ.เอไอเอส แนะรัฐ-กสทช.เร่งปลดแอกทีวีดิจิทัล -มือถือก่อนกู่ไม่กลับ

                วงการโทรคมนาคม-สื่อดิจิทัลขานรับแนวคิดซีอีโอเอไอเอส จี้รัฐ-กสทช.เร่งปลดแอกธุรกิจทีวีดิจิทัล เปิดทางคืนใบอนุญาตทีวีดีกว่าปล่อยให้ตาย พร้อมแนะ กสทช. นายกฯใช้ม.44 จัดสรรคลื่นความถี่เป็นธรรม หมดยุครีดค่าต๋งเข้ารัฐ
                แหล่งข่าวในสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เปิดเผย กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำความเห็นเสนอนายกฯใช้ ม.44 ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีบรอดคาสต์ว่า แม้ก่อนหน้านี้กสทช.จะให้การเยียวยาแก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยปรับลดค่าธรรมเนียมรายปีลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะกอบกู้วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจนี้ได้

             “สิ่งที่ผู้ระกอบการร้องขอต่อกสทช.นั้น ก็คือการขอให้รัฐและกสทช.สนับสนุนลดค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่าย 50% และพักค่าประมูลใบอนุญาตงวดที่เหลือ 3 ปี รวมไปถึงการเปิดทางให้มีการคืนใบอนุญาตหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ส่วนนี้ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเห็นว่ามีความจำเป็น”
              ในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่าอยู่สภาพไม่ต่างกัน การแข่งกันประมูลใบอนุญาตที่เคยสร้างรายได้ให้รัฐเป็นจำนวนมากอย่างคลื่น 900 MHz  ที่มีการแข่งขันประมูลกันไปสูงถึง 75,000 ล้านบาท แต่จะเห็นได้ว่าบริษัทเอกชนที่ได้คลื่นไปก็ทิ้งใบอนุญาต และสุดท้าย กสทช.ต้องเสนอให้นายกฯ ใช้ม.44 ผ่าทางตันให้เอไอเอสเข้าไปแบกรับช่วงแทน

              ซึ่งล่าสุดทั้งเอไอเอสและทรูที่ได้ใบอนุญาตไปต่างก็ทำเรื่องร้องขอกสทช.ขอยืดเวลาจ่ายค่าธรรมเนียมประมูลในงวดสุดท้ายที่แต่ละรายต้องจ่ายถึง 60,000 ล้านบาทออกไปเช่นกัน  ดังนั้นการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 ครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นนั้น กสทช.ชุดใหม่น่าจะได้กลับมาทบทวนเงื่อนไขการประมูลใหม่ โดยเฉพาะราคาตั้งต้นประมูล เนื่องจากสถานการณ์ตลาดโทรคมนาคมวันนี้แตกต่างไปจากเมื่อ 3-4 ปีก่อนที่ผู้ให้บริการมีความต้องการช่วงชิงคลื่นมาให้บริการ

              แต่การประมูลครั้งนี้มีความจำเป็นน้อยกว่า เพราะทั้งเอไอเอส และทรูมฟต่างมีคลื่นเพียงพอในมือ  ขณะที่ค่ายดีแทคเองก็เตรียมเซ็นสัญญาพันธมิตรธุรกิจกับทีโอทีในการเช่าใช้คลื่น 2300 เมกะเฮิร์ตซ์อีกกว่า 60 เมกะเฮิร์ตซ์ หลังกสทชอนุมัติคำขอไปแล้วล่าสุด

             “หากยึดตามเงื่อนไขที่กสทช.วางไว้เดิม เชื่อแน่ว่าบริษัทสื่อสารต่างๆคงถอยกรูด จนอาจทำให้ไม่มีการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวออกมาใช้งาน ซึ่งถือเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า”
                ขณะเดียวกันนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอดวานซ์​ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือเอไอเอส ได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลและกสทช.เร่งปลดแอกให้แก่ธุรกิจทีวีดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมที่กำลังประสบความยากลำบากในกำเนินธุรกิจ โดยแสดงความเห็นด้วยหากนายกรัฐมนตรีจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการใช้ ม.44 ผ่าทางตันให้
                 ทั้งนี้ซีอีโอ.เอไอเอสกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโทรทัศน์หรือบรอดคาสต์มาจากปัจจัยหลายอย่างประกอบ หากใช้คำเปรียบเทียบแบบนายกฯก็ต้องบอกว่าติดกระดุมผิดเม็ดมาตั้งแต่ต้น คือเปิดประมูลให้ใบอนุญาตมากเกินไปถึง 24 ช่องแม้จะนำเงินเข้ารัฐมากมายเป็นที่น่ายินดี แต่ส่ิงที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการมีช่องทีวีมากไปทำให้การคาดการณ์ทางธุรกิจผิดพลาดไปจากที่คิดไว้หมด นอกจากนี้ธุรกิจทีวียังถูกทำลายล้าง (Disrupt)จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ผู้ชมหันไปชมผ่านแพลทฟอร์มอื่น ขณะที่การแจกกล่องรับสัญญาณเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล เพื่อขยายฐานผู้ชมทำได้ล่าช้าไม่ทันกับพฤติกรรมผู้ชมที่หันไปหาแพลคฟอร์มอื่น    
                  “ผมไม่คิดว่าเป็นความผิดของใคร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐและเอกชน แต่ผมมองว่าหนทางแก้ไขมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจจะกล้าตัดสินใจหรือไม่ แต่เชื่อเถิดหากปล่อยไว้อย่างนี้จะตายกันหมด จึงอยากเสนอให้นายกรัฐมนตรีประกาศมาตรา 44 ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สามารถยุติการจ่ายเงินได้ คืนใบอนุญาตได้ นอกเหนือจากการยืดการจ่ายเงิน ซึ่งดูเหมือนจะไม่เพียงพอ”ซีอีโอ.เอไอเอสกล่าวย้ำ
               
...

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ