ข่าว

สถิติเผยตัวเลขว่างงานต.ค.ขยับเฉียด 5 แสนคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถิติเผยตัวเลขว่างงานต.ค.ขยับเฉียด 5 แสนคน

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 พ.ย. สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยตัวเลขภาวะการทำงานของประชากรไทยประจำเดือนต.ค.2560 ที่ผ่านมาพบว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือเป็นคนที่พร้อมทำงานจำนวน 37.22 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ว่างงาน 481,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.3% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 31,000 คน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันถึง 38,000 คน ซึ่งจำนวนคนว่างงานส่วนใหญ่ ยังคงเป็นคนที่เรียนจบในระดับอุดมศึกษาอยู่เช่นเดิม โดยมีว่างงานถึง 198,000 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 8,000 คน ถือว่ายังเป็นกลุ่มที่มีการว่างงานสูงมาอย่างต่อเนื่องหลายปี

          ขณะที่กลุ่มที่ว่างงานรองลงมา คือ คนที่เรียนจบมัธยมต้น 95,000 คน ตามมาด้วยคนที่จบมัธยมปลาย 81,000 คน ประถมศึกษา 78,000 คน และผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือต่ำกว่าประถมศึกษา 16,000 คน และถ้าพิจารณาถึงประสบการณ์การทำงานของผู้ว่างงาน พบว่า ส่วนใหญ่กว่า 251,000 คน เป็นคนว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเลยในชีวิต ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนก็มีจำนวนใกล้เคียงกันที่ 230,000 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนประมาณ 10,000 คน โดยแยกออกเป็นภาคการบริการและการค้า 128,000 คน ภาคการผลิต 83,000 คน และภาคการเกษตร 19,000 คน

              อย่างไรก็ตามในสัดส่วนของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนกว่า 251,000 คน หากพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เรียนจบระดับอุดมศึกษามากถึง 149,000 คน เป็นผู้จบการศึกษาสายวิชาการมากที่สุด 95,000 คน รองลงมาคือ สายอาชีวศึกษา 39,000 คน และสายวิชาการศึกษา 15,000 คน ส่วนคนจบระดับมัธยมต้น มีประมาณ 35,000 คน ระดับมัธยมปลาย 34,000 คน ระดับประถมศึกษา 29,000 คน และเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือต่ำกว่าระดับประถมศึกษา 29,000 คน ที่เหลือเป็นการศึกษาอื่นๆ ทางด้านผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ส่วนใหญ่ จบการศึกษาระดับมัธยมต้น 60,000 คน รองลงมาคือ ระดับอุดมศึกษา ระดับประถม ระดับมัธยมปลาย ตามลำดับ

              จำนวนผู้ที่มีงานทำนั้น พบว่า ในเดือนต.ค.นี้ มีจำนวนคนทำงาน 36.65 ล้านคน แยกเป็นคนทำงานในภาคเกษตร 11.05 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 25.60 คน โดยหากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวนคนทำงานในภาคเกษตรลดลง 160,000 คน ส่วนใหญ่ลดลงในการปลูกมันสำปะหลัง กิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุน การผลิตพืชผล และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

            เช่นเดียวกับนอกภาคเกษตรมีคนทำงานลดลง 330,000 คน เป็นการลดลงในสาขาการผลิต สาขาก่อสร้าง สาขาบริหารราชการป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ สาขาการศึกษา และกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ

             นอกจากนี้หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่ทำงานในกลุ่มที่ยังทำงานได้ไม่เต็มเวลา ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังมีเวลาและต้องการทำงานเพิ่ม พบว่า มีอยู่มากถึง 223,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้ เองเป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง เพราะยังต้องการรายได้ไปเลี้ยงดูชีวิตและครอบครัวอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยมีสัดส่วนแรงงานผู้ชายจำนวน 140,000 คน ส่วนผู้หญิงมีจำนวน 83,000 คน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ