ข่าว

‘ช็อป’(ช่วยชาติ)กระจาย หนุนคนรวยหรือช่วยคนจน...?    

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 ‘ช็อป’(ช่วยชาติ)กระจาย หนุนคนรวยหรือช่วยคนจน...?          

 

             แม้ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย จะออกมาระบุว่า หากมองเศรษฐกิจในภาพรวมปี 2560 มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้นอย่างไตรมาส 1-3 เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 และคาดว่าจะดีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เฉพาะกันยายนเดือนเดียวพบว่ามีมูลค่าการส่งออก 21,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำลายสถิติสูงสุดในประวัติการณ์อีกครั้ง หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.4% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ยอมรับว่าการขยายตัวไปสู่เศรษฐกิจฐานรากนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร เห็นได้จากยอดซื้อสินค้าไม่คงทนที่ยังไม่ดี ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับนี้ จึงยังมีความจำเป็น

            ด้วยเหตุนี้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช็อปช่วยชาติ ในช่วงปลายปีนี้อีกครั้ง หลังได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี คือปี 2558 และ 2559 ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จพอสมควร ช่วยให้สภาวะเศรษฐกิจในระดับฐานรากคึกคักอย่างเห็นได้ชัด 

            เห็นได้จากข้อมูลการสรุปของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ระบุชัดว่ามาตรการช็อปช่วยชาติเมื่อปี 2558 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 ช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หรือ 25,000 ล้านบาท สร้างเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจรวมกว่า 1.25 แสนล้านบาท มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า เกิดการจ้างงานทางตรงและทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคน  

            ขณะที่ปี 2559 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม มีเม็ดเงินสะพัดในระบบกว่า 25,000 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 เล็กน้อย ตัวเลขค้าปลีกขยับ 0.3% พบว่ากลุ่มสินค้าคงทน ได้แก่ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์กีฬา ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้มากกว่าหมวดอื่นๆ เพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง มียอดขายเติบโตร้อยละ 25 ส่วนกลุ่มสินค้ากึ่งคงทน มียอดขายเติบโตสูงสุดร้อยละ 35  ได้แก่ แฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ลักชัวรี่แบรนด์ 

           ถึงแม้ที่ผ่านมาทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้หลายหมื่นล้าน แต่ผลที่ได้รับก็เกินคุ้มสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากเพิ่มขึ้นแบบก้าวประโดด เห็นได้จากตัวเลขในปีแรก มาตรการมีระยะเวลา 7 วัน รัฐต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท  ขณะปี 2559 มีระยะเวลาดำเนินการ 18 วัน  รัฐสูญเสียรายได้สูงถึง 75,000 ล้านบาท  ทั้งนี้เนื่องจากในปี 2559 รัฐบาลมีมาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติมจากปีก่อน เช่น การลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยว 15,000 บาท จำนวน 2 ครั้ง และยังมีการลดหย่อนการซื้อสินค้าโอท็อปอีกด้วย 

             สำหรับปี 2560 ล่าสุดวานนี้(7 พ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีอีกครั้งในระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม รวม 23 วัน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน  

             ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตามหลักการมาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยผู้มีเงินได้ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการและชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น และต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย  

             “การลดหย่อนภาษีมาตรการช็อปช่วยชาติครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม รวม 23 วัน คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งการลดหย่อนภาษีในมาตรการนี้จะไม่ครอบคลุมถึงการใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น ค่าโรงแรม ค่าจ้างมัคคุเทศก์ และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล” รองโฆษกรัฐบาลกล่าว 

          อย่างไรก็ตาม หลังจาก ครม.อนุมัติในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีหรือโครงการช็อปช่วยชาติ ทางรัฐบาลจะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะประกาศเป็นร่างกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป                                                  

 มีรายได้เท่าไหร่“ช็อป”ไม่เสียของ 

            มนุษย์เงินเดือนเตรียมเฮอีกครั้ง หลังครม.ไฟเขียวยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคมนี้ ตามโครงการช็อปช่วยชาติประจำปี 2560 โดยกำหนดให้ผู้ซื้อสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าวนี้สามารถนำค่าใช้จ่ายไม่เกิน 15,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับ 2 ปีที่ผ่านมา

             มาถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัยว่า การซื้อสินค้าและบริการในรูปแบบใดบ้างที่จะเข้าข่ายนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงเงื่อนไข และใช้เอกสารประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษี เริ่มแรกต้องเป็นบุคคลธรรมดา(ไม่รวมคณะบุคคล) ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2560 ที่จะยื่นแบบในต้นปี 2561 โดยซื้อสินค้าและชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม เท่านั้น ต้องเป็นสินค้าและบริการในประเทศ ซื้อจากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)(ไม่รวมการจ่ายบริการนำเที่ยวและค่าที่พัก) และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7%

           ส่วนกรณีสินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนํามาหักลดหย่อนได้ โดยสินค้าและบริการที่ซื้อนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (รวม VAT แล้ว) และจะต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่ง ป.รัษฎากรเท่านั้น

             แต่หากคุณเป็นคนที่ไม่มีรายได้ หรือรายได้รวมทั้งปีไม่ถึง 1.5 แสนบาท ไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็จะไม่สามารถซื้อสินค้าเพื่อไปลดหย่อนภาษีตามโครงการนี้ได้ ส่วนผู้มีเงินได้จะได้รับภาษีคืนเท่าไร ขึ้นอยู่กับฐานภาษีของตัวเอง(ดูรายละเอียดจากตารางประกอบ)

             อย่างเช่น ผู้ที่มีฐานภาษี 5% หากซื้อสินค้าไป 15,000 บาท(เต็มเพดาน) เมื่อนำไปคำนวณค่าลดหย่อนตอนยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว จะได้ภาษีคืน 750 บาท ก็เท่ากับว่าได้ส่วนลดจากการซื้อสินค้า 5% ขณะผู้ที่มีฐานภาษีสูง ก็ยิ่งจะได้ภาษีคืนสูงเป็นเงาตามตัว อย่างผู้ที่มีฐานภาษี 35% หากซื้อสินค้าไป 15,000 บาทจะได้ภาษีคืนถึง 5,250 บาท เท่ากับว่าซื้อสินค้าแบบมีส่วนลดได้ถึง 35%

           ดังนั้น ใครจ่าย ใครช็อปกระจายตามโครงการช็อปช่วยชาติก็ต้องพิจารณารายได้ของตัวเองให้ดีด้วยว่าคุ้มหรือไม่ อย่างไร หากผู้มีรายได้ไม่ถึง 1.5 แสนบาท ช็อปไปก็น่าจะเสียของ เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ