ข่าว

"ซีพี" วางเป้าท็อป20 ของโลก 10 ปีข้างหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ซีพี"เคลื่อนทัพธุรกิจยั่งยืน วางเป้าท็อป20 ของโลก 10 ปีข้างหน้า

              นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือเครือซีพี เปิดเผยว่าปีนี้ถือเป็นปีสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเครือซีพี โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจหลัก ซึ่งเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา  3  บริษัทหลัก คือ ซีพีเอฟ, ซีพีออลล์ และทรู ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices :DJSI ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลกและเป็นเกณฑ์ที่กองทุนทั่วโลกใช้พิจารณาการลงทุน ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน 

             โดยซีพีเอฟ เป็นบริษัทแรกนำร่องเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ในปี 2558 ต่อเนื่องเป็นปีที่3 ในปีนี้   โดยหลังจากเครือซีพี จัดทำรายงานความยั่งยืนปี 2559  ของบริษัทในเครือ ทำให้ปีนี้ซีพีออลล์และทรู ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์เป็นปีแรกต่อจากซีพีเอฟ  

               นอกจากนี้สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ได้รายงานผลคะแนนความยั่งยืนของบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก โดยเครือซีพีได้คะแนน 72.2% ใกล้เคียงคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกที่อยู่ระหว่าง 78-82%  

                รวมถึงซีพีเอฟและทรูได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความความยั่งยืน FTSE4Good Emerging Index จัดอันดับโดยฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ตามแนวทางความยั่งยืนของเครือซีพี สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก ล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาโครงการ CGR 2560 ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย IOD ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าซีพีเอฟและทรู ได้คะแนน 5 ดาว ส่วนแม็คโคร ได้คะแนน 4 ดาว 

                นายศุภชัย กล่าวต่อว่าปีนี้เครือซีพี ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้นเป็นครั้งแรก ประกาศเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2563 (CP Group Sustainability Goals 2020) เพื่อให้ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือทั่วโลก 20 ประเทศ ดำเนินการเพื่อบรรลุ 12 เป้าหมายแห่งความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs โดยเชื่อว่าการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนของจะเป็นแรงสำคัญก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกทั้งต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร ประเทศไทยและสังคมโลก

                สำหรับเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนที่ทุกกลุ่มธุรกิจในเครือรวม 13 กลุ่มทั่วโลก จะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปี 2563 อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Heart-Health-Home คือ Heart ความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลกิจการ ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล ด้านการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย

            Health ความมุ่งมั่นในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านคุณค่าทางสังคม สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ด้านการศึกษา ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม

             และ Home ความมุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ประกอบด้วยเป้าหมายและตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ การปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ 

              นายศุภชัย กล่าวว่าแนวทางขับเคลื่อนความยั่งยืน ได้นำ “ปรัชญา 3 ประโยชน์” มาใช้ดำเนินธุรกิจ โดยมองประโยชน์ของประเทศชาติ, ประโยชน์ของประชาชนในทุกประเทศที่เข้าไปลงทุน และประโยชน์ต่อองค์กรรวมถึงพนักงานและผู้ถือหุ้น 

           “ภายใน 3-5 ปี เครือซีพีต้องการเป็นตัวแทนบริษัทไทย อยู่ในเวทีโลกด้านการพัฒนาความยั่งยืน เพื่อทำให้คู่ค้าและระบบซัพพลายเชนได้ประโยชน์ร่วมกัน” 

              ภายใต้เป้าหมายพัฒนาความยั่งยืน เครือซีพีจะยกระดับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจใน 20 ประเทศทั่วโลก สู่มาตรฐานความยั่งยืนระดับเวิลด์คลาส หลังจาก 3 บริษัทได้นำร่องไปแล้ว  โดยวางโรดแมพช่วง 10 ปีข้างหน้า เครือซีพีจะได้รับการคัดเลือกเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนติดท็อป20 หรือ30 ของดัชนีความยั่งยืนระดับโลก 

              นายศุภชัย กล่าวว่านอกจากนี้ในปี 2561 เครือซีพี เตรียมจัดตั้งกองทุนซีพีพัฒนาสังคม (CP Social Impact Fund) วงเงินเริ่มต้น 1,000-2,000 ล้านบาท ที่จะใช้ลงทุนในช่วง 5 ปี (2561-2565) เพื่อสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและชุมชน (Social Enterprise) ที่มีเป้าหมายสร้างงาน มีบิซิเนส โมเดลพัฒนาธุรกิจยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเครือซีพี จะนำความรู้และศักยภาพทางการตลาดเข้ามาช่วยสนับสนุนนอกจากเงินทุน

            กองทุนดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับกองทุนที่การเข้าไปลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ แต่กองทุนซีพีฯ จะลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถนำธุรกิจไปต่อยอดสร้างรายได้อย่างยั่งยืน  โดยเปิดกว้างการร่วมทุนในธุรกิจต่างๆ เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ จะถอนหุ้นคืน เพื่อนำเงินไปหมุนเวียนลงทุนพัฒนาธุรกิจใหม่   

              ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2558-2560) เครือซีพีได้ให้งบประมาณโครงการเพื่อทางสังคมรูปแบปต่างๆ มูลค่า 15,700 ล้านบาท  ได้แก่ งบประมาณโครงการด้านซีเอสอาร์ เงินบริจาค รวม 3,000 ล้านบาท ผ่านมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ มูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท ซีพีเอฟ  ซีพีออลล์ และทรู

               การให้ทุนการศึกษาเครือซีพีและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ทุนการศึกษาของซีพีออลล์ รวม 2,000 ล้านบาท โครงการผิงกู่ในประเทศจีน หรือ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมใหม่ผิงกู่ ที่ดำเนินการรูปแบบโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ รวม 8,000 ล้านบาท และงบประมาณลงทุนด้าน ICT Digital Connectivity โรงเรียนประชารัฐ รวม 2,700 ล้านบาท

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ