ข่าว

กนอ.ผนึกกรมชลวางมาตรการป้องกันน้ำท่วมนิคมฯจ.พระนครศรีอยุธยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กนอ.ผนึกกรมชลวางมาตรการป้องกันน้ำท่วมนิคมฯจ.พระนครศรีอยุธยา

          วันที่ 20 ต.ค.นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่นิคมฯ ว่า ใน 3 นิคมฯที่อยู่ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ระดับน้ำโดยรอบนิคมฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตาม กนอ. ได้สั่งการยกระดับเฝ้าระวัง โดยให้เตรียมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ในพื้นที่และเฝ้าระวังตลอด 24 ช.ม. รวมทั้งยังได้สื่อสารข้อมูลการตรวจสอบระดับน้ำ สถานการณ์น้ำรอบนิคมให้กับผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ นิคมฯ ที่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมฯ สหรัตนนคร รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้สร้างเขื่อนคอนกรีตที่มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วมที่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที

              “กนอ. ได้เตรียมความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมให้กับนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ได้มีการจัดซ้อม แผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่นิคมฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติการรับมือในกรณี ที่อาจจะเกิดภาวะฉุกเฉิน ล่าสุด กนอ.ได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการ ที่รับผิดชอบนิคมฯ ในจังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนนิคมฯ”

             โดยในขณะนี้ นิคมฯบางปะอิน มีระบบป้องกันน้ำท่วมในลักษณะก่อสร้างเขื่อนดินบดอัดแน่น สันเขื่อนเป็นผนังคอนกรีตรูปตัวยู มีระดับความสูงคันดิน 6 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีความยาวเขื่อนประมาณ 10 เมตร นิคมฯบ้านหว้า มีระบบป้องกันน้ำท่วมเป็นเขื่อนคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยวัสดุป้องกันการกัดเซาะ มีระดับความสูงของเขื่อน 5.4 เมตร สูงกว่าระดับน้ำในปี 2554 เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีความยาวเขื่อนประมาณ 11 กิโลเมตร รวมทั้งยังได้จัดทีมตรวจสอบสภาพเขื่อนอย่างต่อเนื่องให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา

              ส่วนนิคมฯสหรัตนนคร ซึ่งเป็นนิคมฯเดียวที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนกันน้ำถาวร กนอ. ได้เตรียมความพร้อมโดยการขุดลอกคลองระบายน้ำฝน และรางระบายน้ำฝนภายในนิคมฯ มีการติดตามข้อมูลขาวสารสถานการณ์น้ำ และสื่อสารแจ้งผู้ประกอบการให้ทราบทุกวัน  มีการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมเป็นเขื่อนคันดินบดอัดและติดตั้งวัสดุเสริม Free Board มีระดับความสูงเขื่อนประมาณ 8.2 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง มีความยาวของเขื่อน 7.2 กิโลเมตร

              นายคณพศ ขุนทอง ผู้อำนวยการ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร กล่าวว่า  เขื่อนกันน้ำของทุกนิคมฯในพื้นที่ที่น้ำท่วมใน จ.พระนครศรีอยุธยา จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำใหม่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำในปี 2554 ไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทุกนิคม ยกเว้นนิคมฯสหรัตนนคร ที่บริษัทเจ้าของโครงการประสบภาวะล้มละลาย และศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ในเดือนเม.ย.2559 ทาง กนอ. จึงได้บอกยกเลิกสัญญาร่วมดำเนินงาน และขอใช้สิทธิ์เข้ามาบริหารระบบสาธารณูปโภครวมทั้งให้โอนกรรมสิทธิ์ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ กนอ. มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

              ทั้งนี้ กนอ. มีแผนที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำแบบคันดินป้องกันการกัดเซาะสูงกว่า 8 เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำสูงสุด 7.5 เมตร ในปี 2554  และปรับปรุงระบบระบายน้ำใหม่ทั้งหมด มีมูลค่ารวม 350 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอโครงการให้กับคณะกรรมการ กนอ. พิจารณา หากผ่านความเห็นชอบก็จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 9 เดือน ซึ่งหลังจากนั้น กนอ. จะรีแบรนด์ เปลี่ยนชื่อเป็นนิคมฯนครหลวง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในนิคม โดยในระหว่างการรอสร้างเขื่อนกั้นน้ำถาวร กนอ. มั่นใจว่ามาตรการเสริมเขื่อนคันดิน และมาตรการอื่นๆ และการประสานงานป้องกันน้ำท่วมกับกรมชลประทาน ทำให้มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมอย่างแน่นอน

              “หลังจากที่ กนอ. เข้ามาดูแลนิคมฯสหรัตนนคร ผู้ประกอบการก็มีความมั่นใจมากขึ้น โดยก่อนน้ำท่วมใหญ่มีโรงงานอยู่ในนิคมฯ 44 ราย แต่หลังจากน้ำท่วม ก็ย้ายออกไป 18 ราย ทำให้ปัจจุบันคงเหลืออยู่ 26 ราย ซึ่งในขณะนี้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจมากขึ้น ทำให้มีโรงงานเตรียมเข้ามาตั้งในนิคมฯ 5 ราย เป็นโรงไฟฟ้า 2 ราย โรงงานรีไซเคิล 1 ราย โรงงานผลิตชิ้นส่วนรองเท้า 2 ราย โดยในปัจจุบันนิคมฯสหรัตนนครมีพื้นที่พร้อมที่จะขาย 300 ไร่”

               นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในปีนี้กรมชลประทานได้เตรียมรับมืออุทกภัยอย่างเต็มที่ โดยได้ประสานกับชาวนาในพื้นที่ 7 แห่ง ในจ.พระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่ 6 หมื่นไร่ เร่งปลูกข้าวให้เร็วกว่าปกติ เพื่อให้เก็บเกี่ยวข้องได้เสร็จในช่วงปลายเดือน ก.ย. เพื่อรับมือน้ำหลากในเดือนต.ค. ทำให้มีพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มถึง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ใส่น้ำไปแล้วประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือรองรับได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังได้พร่องน้ำในคลองต่างๆตัดน้ำลงมาเรื่อยๆก่อนถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม คาดว่าภายใน 4-5 วันระดับน้ำจะลดลง เพราะในเดือนพ.ย.ก็จะเข้าสู่ฤดูหนาวไม่มีฝนลงมาแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมแน่นอน

             “ขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังอยู่ในระดับสีเขียว ระดับน้ำ +4.3 ยังไม่ถึงระดับสีเหลือง +6.5 ซึ่งเริ่มเข้าสูระดับเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม และคาดว่าภายใน 4-5 วันน้ำจะลดลงเรื่อยๆ”

             ส่วนการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว กรมชลประทาน ยังได้เร่งสร้างประตูระบายน้ำคลองบางพระครู  จะช่วยป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ตอนเหนือทั้งในพื้นที่นิคมฯต่างๆ และพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมแล้วกว่า 5.5 หมื่นไร่ ทำให้แก้ปัญหาในบริเวณนิคมฯสหรัตนนครได้อย่างเด็ดขาด และจะสร้างอีก 6 ประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่เกษตรกรรม และนิคมฯใช้งบประมาณ 300 กว่าล้านบาท จะเร่งก่อสร้างในปี 2561 และแล้วเสร็จในปี 2562 ซึ่งจะช่วยป้องกันน้ำท้วมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาได้อย่างถาวร

             นายปราโมทย์ พัฒนมงคล ผู้จัดการทั่วไป บ.คาโตเล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่นิคมสหรัตนนคร กล่าวว่า มีความมั่นใจในมาตรการรับมือน้ำท่วมของ กนอ. ที่ได้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ บริษัทได้ทำรายงานระดับน้ำจากเขื่อนหลักๆรายงานให้บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นรับทราบทุกวัน เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้บริหารญี่ปุ่นมากขึ้นเช่นกัน

              นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนรับมือฉุกเฉินน้ำท่วม ในเรื่องการบล็อกน้ำ ขนย้ายเครื่องจักร ขนย้ายพนักงาน จัดหาพื้นที่จัดเก็บ ซึ่งได้เช่าพื้นที่ชั่วคราวที่ใกล้กับลูกค้า เพื่อป้องกันปันหาการขนส่งในช่วงน้ำท่วม ซึ่งหากมีการประกาศเตือนภัยระดับเหลือง ก็จะนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ทันที

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ