ข่าว

“วิศวกรจีน”สอบผ่านฉลุย เล็งเซ็นแบบก่อสร้างไฮสปีด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วิศวกรจีน”สอบผ่านฉลุย เล็งเซ็นแบบก่อสร้างไฮสปีด

              นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยระหว่างงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน รุ่น 1 โครงการรถไฟความเร็วสูง วานนี้ (9 ต.ค.) ว่า ในวันที่ 22-25 ก.ย. ที่ผ่านมา สภาวิศวกรได้จัดการอบรมและทดสอบความรู้วิศวกรจีนที่จะร่วมทำงานในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนรุ่นที่ 1 จำนวน 77 คน ผลปรากฏว่าวิศวกรจีนทั้งหมดผ่านการทดสอบและยังมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

             วิชากฎหมายและจริยธรรมกำหนดว่า ผู้สอบผ่านต้องได้ 30 คะแนนขึ้นไป จากทั้งหมด 50 คะแนน แต่คะแนนเฉลี่ยของวิศวกรจีนกลับสูงถึง 42 คะแนน ส่วนวิชาเทคนิคและภูมิประเทศท้องถิ่นกำหนดว่าต้องได้ 60 คะแนน จากทั้งหมด 100 คะแนน ซึ่งวิศวกรจีนได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 84 คะแนน

            หลังจากนี้ สภาวิศกรจึงจะออกใบรองรับให้วิศวกรจีนทั้ง 77 คน ซึ่งวิศวกรจีนที่มีใบรับรองจะสามารถลงนามในแบบก่อสร้างและควบคุมงานได้ถูกต้องตามกฎหมายไทย แต่จะดำเนินงานได้เฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตรเท่านั้น

              นายอมร กล่าวต่อว่า สภาวิศกรต้องอบรมและทดสอบวิศวกรจีนทั้งหมดราว 400 คน แบ่งเป็น 4 รุ่น ซึ่งตอนนี้เหลือการอบรมและทดสอบอีก 3 ครั้ง โดยจะดำเนินการทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือน พ.ย. นี้ เพื่อให้สอดรับกับแผนก่อสร้างช่วง 3.5 กิโลเมตรแรก สถานีกลางดง-ปากอโศก ที่รัฐบาลวางแผนจะเริ่มในเดือน พ.ย. พอดี

             ด้านวิศวกรไทยประมาณ 400 คนจะเข้าร่วมถ่ายทอดความรู้ในขั้นตอนการควบคุมงานก่อสร้าง โดยการรถไฟฯ จะเปิดประมูลหาวิศวกรไทยเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานตามปกติ ซึ่งวิศวกรไทยกลุ่มนี้จะทำงานควบคู่กับฝ่ายจีน และจะต้องได้รับใบประกอบอนุญาตจากสภาพวิศวกรด้วย

             นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้การรถไฟฯ ได้ตรวจสอบร่างแบบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกแล้ว แต่ก็ต้องรอให้วิศวกรจีนที่มีใบรับรองลงนามในแบบจริงและส่งให้การรถไฟฯ พิจารณาภายในเดือน ต.ค. นี้ ถ้าหากแบบร่างและแบบจริงเหมือนกันก็ไม่น่ามีปัญหาใด ๆ และสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้

            ปัจจุบันมีเป้าหมายจะเริ่มก่อสร้างช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกในเดือน พ.ย. 2560 แต่การรถไฟฯ ก็ยังต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน โดยต้องรอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟฯ ว่าจ้างกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างช่วง 3.5 กิโลเมตรแรก จากนั้นต้องรอให้เส้นทางช่วงบ้านภาชี-นคราชสีมาผ่านความเห็นชอบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) จึงลงนามก่อสร้าง 3.5 กิโลเมตรแรกกับ ทล. ได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ