ข่าว

หมอวิชัย แจงยิบเลือกตั้งกรรมการ ยันยึดหลักพ.ร.บ.มหาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอวิชัย แจงยิบเลือกตั้งกรรมการ ยันยึดหลักพ.ร.บ.มหาชน

              นายแพทย์วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ผู้ถือหุ้นบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาประเด็น ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่งเรื่องให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) สอบสวนตนเรื่องการจัดการเลือกตั้งกรรมการบริษัท 

             ทั้งนี้ยืนยันว่า การเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธี Cumulative Vote นั้น มีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และมีบทสรุปว่าเป็นวิธีที่ดีและยึดมั่นในหลักกฏหมาย เนื่องจากมีประเด็นปัญหาจากข้อบังคับของบริษัท ขัดกับกฎหมายพ.ร.บ.บริษัทมหาชน 2535 จึงต้องยึดตามพ.ร.บ.ฯ เพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมาย 

          สำหรับ ประเด็นปัญหา ความแตกต่างของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน 2535 กับ ข้อบังคับบริษัทมหาชนกล่าวคือ ข้อบังคับของบริษัทมหาชนนั้น สามารถเขียนให้แตกต่างจาก พ.ร.บ. ได้ เพราะในมาตรา 70 บัญญัติว่า " เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้....."  และ ข้อบังคับที่แตกต่างนั้น จะต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งต้องไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งจะต้องมีความชัดเจน ไม่เคลือบคลุม ไม่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้น
        ซึ่งตามพ.ร.บ.ฯในมาตรา 70 ( 1) และ ( 2) สรุปความได้ว่า ให้ผู้ถือหุ้นมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถือ คูณด้วยจำนวนกรรมการที่จะเลือกตั้ง เมื่อได้คะแนนเสียงเท่าใดแล้ว ก็ใช้คะแนนนั้นทั้งหมดที่ได้มา เลือกบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ ในกรณีเลือกบุคคลหลายคนเป็นกรรมการ จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดก็ได้

              แต่ในข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 เขียนว่า กรรมการนั้นให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้ ( 1) เขียนบอกว่า ผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง มีคะแนนเสียงเท่ากับหนึ่งหุ้นต่อหนึ่งเสียง (2) เขียนว่า ผู้ถือหุ้นแต่ละคน จะต้องใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม(1) เลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ แต่จะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
              ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ข้อแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ. มาตรา 70(1)(2)  กับข้อบังคับในข้อ 20(1) และ(2) นั้น เป็นข้อแตกต่างในสาระสำคัญ จาก แบ่งคะแนนแก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดก็ได้ เป็น จะแบ่งคะแนนเสียงให้ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
              ดังนั้นแม้ตามนัยของพ.ร.บ.ฯมาตรา 70 แปลความว่า การเลือกตั้งกรรมการนั้น ถ้าข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ใช้ข้อบังคับนั้นๆไป ไม่ต้องใช้มาตรา 70 ก็ตาม แต่ข้อบังคับนั้นต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งต้องไม่เป็นการตัดสิทธิ์ผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทคนหนึ่งเหมือนกัน 

              เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด จะพบว่า ข้อบังคับข้อ 20(1) และ (2) ขัดต่อ พรบ.มาตรา 30 และมาตรา 69 ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งเป็นการจำกัดสิทธิผู้ถือหุ้น คือไม่ให้แบ่งเสียงเลือกกรรมการ ในกรณีต้องเลือกกรรมการเกินกว่าหนึ่งคน ข้อบังคับดังกล่าวจึงใช้บังคับไม่ได้
            นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้นจะเห็นว่า ข้อบังคับบริษัทข้อ 20(1) (2) นั้นไม่ชอบ จึงต้องเลือกตั้งโดยใช้ตามมาตรา 70(1)(2) ของพ.ร.บ.บริษัทมหาชน 2535 ซึ่งย่อมเป็นการกระทำหน้าที่ไปโดยสุจริต และเป็นทำเพื่อประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกๆคน 
               "ประเด็นการขัดกันระหว่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชน กับข้อบังคับบริษัท เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลต่อไป แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรเข้าใจในประเด็นนี้ โดยควรหาทางแก้ปัญหา จากการตัดสินใดๆที่ผ่านมา จนเกิดความเสียหายกับบริษัทและผู้ถือหุ้น" นายแพทย์วิชัย กล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ