ข่าว

   รัฐเดินหน้าผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

   รัฐเดินหน้าผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ยกร่างเว้นภาษีเพิ่มหนุนลงทุนในประเทศ

                นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เมื่อวานนี้ (3ต.ค.) มีมติรับทราบการดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานให้ ครม.รับทราบถึงการดำเนินการมาตรการสนับสนุน ได้แก่ มาตรการสนับสนุนด้านอุปทาน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ ครอบคลุมรถไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ,รถโดยสารไฟฟ้า กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้า และกิจการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 

             ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติกาารส่งเสริมให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฮบริด ด้วยกำลังการผลิตปีละ 70,000 คัน แบตเตอรี่ปีละ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนปีละ 9.1 ล้านชิ้น รวมเงินลงทุน 1.9 หมื่นล้านบาท 

             ขณะที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการลดภาษีสรรพสามิต โดยรถไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ลดลงกึ่งหนึ่งจากอัตราปกติ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ บีอีวี ลดเหลือ 2% ทั้งนี้การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สำหรับปลั๊ก-อิน ไฮบริด และบีอีวี จะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2561 

              ส่วนมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างยกร่างประกาศกระทรวงการคลังเพื่อยกเว้นอากร และร่างประกาศกรมศุลกากรเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และพิธีการศุลกากร 

              ทางด้านกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกันเพื่อหาทางแก้ไขข้อผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อแก้ข้อผูกพันสำหรับอัตราภาษีนำเข้าภายใต้พิกัด 8703.80 ที่กำหนดให้รถไฟฟ้าจากจีนสามารถส่งเข้ามาจำหน่ายโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในการตกลงระหว่างกันเมื่อปี 2546-2547 ทั้งนี้การพยายามแก้ไขข้อผูกพันดังกล่าว เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้มากขึ้น 

               ทางด้านมาตรการกระตุ้นการตลาดภายในประเทศ (Demand) สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างการดำเนินการสำรวจข้อมูลรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่จำหน่ายในประเทศจำนวน 3 ยี่ห้อ ได้แก่ นิสสัน, เทสลา (Tesla) และฟอมม์ (FOMM) โดยจะพิจารณาเข้าบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์หรือบัญชีนวัตกรรมไทย โดยจะกำหนดให้มีการนำรายการรถประจำตำแหน่งและรถที่ใช้ในหน่วยงานราชการมาเป็นประเภทรถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างของบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2561 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรถแท็กซี่ และรถตุ๊กๆ มาปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้มีปริมาณความต้องการในตลาดมากขึ้น

              ขณะที่การเตรียมความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้น กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และการไฟฟ้านครหลวง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว และเตรียมติดตั้งเพิ่มในอนาคต เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย โดยจะของบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปี 2561 เพื่อดำเนินการต่อไป 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ