ข่าว

“เน็ตประชารัฐ”กระทรวงดีอี3ปียังไม่ไปถึงไหน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“เน็ตประชารัฐ”กระทรวงดีอี3ปียังไม่ไปถึงไหน!

 

          จนป่านนี้งานในระดับนโยบาย(Policy) ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อสนองนโยบายรัฐหลายต่อหลายโครงการได้แต่ “ย่ำอยู่กับที่” ยังไม่ขยับไปจากเมื่อครั้งยังเป็นกระทรวงไอซีที
           เริ่มมาตั้งแต่เรื่องของดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ “ไทยคม”ที่เจ้ากระทรวงดีอีไม่ตัดสินใจอะไรเสียทีจนประเทศไทยจ่อจะสูญเสียวงโคจรดาวทียมสื่อสารแห่งชาติที่ว่านี้ไปแล้ว แม้วันนี้จะตกลงให้โอนภารกิจการกำกับดูแลทั้งมวลไปให้กสทช. แต่กระกระทรวงดีอีก็ยังจะเอาดาวเทียมกลับเข้าสู่ระบบสัมปทานอีกครั้ง
             มาถึง “เน็ตประชารัฐ” หรือโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล สนองนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” ที่นายก“ลุงตู่”หมายมั่นปั้นมือจะคืนความสุขแก่ประชาชนคนไทยได้สำลัก แต่ไม่รู้กระทรวงดีอีไปทำอีท่าไหนโครงการติดตั้งเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านที่รับผิดชอบ ผ่านมาวันนี้จะ 3 ปีเข้าไปแล้วก็ยังยักแย่ยักยันไม่ไปถึงไหน
             แม้บริษัท ทีโอทีจำกัด(มหาชน)ที่กระทรวงดีอีประเคนงานติดตั้งไปให้จะโอ่ผลงานติดตั้งแล้วเสร็จไปแล้ว  16,500 หมู่บ้าน แต่ผ่านมากว่า 6 เดือนก็ยังไม่เปิดใช้งานยังเชื่อมต่อเข้าบ้านเรือนประชาชนไม่ได้ ทำเอาประชาชนคนไทยเสียความรู้สึกไม่น้อย เพราะรัฐบาลอุตส่าห์ตีปี๊บผลงานชิ้นโบว์แดงมาต้ังแต่ปีมะโว้ กระทรวงดีอีเองก็ยิงสปอตโฆษณาเน็ตประชารัฐสร้างชาติไปทั่วทุ้งแคว้น แต่พอคนจะขอใช้ก็กลับไร้คำตอบ 
            นัยว่าเรื่องของเรื่องนั้นก็เพาะจนป่านนี้ยังเคาะราคารายเดือนไม่ลงตัว แถมยังมาเจอ “เน็ตชายขอบ” ของ กสทช.ที่ปาดหน้าเคาะราคาต่ำติดดินแค่เดือนละ 200 บาท ทั้งที่ต้นทุนดำเนินการแพงกว่าเน็ตประชารัฐเป็นเท่าตัว ทำเอา “เน็ตประชารัฐ” ที่ตั้งอยู่ในชุมชนไกลปืนเที่ยงแท้ ๆ แต่กลับตั้งแท่นจะคิดราคาสูงกว่าเป็นเท่าตัว 399-599 บาท/เดือนถึงกับ “ไปไม่เป็น” ต้องวิ่งวุ่นขอกลับไปโม่แป้งราคากันใหม่ยกกระบิ
                มาถึงแผนฟื้นฟูสองรัฐวิสาหกิจด้านกิจการสื่อสารของประเทศ บริษัททีโอทีจำกัด(มหาชน)และกสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)หรือแคทใต้ชายคาดีอี ที่จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการกันมาเสียดิบดี โดยในส่วนของแคทไปจับมือกับดีแทคจะนำเอาทรัพย์สินเสาสัญญาณมือถือกว่า 12,000 ต้นที่บริษัทเอกชนต้องส่งมอบให้รัฐตามสัญญาสัมปทานมาร่วมจัดตั้งบริษัทเพื่อให้บริการเช่าเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมหลังสัมปทานดีแทคสิ้นสุดลงปลายปี 2561 นี้เพื่อให้แคทยังคงมีรายได้ต่อเนื่องปีละ 10,000-20,000 ล้านบาทต่อไป 
              แต่เมื่อเสนอแนวทางไปยังกระทรวงดีอีก็ถูกตีกลับให้ไปทบทวนกันใหม่คร้ังแล้วคร้ังเล่า ล่าสุดก็นัยว่ากระทรวงดีอีตั้งแท่นจะเตะโด่งข้อเสนอไปให้ รองนายกฯวิษณุ เครืองาม ดูประเด็นกฎหมายว่าขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้รัฐต้องถือหุ้นในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยกว่า 51% หรือไม่อีก  
                 ในส่วนของบริษัททีโอทีที่ตั้งแท่นชงแผนดึงพันธมิตรธุรกิจ(Strategic Partner) ดึงบริษัทเอดับบลิวเอ็น(AWN )ในเครือเอไอเอสเข้ามาร่วมพัฒนาคลื่น 2100 MHz และดึงบริษัทดีแทค ไตรเน็ตเน็ทเวิร์ก(DTN) เข้ามาพัฒนาคลื่น 2300 MHz ที่แม้ทีจะมีหนังสือสอบถามความเห็นไปทั่วทุ้งแคว้น แต่ก็ทำท่าจะหยุดนิ่ง
              เพราะอุปสรรคใหญ่จริงๆ  ก็อยู่ที่เจ้ากระทรวงดีอีอีกนั่นแหล่ะ ทำให้หนทางฟื้นฟูกิจการทีโอทีและแคท รวมทั้งคืนความสุขประชาชนคนไทยจะได้พัฒนาตนเองสู่ไทยแลนด์ 4.0 ยังไปไม่ถึงไหนสักที

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ