ข่าว

ยุทธศาสตร์วิจัยฯ 20 ปี ดันไทยผู้นำนวัตกรรมโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยุทธศาสตร์วิจัยฯ 20 ปี ดันไทยผู้นำนวัตกรรมโลก

           วันที่ 20 ก.ย. นพ.ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) เพื่อนำงานวิจัยขับเคลื่อนประเทศที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 20 ปีว่า ร่างยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปีได้พิจารณาโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีและแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อมุ่งตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 โดยกำหนดวิสัยทัศน์การวิจัยและนวัตกรรมของประเทศว่า “ประเทศไทยใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกำลังอำนาจแห่งชาติ เพื่อก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปีด้วยความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

            ประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2.การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 3.การวิจัยและนวัตกรรมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานของประเทศ และ 4.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ 

         ทั้งนี้การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมมีการกำหนดสัดส่วนของงบประมาณเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ในปี 2561 งบประมาณ 52% ของงบประมาณการวิจัยทั้งหมดกำหนดให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ รวมทั้งตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะที่ในปี 2562 มีการกำหนดงบประมาณเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 60%

           อย่างไรก็ตาม การวิจัยเพื่อสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการซึ่งจะเป็นพื้นฐานการวิจัยในด้านต่างๆ ยังถือว่ายังเป็นนโยบายที่สภาวิจัยฯให้ความสำคัญและกำหนดสัดส่วนงบประมาณในด้านนี้ไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนาทั้งหมด

              กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมชาติ (สวทน.)ระบุว่าที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ ดังกล่าว และเสนอให้เพิ่มเติมในส่วนของยุทธศาสตร์ด้านดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งรวมถึงระบบป้องกันภัยธรรมชาติ และการรับมือกับด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ครอบคลุมการทำงานในทุกมิติ โดยสวนช. หาวิธีการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมกระจายลงในแต่ละภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจใช้รูปแบบการจัดสรรงบประมาณโดยการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยเรื่องวิจัยและนวัตกรรม และการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น

           สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า (2579) ตั้งเป้าหมายว่า ให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สร้างความสามารถในการแข่งขัน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนอกจากจะมุ่งหวังให้ไทยเป็นประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นผู้นำในนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในระดับโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมสารชีวภาพ อุตสาหกรรมด้านวัสดุการแพทย์ และการท่องเที่ยวและบริการที่มีมูลค่าสูง ทั้งนี้จำเป็นต้องยกระดับให้มีการพัฒนาดีขึ้นในทุกด้านของตัวชี้วัดของการวิจัยและพัฒนาในทุกๆด้าน ได้แก่ เพิ่มค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาจากปัจจุบันอยู่ที่ 0.62% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้มาอยู่ที่ 2% ของจีดีพี โดยคาดว่าภายใน 3- 4 ปี หรือภายในปี 2565 การใช้งบประมาณในด้านนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1% ของจีดีพี

             การเพิ่มสัดส่วนการใช้งบประมาณในการวิจัยระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐจากปัจจุบันอยู่ที่สัดส่วน 70: 30 ไปอยู่ที่ 80:20 หรือภาคเอกชนเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาในระดับ 80% ของงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยและนวัตกรรมในภาพรวมของประเทศ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าการดำเนินงานของภาครัฐ ขณะที่สัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรควรจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วคือในระดับ 60 คนต่อประชากร 10,000 คน จากที่ปัจจุบันมีอยู่ในสัดส่วนที่น้อยเพียง 13.6 คนต่อประชากร 10,000 คนเท่านั้น

              พล.อ.ประจิน จั่นตอง  รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมว่างานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การที่มีหน่วยงานที่เข้ามากำกับเพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนงานวิจัยได้ครอบคลุมจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้จัดตั้ง สำนักงานสภาการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยในระยะแรกให้ตั้งเป็นสำนักงานและอยู่ภายใต้สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งในส่วนนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และจะต้องสามารถชี้แจงถึงรูปแบบของสำนักงานภายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญทางด้านระบบวิจัยและนวัตกรรมทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา เข้ามาเป็นที่ปรึกษา 

            โดยการดำเนินงานของสำนักงานในระยะแรกให้มีการสังเกตการณ์และประมวลผลการทำงานเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการดำเนินงานของสำนักงานฯ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการดำเนินงานของสำนักงานในระยะที่ 2 ภายหลังมีกฎหมายแล้วว่าจะดำเนินงานในรูปแบบใด

              “นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และเน้นย้ำการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรมลงพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยให้คำนึงถึงภูมิภาคทั้ง 6 ภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายด้านการจัดสรรงบประมาณให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และควรมีการเพิ่มเติมในส่วนของงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ อาทิ เรื่องน้ำ และเรื่องผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ”

              นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติ พ.ร.บ.การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม โดยเห็นชอบให้ดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะที่1 เสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาจัดทำเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วและระยะที่2 นำเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อ ครม. พิจารณาตามขั้นตอนคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน

              กานต์ ตระกูลฮุน ประธานกรรมการบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเอกชนมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาก เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญและลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ภาคเอกชนลงทุนวิจัยเพิ่มขึ้น จากที่เคยลงทุนเพียง 0.2 % มานับสิบปี เพิ่มสูงขึ้นเป็น 0.62% ในปี 2558 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันไม่ใช่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนเรื่องงานวิจัย ตอนนี้หลาย ๆ กระทรวงก็ชูประเด็นงานวิจัยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดี แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่จุดประกายและผลักดันให้เกิดการตื่นตัวด้านงานวิจัยในทุกภาคส่วน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ