ข่าว

บินไทยผนึก“จุฬางกูร” เพิ่มทุนนกแอร์1.7พันล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บินไทยผนึก“จุฬางกูร” เพิ่มทุนนกแอร์1.7พันล้าน

 

 หลังจากบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) อดีตผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เคยถือครองหุ้นสัดส่วน 39.2% ปฏิเสธการเพิ่มทุนในสายการบินนกแอร์รอบแรก โดยอ้างความไม่ชัดเจนของแผนธุรกิจ ส่งผลให้สัดส่วนหุ้นหล่นมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 สัดส่วน 21.57% เป็นรอง นายณัฐพล จุฬางกูร ที่ขยับมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ที่สัดส่วน 23.51%  ล่าสุดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นนกแอร์วันที่ 20ก.ย. มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนรอบ 2 อีก 1.7 พันล้าน  

 นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริการ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือNOK กล่าวว่าที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นนกแอร์ครั้งที่ 1/2560 มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทรอบที่ 2 จำนวน 1,207 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1,292 ล้านบาท รวมเป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 2,499 ล้านบาท

นอกจากนี้ อนุมัติการจัดสรรหุ้นสามัญใหม่จากการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 1,135 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights offering:RO) ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ด้วยราคาเสนอขายหุ้นละ 1.50 บาท และจัดสรรหุ้นสามัญใหม่จากการเพิ่มทุนในจำนวนไม่เกิน 71 ล้านหุ้น เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ครั้งที่ 1 โดยนกแอร์จะเปิดให้จองซื้อและชำระค่าหุ้นระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. นี้

 นายปิยะ กล่าวว่า การเพิ่มทุนรอบที่ 2 น่าจะทำให้บริษัทระดมทุนได้ราว 1,700 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ในการซ่อมบำรุงและเช่าเครื่องบิน นอกจากนี้จะปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายเพื่อทำให้นกแอร์กลับมามีกำไรอีกครั้ง

“วงเงิน 1,700 บาทเพียงพอสำหรับการดำเนินงานนกแอร์ ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องมีพันธมิตรต่างชาติหรือผู้ถือหุ้นใหม่เพิ่ม ถ้ามีพันธมิตรก็คงเป็นตัวช่วยประสานให้การทำงานต่าง ๆ สอดคล้องกัน” นายปิยะกล่าว 

นอกจากนี้ นกแอร์ยังได้จัดทำแผนฟื้นฟูระยะ 3 ปี ระหว่างปี 2560-2562 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ลดขาดทุน, ระยะที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพ และระยะที่ 3 ขยายตัว แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย จึงต้องมีการปรับปรุงและทบทวนแผนฟื้นฟูเป็นระยะ

สำหรับตอนนี้นกแอร์มีฝูงบินทั้งหมด 31 ลำ แบ่งเป็นโบอิ้ง737-800 จำนวน 20 ลำและเพิ่งรับใหม่ วันที่ 20 ก.ย. อีก 1 ลำ รวมเป็น 21 ลำ,Q400 Next Gen จำนวน 8 ลำ และ ATR72-500 จำนวน 2 ลำ แต่จะปลดระวางเครื่องบินบางส่วนก่อนกำหนดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน

โดยปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 มีแผนจะปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวนไม่เกิน 5 ลำ  ส่วนนี้เป็นเครื่องเก่าและกำลังจะปลดระวางระหว่างปี 2561-2563 นอกจากนี้มีแผนจะปลดระวาง ATR72-500 จำนวน 2 ลำ เพราะไม่สอดคล้องกับฝูงบินส่วนใหญ่ จากนั้นจะเพื่อย้ายนักบินและช่างซ่อมบำรุงไปดูแลฝูงบินที่เหลือ

ในปี 2561 นกแอร์จึงจะเหลือฝูงบินรวม 24 ลำ จากนั้นในปี 2562 จะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 787Max ที่สั่งซื้อไว้แล้วจำนวน 2 ลำ, ในปี 2563 รับมอบอีก 2 ลำและในปี 2564 รับมอบ 4 ลำสุดท้าย 

นายปิยะ กล่าวว่า นกแอร์ยังมีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ในตลาดจีน ตลาดรอง และตลาดในประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ โดยตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. นี้ นกแอร์จะเปิดให้บริการเครื่องแบบเช่าเหมาที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อบินไปยัง 5 เมืองรองของประเทศจีน ได้แก่ หลินยี นานชาง ไห่โข่ง ฉางชา และอินชวน จำนวนรวม 12 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ รวมถึงมีแผนจะขยายเส้นทางในประเทศที่เป็นจุดแข็งของนกแอร์เพิ่มเติมในทุกภาค โดยจะลงพื้นที่หารือกับนักธุรกิจท้องถิ่นเพื่อสำรวจความต้องการของตลาด รวมทั้งเพิ่มความถี่เส้นทางต่างประเทศอีกด้วย และยังมีแนวคิดที่สภาพภาพลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์นกแอร์มีความทันสมัยมากขึ้น  

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว กรรมการสายการบินนกแอร์ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการบินไทยพร้อมเพิ่มทุนในนกแอร์ด้วยวงเงิน 380 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในนกแอร์ไว้ที่ 21.57% เช่นเดิม เนื่องจากตอนนี้แผนฟื้นฟูและแนวทางบริหารจัดการของสายการบินนกแอร์มีความชัดเจนแล้ว

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้การบินไทยและกลุ่มจุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 จะเข้าไปช่วยบริหารงานในนกแอร์ใกล้ชิดขึ้น โดยจะตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ (เอสคอม) เข้ามาช่วยบริหาร ประกอบด้วย ตัวแทนจากการบินไทยเข้ามาดูเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และกลุ่มจุฬางกูรจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยบริหารด้านการเงิน ซึ่งเบื้องต้นจะมีการประชุมนัดแรกวันที่ 27 ก.ย. นี้ 

โดยแผนฟื้นฟูระยะของนกแอร์ ระบุว่า จะสามารถกลับมามีกำไรได้ในปี 2561 ส่วนสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกอีกแห่งหนึ่งของการบินไทย จะพยายามผลักดันให้มีกำไรภายในปีนี้ หรืออาจเหลือติดลบเล็กน้อย แต่ปี 2561 ไทยสมายล์จะมีกำไรอย่างแน่นอน ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของการบินไทย ส่วนผลประกอบการของการบินไทยในปี 2560 คาดจะมีรายได้จากการขายประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และรายได้รวม 1.9 แสนล้านบาท ส่วนกำไรต้องพิจารณาจากการลดต้นทุนอีกครั้ง

ด้านยอดขายบัตรโดยสารออนไลน์ขณะนี้เติบโตดี อยู่ที่ 28% ใกล้เคียงกับเป้าหมายทั้งปีที่ 30% ส่วนรายได้ต่อหน่วยขณะนี้อยู่ที่ 1.8 บาทต่อกิโลเมตร แต่คาดว่าจะผลักดันให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 บาทต่อกิโลเมตร ภายในปีนี้แน่นอน เพราะก่อนหน้านั้นการบินไทยได้ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงเส้นทางบินระหว่างประเทศ รวมทั้งขณะนี้ยังใช้นโยบายบริหารราคาสำหรับตลาดที่มีคุณภาพดีและมีอัตราบรรทุกสูงประมาณ80% เช่น ญี่ปุ่น โดยอาจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ต่อที่นั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายณัฐพล จุฬางกูร ผู้ถือห้นใหญ่สายการบินนกแอร์ สัดส่วน 23.51% พร้อมใส่เงินเพิ่มทุนตามสิทธิ์ หากใช้สิทธิ์เต็ม อาจจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการบอร์ดการบินไทย กล่าวว่า การพิจารณาเพิ่มทุนในนกแอร์ ต้องคำนึงถึงคำท้วงติงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ซึ่งได้มีหนังสือเตือนให้การบินไทยว่า ควรพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากฐานะของการบินไทยปัจจุบันยังไม่ดีเท่าไหร่  ดังนั้น การจะไปใส่เงินเพิ่มทุนให้นกแอร์ก็ต้องมั่นใจว่าจะเกิดผลดีจริงไม่ใช่ใส่เงินเพิ่มทุนแล้วจะแย่ลงไปอีก  

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ