ข่าว

คลังหวังบัตรสวัสดิการรัฐ ดันกำลังซื้อฟื้นศก.ฐานราก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลังหวังบัตรสวัสดิการรัฐ ดันกำลังซื้อฟื้นศก.ฐานราก

 

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะเปิดให้ประชาชนที่ลงทะเบียนตรวจสอบรายชื่อว่าผ่านคุณสมบัติหรือไม่ในวันที่ 15 ก.ย.นี้  ผ่าน 3 ช่องทาง ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติสามารถยื่นขออุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 29 ก.ย.2560

สำหรับการประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งจะดำเนินการผ่าน 3 ช่องทาง แบ่งเป็น ช่องทางที่ 1 ตรวจสอบด้วยตัวเองหรือขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ได้แก่ www.epayment.go.th www.mof.go.th และ www.fpo.go.th โดยพิมพ์เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักลงไปในช่องที่กำหนด ระบบจะแจ้งผลการตรวจสอบ

ช่องทางที่ 2 ตรวจสอบผ่านสายด่วน 6 หน่วยงาน ในเวลาราชการ ได้แก่ 1.Call center ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 1359 2. Call center ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 02-555-0555 3.Call center ของธนาคารออมสิน 1115 4.Call center ของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 02-111-1111 5.Call center ของกรมบัญชีกลาง 02-270-6400 และ 6.เบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต

ช่องทางที่ 3 ตรวจสอบ ณ ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือหน่วยงานอื่นตามที่กรมการปกครองเห็นสมควร และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงการคลังจะส่งรายชื่อแยกตามจังหวัด อำเภอ และตำบล ส่งให้กระทรวงมหาดไทย และแยกเป็นรายเขตส่งให้กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการติดประกาศผู้มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่อไป 

ในด้านกระบวนการอุทธรณ์คุณสมบัติ ในกรณีผู้ลงทะเบียนที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและต้องการอุทธรณ์ สามารถขออุทธรณ์ให้ตรวจสอบคุณสมบัติใหม่ได้ภายในวันที่ 29 ก.ย.2560 ได้ที่ผ่าน 3 ช่องทางการตรวจสอบดังกล่าวข้างต้น จากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้เวลาตรวจสอบภายใน 1 สัปดาห์และแจ้งผลการอุทธรณ์มาให้กระทรวงการคลังภายใน 16 ต.ค.นี้ จากนั้น กระทรวงการคลังจะประกาศผลการอุทธรณ์ในวันที่ 24 ต.ค.นี้ กรณีผู้ที่ไม่ผ่านสิทธิ์อีกครั้ง จะมีการแจ้งด้วยว่า ไม่ผ่านเนื่องจากสาเหตุอะไร

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผู้มีสิทธิได้รับบัตรฯ สามารถไปรับบัตรฯ ได้ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ได้ไปลงทะเบียนไว้ได้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.เป็นต้นไป ผู้มีสิทธิ์สามารถนำบัตรไปใช้สิทธิ์ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบการเกษตรจากร้านธงฟ้าประชารัฐ โดยผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี จะได้รับ 300 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปี จะได้รับ 200 บาทต่อคนต่อเดือน 

ปัจจุบันร้านธงฟ้าที่มีการติดตั้งเครื่องรับบัตรดังกล่าวมีอยู่ประมาณ 6 พันแห่งทั่วประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายให้มีร้านธงฟ้าประมาณ 2 หมื่นแห่ง โดยมีเป้าหมายว่า ในจำนวนผู้มีบัตร 600 ราย จะต้องมีร้านธงฟ้าอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 1 แห่ง นั่นหมายความว่า แต่ละเดือนจะมีจำนวนเงินที่ใช้จ่ายในร้านธงฟ้าประมาณ 1.8 แสนบาท ซึ่งจุดนี้ จะช่วยให้ร้านธงฟ้า ซึ่งเป็นร้านโชว์ห่วยขนาดเล็กกลับมาคึกคัก และทำให้เศรษฐกิจรากหญ้ากระเตื้องขึ้น

นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิ์ยังได้รับวงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยให้วงเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาทต่อคนต่อเดือน 2.วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3.วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวระหว่างการสัมมนาในหัวข้อ “บทบาทผู้สูงอายุกับการพัฒนาในหลากหลายมิติ” วานนี้ (13 ก.ย.) ว่าในปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ในระหว่างผลักดันให้แรงงานทั้งในและนอกระบบให้มีความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งพบว่ายังมีการออมเพื่อวัยเกษียณในสัดส่วนที่น้อยและมีรายได้ไม่แน่นอนซึ่งในปัจจุบันแรงงานนอกระบบจำนวนมากได้มีการลงทะเบียนเป็นผู้รับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยจากภาครัฐเนื่องจากมีรายได้ไม่ถึงปีละ 1 แสนล้านบาท 

โดยเร็วๆนี้กระทรวงแรงงานจะเสนอแพคเกจการพัฒนาอาชีพให้กับผู้ที่รับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยจากภาครัฐให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยเหล่านี้โดยมีเป้าหมายให้ผู้รับสวัสดิการประมาณ 50% ของผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นในการดำรงชีวิต และมีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายเงินสมทบให้กับกองทุนประกันสังคมซึ่งตามกฎหมายเปิดช่องทางให้แรงงานนอกระบบสามารถส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ได้ทั้งในเรื่องของเงินช่วยเหลือการว่างงาน ค่ารักษาพยาบาล

ค่าชดเชยรายวันในกรณีที่ป่วยไม่สามารถทำงานได้กรณีนอนโรงพยาบาลได้รับวันละ 300 บาท กรณีไม่นอนโรงพยาบาลได้รับวันละ 200 บาท เงินช่วยเหลือค่าทุพลภาพเดือนละ 1500 บาท(จ่ายตลอดชีพ) และค่าช่วยเหลือทำศพ 4หมื่นบาทซึ่งจะเห็นว่าการเป็นผู้ประกันตนถือว่าเป็นหลักประกันให้กับแรงงานได้ดีกว่าการขอรับสวัสดิการจากภาครัฐที่ใช้จ่ายแล้วหมดได้ โดยการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับแรงงานนอกจากช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในภาพรวมยังเป็นการลดงบประมาณที่ภาครัฐจะจัดสรรให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วย

“ประกันสังคมถือว่าเป็นหลักประกันให้กับแรงงานได้เป็นอย่างดีกระทรวงแรงงานจึงต้องการที่จะผลักดันให้แรงงานโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อยได้มีรายได้เพิ่มจากทักษะที่มากขึ้น และเมื่อมีรายได้เพิ่มก็สามารถที่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมแบบสมัครใจได้ซึ่งจะได้รับสวัสดิการที่ดีกว่าการขอรับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยจากรัฐ”

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ