ข่าว

 3หน่วยงานผนึกเครือข่ายผลิตไฟฟ้าชีวมวล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 3หน่วยงานผนึกเครือข่ายผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพิ่มรายได้เกษตรกรสู่ความมั่นคงทางพลังงาน

   

กลายเป็นอีกหนึ่งพลังงานหมุนเวียนสะอาดที่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนต้องรีบวิ่งหา ก่อนที่โอกาสจะริบหรี่ด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับพลังงานไฟฟ้าชีวมวล ล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ด้วยการลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู)เป็นเวลา 5 ปีในการวิจัยและพัฒนาแสวงหาวัตถุดิบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากชีวมวล หลังพลังงานจากฟอสซิลเริ่มลดน้อยถอยลงและมีปัญหาในเรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะถ่านหิน

จากการที่กฟผ.มีแผนในการผลิตพลังงานทดแทนตามนโยบายของกระทรวงพลังงานและรัฐบาล ซึ่งได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี (Power Development Plan:PDP) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและแก๊สชีวภาพเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักที่กฟผ.มุ่งพัฒนาเพื่อตอบโจทย์เรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันก็สามารถร่วมมือกับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในการรวบรวมชีวมวลจากภาคเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน สร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย

“กฟผ.เองตอนนี้จากเดิมเรามีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี 2558 มีพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ปรับใหม่เพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ ที่จะทำในปี 2579 ก็จะมีพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 900 เมกะวัตต์ แล้วก็โรงไฟฟ้าชีวมวล 600 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นพลังงานลม พลังงานน้ำท้ายเขื่อน พลังงานขยะและก๊าซชีวภาพ รวมๆ กันแล้วประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ นี่คือที่มาของการลงนามเอ็มโอยูในวันนี้”

สหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการฝ่ายพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวตอนหนึ่งภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ระหว่าง 3 หน่วยงานคือ กฟผ. มก. และ กยท. โดยยอมรับว่าปัจจุบันชีวมวลเป็นเรื่องสำคัญของภาคการเกษตร ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านการมีการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะชีวมวลมีสัดส่วนอยู่ที่ 2,800 เมกะวัตต์ มากขึ้นอย่างชัดเจนจากกำลังผลิดทั้งหมดในขณะนี้อยู่ 5,700 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 40 ตามแผนทั้งประเทศ โดยพลังงานชีวมวลก็ยังเป็นอันดับ 2 รองจากพลังงานจากฟอสซิล  

"ในส่วนของกฟผ.ตอนนี้อยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ ก็ต้องกลับมาดูความต้องการใช้เชื้อเพลิงอย่างไร โรงไฟฟ้าชีวมวลหัวใจสำคัญที่สุดคือตัวเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงมาจากไหน ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาล หรือใยปาล์มที่หีบแล้วจากโรงงานน้ำมันปาล์ม แต่ถ้าจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลและของประเทศแล้วเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างเดียวอาจจะไม่พอ กฟผ.จึงมองไปที่ไม้โตเร็วเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นกระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส หรือแม้กระทั่งไม้ยางพาราและหญ้าพลังงาน

รองผู้ว่าการ กฟผ. ยอมรับว่า วัตถุดิบจากไม้ยางพาราที่จะนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงนั้นจะต้องใช้ไม้ยางพารามีอายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งคงให้ผลผลิตได้น้อย เนื่องจากหลังจากการตัดโค่นเนื้อไม้ส่วนใหญ่จะเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่มีมูลค่ากว่า ส่วนเศษกิ่่งไม้ที่เหลือจึงจะเอามาเป็นเชื้อเพลิง หากกฟผ.ทำครบ 600 เมกะวัตต์ตามแผนพีดีพีในปี 2579 หรือในอีก 20 ปีข้างหน้า เชื้อเพลิงในส่วนนี้คงไม่พอแน่นอน เพราะพลังงานไฟฟ้าขนาด 600 เมกะวัตต์ จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงชีวมวลประมาณ 9 ล้านตันต่อปี หากตีเป็นมูลค่าประมาณ 800 บาทต่อตัน คิดเป็นเงินประมาณ 7,200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็จะลงไปสู่เกษตรกรต่อไป 

“ถ้าดูภาพรวมของทั้งประเทศประมาณ 5,700 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 10 เท่าของที่กฟผ.ทำ คิดเป็นเงิน 5 หมื่นกว่าล้านบาท เงินก้อนนี้ก็จะกลับเข้าไปสู่เกษตรกรเช่นกัน ก็ดีใจที่ทางมก.มีส่วนร่วมในเชิงวิชาการวิจัย หาพันธุ์ไม้ที่ดีๆ ผลผลิตที่สูงให้เกษตรกรนำไปปลูก ซึ่งจะช่วยประเทศไทยไปด้วยกัน”

สหรัฐ เผยต่อว่า จุดดีอีกประการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศลง ปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งประเทศอยู่ในประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก ซึ่งในแผนนี้ประเทศไทยก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์จากแผนการดำเนินการปกติ ดังนั้นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจะสามารถประหยัดพลังงานลงได้และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ในปี 2030 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า 

นอกจากนั้น แล้วกฟผ.ยังมีการร่วมมือกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ในการสนับสนุนกล้าพันธุ์ไม้และพื้นที่ปลูกต้นไม้โดยเร็ว ตลอดจนการร่วมลงทุนกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มสหกรณ์ในการสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจ โดยมีการจัดสรรหุ้นให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มสหกรณ์เหล่านี้อยู่ที่ 10-20% จากนั้นเมื่อครบปีโรงงานไฟฟ้ามีผลกำไรก็จะแบ่งปันกลับคืนสู่สมาชิกกลุ่ม

“สิ่งที่เกษตรกรจะได้เมื่อมีโรงไฟฟ้าก็คือประการแรกรายได้จากการขายเชื้อเพลิง เพราะเมื่อกฟผ.สร้างโรงไฟฟ้า พัฒนาโรงไฟฟ้าแล้วก็จะซื้อเชื้อเพลิงจากเกษตรกรในรูปของสหกรณ์หรือวิสหกิจชุมชนที่ปลูกพืชพลังงานแล้วมาขายให้แก่ทางโรงไฟฟ้า ส่วนที่สอง กฟผ.ก็จะให้ภาคประชาชนในรูปของกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนมาร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าในสัดส่วน 10-20 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมด ฉะนั้นรวมแล้วปีหนึ่ง เมื่อกฟผ.ขายไฟฟ้าได้มีกำไรก็จะมีปันผลส่วนนี้กลับไปสู่เกษตรกร เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่จะมาร่วมกับทางกฟผ. จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จาก 2 ส่วนด้วยกัน คือรายได้จากการขายเชื้อเพลิงและกำไรจากการปันผลที่เข้ามาร่วมลงทุนกับกฟผ. อันนี้จะเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่เรียกว่าประชารัฐ”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ากฟผ.มีกำหนดสร้างโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลโรงแรกในปี 2563 เบื้องต้นขนาด 10 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะทยอยสร้างเพิ่มเติมเป็นลำดับจนครบ 600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 60 โรงในปี 2579 ส่วนวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเบื้องต้นได้แก่ ไม้พาราผสมด้วยไม้โตเร็ว  

ณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบสำหรับการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงงานไฟฟ้าชีวมวลว่า ภารกิจหลักของ กยท.จะดูแลกระบวนการผลิตทั้งระบบ ทั้งเรื่องตัวเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร พื้นที่ปลูก ผู้ประกอบการและการแปรรูป รวมถึงการตลาด กยท.จะดูแลในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ปลูกยันโค่น  ในส่วนที่ดำเนินการดูแลเกษตรกรชาวสวนยางพารา นอกจากการปลูกยางใหม่ทดแทน การส่งเสริมสวัสดิการด้านต่างๆ การจัดรูปแบบในการปลูกแทนเพื่อลดความเสี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็จะปลูกร่วมกับไม้เศรษฐกิจอื่น ไม้ยืนต้นอื่น ไม้โตเร็วเสริมเข้าไปด้วย สิ่งเหล่านี้กยท.ได้ทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน 

“วันนี้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเดินเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า กยท.ช่วยหน่อยเถอะ ตอนนี้ไม้ยางก็ยังไม่พอ วันนี้ไม้ยางพาราที่โค่นปีละ 4 แสนยังไม่พอ ไม้ยางเฉลี่ย 1 ไร่ได้ประมาณ 10 ตัน ไม้ที่ตัดฟันนำไปผลิตเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์นำมาผลิตเชื้อเพลิงหรือประมาณ 5 ตันต่อไร่ จากข้อมูลพื้นฐานที่เราดูแลทั้งหมด ณ เวลานี้ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยและมีเอกสารสิทธิทั่วประเทศ อยู่ที่ประมาณ 14,406,000 ไร่ ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 4 แสนกว่าไร่ รวมแล้วประมาณ 19 ล้านไร่เศษ”

ณรงค์ศักดิ์ยอมรับว่า ประเด็นของการปลูกไม้โตเร็วนั้น กยท.ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 โดยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับปลูกไม้โตเร็วแซมในพื้นที่สวนยางปลูกใหม่ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 2 จังหวัดได้แก่ เชียงราย และพะเยา ภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราธานี ศรีสะเกษ บึงกาฬ และหนองคาย รวมเนื้อที่ 3 หมื่นไร่ต่อปี ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกทดแทนใหม่ โดยเริ่มปลูกในปี 2561 ที่บึงกาฬและหนองคาย ซึ่งสองจังหวัดนี้ใช้พื้นที่ประมาณ 6 แสนกว่าไร่

“ความจริงพื้นที่ปลูกใหม่ทดแทนของเดิม กยท.มีตัวเลขฟันไม้ออกจากแปลงเพื่อขอทุนปลูกแทนประมาณ 4 แสนไร่ต่อปี โดยให้ทุนไร่ละ 16,000 บาท เกษตรกรโค่นยางปลูกไม้เศรษฐกิจอื่นก็ได้ โค่นยางปลูกปาลล์มก็ได้ โค่นยางปลูกไม้ผลก็ได้ หรือเป็นการใช้พื้นที่ว่างเปล่าหัวไร่ปลายนาของเกษตรกรให้เกิดประโยชน์ด้วยการนำไม้โตเร็วมาปลูกก็ได้หรือนำไม้โตเร็วมาปลูกร่วมกับยางที่ปลูกใหม่ในช่วงตั้งแต่ปลูกจนถึงก่อนเปิดกรีด ตั้งแต่ปีแรกแล้วมีการตัดฟันไม้ 2 รอบ เกษตรกรจะมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาทต่อไร่  ซึ่งตรงนี้เป็นโมเดลตัวหนึ่งที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในประเทศ” หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร กยท. กล่าวย้ำ

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)กล่าวว่าในส่วนของมก.จะร่วมมือกับกฟผ.ทำการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องและข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานกับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในการวางแผนจัดหาและรวบรวมชีวมวล รวมทั้งการศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่เพื่อหาความเหมาะสมในการปลูกพืชพลังงาน ศึกษา คัดเลือกและจัดหาพันธุ์พืชพลังงานที่มีความเหมาะสมเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการนำไปปลูกและส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่รอบโครงการ ตลอดจนให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อให้การบริหารจัดการพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงรวบรวมและนำเสนอผลสำรวจความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นด้วย 

“อยากให้ทุกฝ่ายทำให้อนาคตของประเทศเป็นจริง เท่าที่วิเคราะห์ดูจุดหนึ่งการใช้พลังงานชีวมวลของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เราดีกว่า มีความพร้อมมากกว่า ข้อดีของมก.เรามีการทำครบวงจร  มีทั้งคณะวนศาสตร์ คณะเกษตร และคณะวิศวกรรม เรามีไม้พลังงานหลายตัวที่ทำวิจัยออก รวมถึงหญ้าพลังงานที่ได้ค้นคว้าทดลองเอาไว้ เพราะการวิจัยเราก็คือสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นด้วย มันเป็นอะไรที่ได้ประโยชน์หลายต่อ เพราะฉะนั้นที่บอกว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง ถ้าหากไม่มีการร่วมมือกับหน่วยงานอย่างกฟผ.และกยท.มันก็จะอยู่บนหึ้งจริงๆ เพราะไม่มีคนที่นำไปใช้ วันนี้ป็นโอกาสที่ดีที่เราจะนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์กับประเทศจริงๆ แล้วคงจะเห็นผลได้ภายใน 3-5 ปีนี้” รักษาการแทนอธิการบดีมก. กล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐวิสาหกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในอนาคต

                                            .......................................................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ