ข่าว

 เปิดเวทีถกยุทธศาสตร์“ไทย-ญี่ปุ่น”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดเวทีถกยุทธศาสตร์“ไทย-ญี่ปุ่น” หวังปั้นไทยเป็น“ฮับ”เชื่อมกลุ่มCLMV

          เสร็จภารกิจวันแรกในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่น 570 บริษัท จำนวน 588 ราย และสื่อมวลชน 22 ราย นำโดยนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 หลังเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องในโอกาสที่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศได้ดำเนินมาสู่ปีที่ 130 ปีในวันที่ 26 กันยายนนี้ และร่วมหารือข้อราชการในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจตามแผนการลงทุนในอีอีซีและโครงการต่างๆ เพื่อสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อช่วยยกระดับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย ให้เป็นแลนด์มาร์คของแหล่งอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย  โดยวางไทยเป็นฮับกระจายสินค้าสู่อาเซียน พร้อมเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

               วานนี้ (12 ก.ย.) คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นและผู้ประกอบการไทยกว่า 1,200 รายเข้าร่วมสัมมนา “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย–ญี่ปุ่น ภายใต้การเชื่อมนโยบาย Thailand 4.0 towards Connected Industries” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแบงคอก แมริออท ควีนส์ ปาร์ค สุขุมวิท ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างไทย กับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) พร้อมพบมหกรรมการจับคู่ธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดจากผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นกว่า 1,200 ราย ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ออโตโมบิลส์ อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และบริการ  โดยมี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า 

           ในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตสูงถึงร้อยละ 10-12 แต่เป็นการเติบโตที่ขาดดุลยภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องการความสมดุลของการเติบโต จากภายนอกที่เน้นการส่งออก รวมถึงการเติบโตภายในที่เน้นเศรษฐกิจฐานราก Local Economy รวมถึงการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงต้องปรับโครงสร้างเน้นการเพิ่มมูลค่า ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงอาศัยความร่วมมือพันธมิตร โดยเฉพาะญี่ปุ่นในการร่วมสร้างผู้ประกอบการใหม่ สตาร์ทอัพ

             ปัจจุบัน ญี่ปุ่นยังคงเป็นชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยในช่วงครึ่งปีแรกญี่ปุ่นมีเงินลงทุนโดยตรงไปแล้วกว่า 4.73 หมื่นล้านบาท มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นอีกร้อยละ 55 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติ มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุดคิดเป็นอีกร้อยละ 55 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น การผลิต Hybrid Vehicle มูลค่า 19,547 ล้านบาท กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท กิจการผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ มูลค่า 3,083 ล้านบาท ฯลฯ นอกจากนี้จำนวนสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนถึง 1,748 บริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศยังต้องมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันอีกมาก

             ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีบทบาทในการช่วยเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งไทยมีทิศทางที่ชัดเจนที่ต้องการเดินไปพร้อมพันธมิตรและประเทศข้างเคียง แต่หากแยกกันเดิน อาเซียน และ CLMVT จะไม่มีความหมาย แต่หากประเทศอื่นพัฒนาเติบโต ประเทศไทยจะมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นจากการเป็นศูนย์กลางการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน จากการผลักดันนโยบาย One Belt One Road ของจีน ที่ทุกเส้นทางจะต้องผ่านไทย อย่างไรก็ตาม หากมองในอีก 10-20 ปีข้างหน้า แม้ญี่ปุ่น จีน อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ มีความสำคัญ แต่หัวใจสำคัญคือ ภูมิภาคเอเชีย 

             อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวรายงานถึงยุทธศาสตร์ชาติมุ่งวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโรดแม็พสู่การปฏิรูปให้ประเทศไทยพัฒนาเติบโตยั่งยืน ลดความผันผวน แก้ไขปัญหาที่มีอยู่และสามารถก้าวทันโลก ดังนั้น จำเป็นต้องปฏิรูปปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่มุ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี ให้สร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยการขับเคลื่อนดังกล่าวจะต้องมีความร่วมมือที่ดีกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งไทยและญี่ปุ่นจะร่วมพัฒนาสร้างประโยชน์แบบ Win Win เพื่อเป็นแนวทางที่ยั่งยืน สอดรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคและเวทีโลก

                  โดยเฉพาะ 3 เรื่องหลักภายใต้ความตกลง ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยในทุกอุตสาหกรรมเป้าหมายไทยมีแนวทางการทำงานที่เป็นระบบ มี 12 กลุ่มประชารัฐร่วมกำหนดโรดแม็พ โดยภาครัฐต้องการให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การสร้างฐานข้อมูลอุตสาหกรรม ดิจิทัล การถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.การร่วมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยการสร้างเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมเอสเอ็มอีประจำจังหวัด เน้นการสนับสนุน ช่วยเหลือเอสเอ็มอีในพื้นที่ พร้อมให้เอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นเกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยใช้เครือข่าย แลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยี รวมถึงการสร้างตลาดใหม่โดยตรง และ 3.การร่วมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะสร้างโอกาสในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งภาครัฐเตรียมสิทธิประโยชน์ทางด้านมาตรการภาษี นิติบุคคล การนำเข้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนญี่ปุ่น 

                ขณะที่ อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเวทีการสัมมนา “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น” ว่าการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นครั้งนี้ นับเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ในวันที่ 26 กันยายนนี้ และข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ เจเทป้า จะครบรอบ 10 ปี ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เช่นกัน ถือเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงการอำนวยความสะดวกในการค้าให้คล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) จึงได้ปรับปรุงขั้นตอน แก้ไขกฎระเบียบ และวางนโยบายการดำเนินงาน ที่เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนต่างชาติ และนำไปสู่การค้าการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน    

           ด้าน ฮิโรยูกิ อิชิเกะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างมาก และจากการที่ เจโทร ได้จัดงานซิมโพเซียม โดยเชิญ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเยือนที่กรุงโตเกียว และมีนักธุรกิจร่วมงาน 1,000 คน ซึ่งงานครั้งก็เช่นกันเป็นโอกาสดีในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์โอกาสครบ 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น ให้แนบแน่นขึ้น

               ทั้งนี้ ปัจจุบัน นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเป็นมูลค่ารวม 7.15 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 40% ของการลงทุนจากทั่วโลก และบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 5,000 บริษัท ถือว่ามากที่สุดในโลก แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป มีอัตราการเกิดต่ำ มีสัดส่วนผู้สูงวัยมากขึ้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้ประเทศเวียดนามผงาดขึ้น ซึ่งนักธุรกิจญี่ปุ่นเห็นถึงความคลุมเครือที่เกิดขึ้นและได้ลดการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมของไทยลง

                ประธานเจโทรกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้ออกนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” และมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นตัวเชื่อมโยงกำหนดอนาคตไทยและญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นมองว่า การขับเคลื่อน “ประเทศไทย 4.0” ไทยไม่ควรมองแค่ตลาดในประเทศ แต่ควรมองภาพใหญ่ในอาเซียน และไทยต้องเป็น “ฮับ” สำคัญในการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งญี่ปุ่นพร้อมให้ความร่วมมือในพื้นที่อีอีซี, นักธุรกิจญี่ปุ่นต้องการให้ลุ่มน้ำโขงเป็นฮับโลจิสติกส์ ซึ่งประเทศไทยจะต้องเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือต่างๆ ด้านพิธีการศุลกากรจะต้องมีความสะดวก และซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้ดี รวมถึงไทยจะให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นที่เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญที่จะช่วยสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย 

               “ญี่ปุ่นคาดหวังให้ประเทศไทยรับฟังคำร้องขอของนักธุรกิจญี่ปุ่น ในเรื่องการให้คำมั่นสัญญาที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลไทย และหวังว่า สัมมนาในวันนี้จะเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งการจับคู่ธุรกิจจะช่วยสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น” ประธานเจโทร กล่าว

                อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นการสัมมนานักธุรกิจไทยและญี่ปุ่นประมาณ 1,200 ราย ได้มีโอกาสพบปะหารือตามกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการจัด Business Matching ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ร่วมกันและมิตรภาพที่ยาวนานต่อไป ส่วนกำหนดการในวันที่ 13 กันยายน คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งหมดจะเดินทางไปดูพื้นที่จริงในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืิออีอีซี ใน จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง ก่อนจะเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในวันเดียวกัน 

  “ฮิตาชิ”บรรลุข้อตกลงอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์

              บริษัท ฮิตาชิ จำกัด บรรลุข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้(12 ก.ย.) กับสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งรวมถึงอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ IoT (Internet of Things) ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้งวางโครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวล้ำเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอีอีซีในประเทศไทย โดยในปี 2559 รัฐบาลได้นำเสนอแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวที่มุ่งไปสู่เศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคตจะก่อให้เกิดการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมกันราว 1.5 ล้านล้านบาท หรือราว 5 ล้านล้านเยน โดยฮิตาชิมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมในยุค IoT กับทุกภาคส่วน และมีแผนการดำเนินงานระยะกลางภายในปี 2561 (2018 Mid-term Management Plan) ที่จะส่งเสริมการเติบโตในตลาดทั่วโลกผ่านธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Business) โดยจะร่วมมือกับลูกค้าในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ผ่านการผสมผสานเทคโนโลยีปฏิบัติการ (Operational Technology) และระบบไอที รวมทั้งผลิตภัณฑ์เข้าด้วยกัน โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จึงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในกลยุทธ์การเติบโตของฮิตาชิดังกล่าว สำหรับประเทศในอาเซียนที่ฮิตาชิมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดก็คือประเทศไทย ซึ่งฮิตาชิดำเนินธุรกิจในหลายประเภท อาทิ อุตสาหกรรมรถไฟ ผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรม และธุรกิจระบบข้อมูลและโทรคมนาคม เป็นต้น และภายใต้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอีอีซีในครั้งนี้ ฮิตาชิจะสานต่อความมุ่งมั่นที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการใช้งานเทคโนโลยี IoT ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด

     

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ