ข่าว

“จีพีเอสซี”เล็งหาพันธมิตรร่วมลงทุนธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“จีพีเอสซี” เล็งหาพันธมิตรร่วมลงทุนธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

 

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรร่วมลงทุนธุรกิจใช้บริการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน(โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อส่งเสริมนโยบายของภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลายราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น ภายหลังจากที่ภาครัฐสามารถออกระเบียบรองรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ชัดเจน

ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรี ในอัตราต่ำกว่าราคาขายส่งไฟฟ้า 2.60 บาทต่อหน่วย ยังเป็นอัตราที่ไม่จูงใจ โดยมองว่า การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปและการติดตั้งแบตเตอรื่กักเก็บพลังงาน (Energy storage)จะต้องดำเนินการควบคู่กัน และมาตรการของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริม ซึ่งควรพิจารณาต้นแบบจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในราคาต่ำ ทำให้ประชาชนหันไปติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง ส่วนเกาหลี ใช้มาตรการรับซื้อไฟฟ้าสูงเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนติดตั้งแบตเตอรี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บริษัท ต้องการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เร่งรัดออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เพื่อกำหนดมาตรฐานรองรับ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยเร็วเพื่อส่งเสริมด้านคุณภาพและความปลอดภัย

“บริษัท มั่นใจว่า ในปี2562 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 1,900 เมกะวัตต์ ตามเป้าหมาย ส่วนที่ ประธานบอร์ดบริษัทต้องการให้เพิ่มกำลังผลิตอีก 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2563 นั้น เชื่อว่าจะเป็นไปได้ จากการสร้างการเติบโตธุรกิจไฟฟ้าไปพร้อมกับกลุ่มปตท. เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในปั๊มปตท.นำร่อง 3 แห่งปีนี้ ก่อนขยายผลในปีหน้า และนำร่องติดตั้งบนหลังคาโรงงาน 1 แห่งปีนี้ การขยายการเติบโตในต่างประเทศ และการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่”

นายเติมชัย กล่าวว่า บริษัทเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัท ในเร็วๆ นี้ พิจารณาอนุมัติลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ด้วยเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ เพื่อรองรับการกักเก็บพลังงานในการผลิตไฟฟ้า ระยะแรก กำลังผลิตราว 100 เมกะวัตต์-ชั่วโมง คาดใช้เงินลงทุนใกล้เคียง 1,000 ล้านบาท ซึ่งสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปพันธมิตรร่วมลงทุน และเริ่มก่อสร้างโรงงานในปีหน้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ