ข่าว

 รับทัพ“นักธุรกิจญี่ปุ่น”เยือนไทยลงทุนในอีอีซีวันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รับทัพ“นักธุรกิจญี่ปุ่น”เยือนไทย มุ่งเป้าการลงทุนในโครงการ“อีอีซี”

             นับเป็นครั้งแรกในการเดินทางมาเยือนไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่น นำโดยรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) มีจำนวนกว่า 560 บริษัท ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2560 เพื่อสำรวจลู่ทางการค้า การลงทุน และหารือแนวทางการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ซึ่งจะครบ 130 ปีในวันที่ 26 กันยายนนี้ด้วย โดยนักธุรกิจกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เคยเดินทางมาลงทุนในประเทศไทยมาก่อน ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากทางญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาขยายการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดรับกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล

              การเดินทางมาของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นครั้งนี้จะมีการลงนามความร่วมมือบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ใน  7  เรื่อง เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 เอกชนรายใหญ่ ได้แก่ สหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (ไคดันเรน) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ความร่วมมือระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) เพื่อร่วมกันโปรโมทการลงทุนในอีอีซี, การลงนามความร่วมมือของบริษัทญี่ปุ่นที่สนใจจะลงทุนในอีอีซี, ความร่วมมือด้านการศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากร และความร่วมมือยกระดับเครือข่ายศูนย์เอสเอ็มอี โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด (Flex Campus) ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นถ่ายทอดความรู้ฝึกอบรมผู้ประกอบการไทย ความร่วมมือระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร กับบริษัทฮิตาชิซึ่งจะเข้ามาลงทุนในเรื่องของบิ๊กดาต้า และ IoT (อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์)ในพื้นที่อีอีซี  กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับองค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) และบริษัท JC Service Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในเรื่องพลังงานชีวมวล มีความต้องการแสวงหาซัพพลายเออร์ไบโอแมสกับประเทศไทย

                 ไม่เพียงเท่านั้นยังจัดให้นักธุรกิจญี่ปุ่นและไทยได้หารือวางแนวทางร่วมลงทุนระหว่างกัน (Business Networking) โดยจะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเครื่องมือแพทย์ และสุขภาพ กลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และกลุ่มดิจิทัล โดยจะมีนักธุรกิจฝ่ายไทยกว่า 300 บริษัท และนักธุรกิจจากญี่ปุ่นกว่า 560 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ 70-80% ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทย ส่วนบริษัทที่เคยเข้ามาลงทุนในไทยแล้วก็แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อย่างเช่น อายิโนะโมะโต๊ะ แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มอาหารชั้นสูง และฮิตาชิ สนใจลงทุนในระบบบิ๊กดาต้า เป็นต้น  รวมกับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วอีก 300 บริษัท รวมกว่า 800 บริษัท ส่วนบริษัทใหญ่ที่ยืนยันเข้าร่วมงานของไทย เช่น เอสซีจี, ปตท., เซ็นทรัล, ศรีไทย เป็นต้น

              “บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มาร่วมงานในครั้งนี้ จะมาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งการที่รัฐมนตรีเมติพาคณะนักธุรกิจมาเยือนไทยในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นคณะใหญ่ที่สุดที่เคยเดินทางมาไทย แสดงให้เห็นว่าภาครัฐบาลและเอกชนญี่ปุ่นให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าการพบปะระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ชาติในครั้งนี้ จะเห็นการร่วมลงทุนภายในไตรมาส 4 ของปีนี้" 

           อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะเจ้าภาพหลักในการเตรียมต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่น นำโดย ฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) โดยในวันจันทร์นี้(11 ก.ย.) รัฐมนตรีกระทรวงเมติ พร้อมด้วยนักธุรกิจจะเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากนั้นวันอังคารที่ 12 กันยายนเข้าร่วมสัมมนาใหญ่ โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมปาฐกถาพิเศษและร่วมจับคู่ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะมีนักลงทุนทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าร่วม รวมกว่า 1,200 ราย เช่น เอสซีจี, ปตท., เซ็นทรัล, ศรีไทย เป็นต้น เพื่อรับฟังยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศไทยและแนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรมแมตชิ่ง จากนั้นในวันพุธที่ 13 กันยายน จะนำนักลงทุนลงพื้นที่อีอีซีเพื่อเยี่ยมชมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่จริง ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี ใน จ.ชลบุรี และระยองเพื่อดูช่องทางการลงทุนต่อไป 

             ก่อนหน้าเดินทางมายังประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่นกลุ่มนี้ก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศฟิลิปปินส์มาแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงกำลังหาพื้นที่สำหรับขยายการลงทุน แต่จากการหารือกับญี่ปุ่น รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่าไทยเหมาะจะเป็นประเทศแรกที่เป็นพาร์ตเนอร์ในการร่วมพัฒนาไปยังอุตสาหกรรม 4.0 จึงได้มีการพัฒนาไปยังการเซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือ และนำนักลงทุนมาเยือนครั้งนี้ ซึ่งยอมรับว่าประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดีในการใช้พัฒนาในด้านต่างๆ   

             ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็ได้เตรียมพร้อมการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจ ระหว่างคณะเอกชนจากญี่ปุ่น คณะญี่ปุ่นในไทย และเอกชนไทยใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.เกษตร อาหาร และสุขภาพ 4.ธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์และนิคมอุตสาหกรรม และ 5.สถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐ โดย อภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะทำเอ็มโอยูกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และร่วมกันพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แลกเปลี่ยนข้อมูล จัดกิจกรรมเจรจาการค้า ตลอดจนผลักดันการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย

               นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่ การเจรจาการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจ (Business Networking) ระหว่างคณะเอกชนจากญี่ปุ่นที่เดินทางมากับคณะกว่า 500 ราย เอกชนญี่ปุ่นในไทย 300-500 ราย และเอกชนไทยกว่า 300 ราย รวมประมาณ 1,200–1,300 ราย ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอีกด้วย

             อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ระบุชัดว่าการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 (มกราคม–กรกฎาคม) มีมูลค่ารวม 30,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.24 แบ่งเป็น ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 12,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.12 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกล อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และอุปกรณ์ ขณะที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 18,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.33 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

           ก่อนหน้านี้ ฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สาขากรุงเทพฯ ได้เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยต่อโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยระบุว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย 5 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย ต้องการเห็นคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะต้องรับประกันนโยบายอีอีซีในระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน โดยขณะนี้แต่ละบริษัทรอดูท่าทีและความชัดเจนในนโยบายนี้ก่อนว่าจะสำเร็จหรือไม่ พร้อมกันนั้นยังต้องการให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในการลงทุนสาธารณูปโภคด้านคมนาคม หรือรัฐบาลไทยลงทุนเองทั้งหมด เพราะเกรงว่าการให้ภาคเอกชนลงทุนร่วมกับภาครัฐ(พีพีพี) อาจไม่สำเร็จ ประการต่อมาการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพสูงขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจอุตสาหกรรมขั้นสูงและล้ำสมัยให้เข้ามาลงทุน นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้าใช้ เช่น ลดหย่อนภาษีเป็นพิเศษให้แก่นักวิจัย ตลอดจนการปรับปรุงข้อกฎหมายและประเด็นปัญหาของหน่วยงานภาครัฐให้เอื้อต่อการลงทุน และประการสุดท้าย การปรับปรุงด้านโลจิสติกส์และการจัดเตรียมสาธารณูปโภคอื่นๆ เพราะการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก ถือเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก 

  “แคเรียร์-โตชิบา”เตรียมพร้อมลุยตลาดแอร์ในอีอีซี 

             อดิศักดิ์ รัมมณีย์ หรืออาร์ดี้ กรรมการผู้จัดการบริษัท แคเรียร์(ประเทศไทย) จำกัด เผยกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการเดินทางมาเยือนไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นในระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ ว่าเป็นโอกาสดีของประเทศไทยและนักลงทุนไทยในการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับนักลงทุนญี่ปุ่นในหลากหลายอุตสาหกรรม ในส่วนของแคเรียร์เองก็มีหุ้นส่วนอยู่กับโตชิบา ประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสของแคเรียร์และโตชิบาในการเข้าไปรุกตลาดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ด้วย

 รับทัพ“นักธุรกิจญี่ปุ่น”เยือนไทยลงทุนในอีอีซีวันนี้

                “แคเรียร์มีเครือข่ายลูกค้าอยู่ทั่วโลกบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในอีอีซี เขาอาจใช้แคเรียร์อยู่แล้ว เป็นกลุ่มลูกค้าเก่าของเรา ที่เชื่อมั่นในแคเรียร์ พอเขาเข้ามาลงทุนที่เมืองไทยก็เรียกใช้เราก่อน ตอนนี้มีหลายบริษัทได้แจ้งมาเข้ามาแล้วว่าที่โน่นใช้แคเรียร์จะมาใช้ที่นี่ด้วยจริงๆ วันนี้เราถือสองแบรนด์ มีโตชิบาด้วย คือแคเรียร์กับโตชิบามีการร่วมทุนกัน เราค่อนข้างผูกพันกับทางญี่ปุ่นเพราะเรามีเครือข่ายโตชิบาอยู่ที่นั่น จริงๆ แล้วโตชิบาเขามีธุรกิจเยอะแยะมากมายแต่เขาขายหุ้นธุรกิจแอร์ครึ่งหนึ่งให้แก่แคเรียร์ ตอนนี้เราเตรียมพร้อมทั้ง 2 โปรดักท์ที่จะตะลุยในตลาดอีอีซี”

                บอสใหญ่แคเรียร์(ประเทศไทย) ระบุอีกว่า นอกจากอีอีซีซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจเครื่องปรับอากาศแล้ว ระบบโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรัคเจอร์ภาครัฐขนาดใหญ่ที่กำลังก่อสร้างใหม่ ไม่ว่าสถานีรถไฟฟ้า สนามบิน สถานีรถไฟความสูง ฯลฯ ก็เป็นโอกาสของแคเรียร์ที่จะเข้าไปเจาะตลาดในกลุ่มเป้าหมายนี้ด้วย เนื่องจากแคเรียร์มีผลิตภัณฑ์ครบทุกขนาดตั้งแต่เครื่องปรับอากาศใช้ในบ้าน เริ่มที่ 5,000 บีทียู จนถึง 20,000 บีทียู สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงแรม อาคารตึกสูง เป็นต้น

             สำหรับแคเรียร์มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา เริ่มคิดค้นเครื่องปรับอากาศเครื่องแรกของโลกในปี 1902 ซึ่งในปีนี้ครบรอบ 115 ปีแล้ว ปัจจุบันบริษัทได้เป็นผู้นำทางด้านระบบอินเวอร์เตอร์(Inverter) ซึ่งเป็นระบบที่สามารถปรับรอบการหมุนของคอมเพรสเซอร์ให้ตรงกับลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ โดยระบบนี้จะทำให้อุณหภูมิภายในห้องคงที่ตลอดเวลา ส่งกระแสลมที่เย็นสบายอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยประหยัดไฟและยังใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 จุดเด่นญี่ปุ่นมีวินัยผ่านมุมมองนักส่งเสริมฯ

              ผศ.ดร.สุรพล จันทราปัตย์ นักวิชาการด้านการส่งเสริม สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอาจารย์พิเศษโครงการปริญญาเอกเกษตรเขตร้อน(หลักสูตรนานาชาติ) คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงการเดินทางมาประเทศไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นว่า เป็นการดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้ทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะต้องมาพร้อมกับความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะเดียวกันคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญในเรื่องการมีระเบียบวินัยมาก คนไทยก็จะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อมาปรับใช้ด้วย นอกจากนี้การลงทุนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้แรงงานน้อยลง จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้แรงงานไทยเข้าสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น

              “ก็นับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยและคนไทยที่เราจะได้เรียนรู้จากกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นจะเคร่งครัดในเรื่องระเบียบวินัยมาก คนไทยน่าจะเอาจุดเด่นตรงนี้มาปรับใช้กับการทำงานของเราได้ แล้วเทคโนโลยีจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งประเด็นนี้ไม่น่ากังวลสำหรับญี่ปุ่นเพราะเขาให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่แล้ว มีตัวอย่างให้เห็นทั้งในประเทศเขาและที่มาลงทุนในประเทศเรา” ผศ.ดร.สุรพลกล่าวย้ำ

             ขณะที่ ผศ.สุโชติ ดาวสุโข นักวิชาการอิสระด้านส่งเสริมการเกษตร กล่าวเห็นด้วยกับการเข้ามาของนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะจะช่วยยกระดับรายได้ประชาชนคนไทยเพิ่มขึ้น หลังประเทศไทยติดกับดักรายได้น้อยมานานกว่า 20 ปี แต่สิ่งสำคัญในอีก 3-5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องเร่งผลิตแรงงานที่ทักษะด้านช่างหรือสายอาชีวะให้มากขึ้นเพื่อรองรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมในโครงการอีอีซีด้วย

             “ถ้าเป็นจริงก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับประเทศไทยในการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ถามว่าภาคเกษตรได้อะไร อย่างน้อยคนไทยมีงานรองรับเพิ่มขึ้น แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีทักษะ ผลผลิตทางการเกษตรก็จะมีโรงงานอุตสาหกรรมรองรับ ไม่ต้องส่งออกเป็นวัตถุดิบอีกต่อไป มองแล้วประเทศไทยมีแต่ได้กับได้ แต่นั่นต้องหมายถึงว่าเขาต้องมาร่วมทุนกับเรา ไม่ใช่หิ้วกระเป๋าใบเดียวมาลงทุนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์กลับประเทศเขาไป สุดท้ายประเทศก็ไม่ได้อะไร” ผศ.สุโชติิกล่าวและย้ำว่า นี่เป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญที่คนไทยและรัฐบาลไทยให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนญี่ปุ่น  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ