ข่าว

500ธุรกิจญี่ปุ่นบุกไทย  เตรียมลงนามเอ็มโอยู7ฉบับ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

500ธุรกิจญี่ปุ่นบุกไทย  เตรียมลงนามเอ็มโอยู7ฉบับ 

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 11 – 13 ก.ย. นี้ Mr. Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) พร้อมด้วยหน่วยงานเศรษฐกิจภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (KEIDANREN), องค์การส่งเสริมการค้าของญี่ปุ่นกรุงเทพ (JETRO), องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JICA), องค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) รวมทั้งคณะนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 560 ราย และสื่อมวลขนญี่ปุ่นอีก 40 ราย เดินทางมาสำรวจลู่ทางการลงทุนในไทย

โดยการพบปะของนักธุรกิจทั้ง 2 ชาติในครั้งนี้จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการญี่ปุ่น 560 ราย กับผู้ประกอบการชาวไทยอีกกว่า 300 ราย แบ่งเป็น 4 โซนตามประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

ได้แก่ โซนที่ 1 กลุ่มยานยนต์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะ, การบิน, การบำรุงรักษาอากาศยาน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โซนที่ 2 กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และดิจิทัล โซนที่ 3 กลุ่มการแพทย์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหาร ประกอบด้วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้านการแพทย์และสุขภาพ, ศูนย์การแพทย์, เทคโนโลยีชีวภาพ, อาหาร, เชื้อเพลิงชีวภาพ, ชีวเคมี และ โซนที่ 4 กลุ่มธุรกิจบริการ ประกอบด้วย การค้าปลีกค้าส่ง โลจิสติกส์ และสวนอุตสาหกรรม 

นอกจากนี้ ยังมีโซนที่ 5 ที่หน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน เช่น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะมาให้ข้อมูลกับนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย 

“ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่เดินทางมาในครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เหลือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฐานการลงทุนในไทยแล้ว และมีแผนที่จะขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในไทย ซึ่งในวันที่ 12 ก.ย. จะมีกิจการสัมมนาสร้างความเชื่อมโยงธุรกิจ ฝ่ายไทยจะนำเสนอข้อมูลนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี และรายละเอียดโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะที่ฝ่าย เมติ และภาคเอกชนญี่ปุ่นจะนำเสนอผลการศึกษาโอกาสการลงทุนในไทย และจะลงนามในเอ็มโอยู 7 ฉบับ” 

สำหรับการลงนามความร่วมมือทั้ง 7 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) กับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (๋JCCI) 2.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) 3.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด (Flex Campus) ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และกรุงเทพ โดยจะความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นถ่ายทอดความรู้ฝึกอบรมผู้ประกอบการไทย 

4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร กับบริษัทฮิตาชิ ซึ่งจะเข้ามาลงทุนในเรื่องของบิ๊กดาต้า และ IoT (อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงค์) ในพื้นที่อีอีซี 5.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) 6.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ องค์การสนับสนุนเอสเอ็มอีแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) และ7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และบริษัท JC Service Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในเรื่องพลังงานชีวมวล มีความต้องการแสวงหาซัพพลายเออร์ไบโอแมสกับประเทศไทย 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีก 20 ราย สนใจที่จะเข้ามาหารือร่วมลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ได้แก่ AJINOMOTO CO.,INC , Mitsui Sumitomo Insurance Co.,Ltd. , ITOCHU Coporation , Kubota Corporation , Denso Corporation , Toyota Motor Corporation , NEC Corporation , Mizuho Bank , Asahi Glass Co.Ltd. , Komatsu Seiki Co.Ltd. , Mitsubishi Co. , JC Service , Shinwa Technology , All Nippon Airways , Asahi Yukizai Corporation , Maruri Foods Co.Ltd. , FOMM Corporation , Transcmos Inc , BizMobile Inc. , SUNCORPORATION , METAL HEAT Co. Ltd. , YU-KI Co. Ltd. และ Fujisan Onsensui Co. Ltd. 

“ในวันที่ 12 จะมีบริษัทจากญี่ปุ่น และไทยฝ่ายละ 3-4 ราย มานำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ของทั้ง 2 ประเทศ มานำเสนอให้กับผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เห็นถึงแนวโน้มในการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตร่วมกัน ซึ่งในส่วนของบริษัทของไทย 3-4 รายที่จะนำนวัตกรรมมาจัดแสดงได้มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้คัดเลือก”

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหนึ่งในเจ้าภาพหลักของการนำคณะเดินทางเพื่อชมความพร้อมของประเทศไทยในครั้งนี้ และเบื้องต้นได้เตรียมจัดกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การสร้างกรอบความร่วมมือและทำความเข้าใจในการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve การลงพื้นที่เยี่ยมชมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่จริงของอีอีซี ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมเหมราช สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี ในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ตลอดจนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาและกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน หรือเป็นที่ตั้งของ สถานประกอบกิจการแต่ละประเภทไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้พร้อมสำหรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่จะตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยได้ตรงกับความต้องการของแต่ละสาขา 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีแผนที่จะเร่งให้นักลงทุนญี่ปุ่นมีการลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธุรกิจท้องถิ่น พร้อมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อนให้มากขึ้น โดยหลังจากนี้จะหยิบยกมาตรการการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และการแก้ไขกฎหมายบางส่วนที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นและชาติอื่น ๆ

โดยหวังว่าความร่วมมือกับญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเกิดการลงทุนต่อไปยังเพื่อนบ้านมากขึ้น และเกิดการร่วมลงทุนการซื้อขายวัตถุดิบและชิ้นส่วน การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ เช่น ด้านยานยนต์ อาหารแปรรูป ทั้งยังจะเป็นหนทางไปสู่การพัฒนานวัตกรรมในสาขาใหม่ ๆ ตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 12 ก.ย.จะเปิดให้ภาคเอกชนของทั้ง 2 ประเทศนำผู้ประกอบการประเทศละ 3-4 ราย มาเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ โดยนวัตกรรมฝ่ายไทย แบ่งให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำเสนอ2 บริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วน ส.อ.ท. จะคัดเลือก 2 บริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทที่เหมาะสม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ