ข่าว

สนข.ผุดแผนโลจิสติกส์ “3.4แสนล้าน”ระยะ5ปี 101 โครงการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนข.ผุดแผนโลจิสติกส์ “3.4แสนล้าน”ระยะ5ปี 101 โครงการ

 วันที่ 6 ก.ย.60 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดการสัมมนานำเสนอผลงานและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบอุตสาหกรรมอนาคตซูเปอร์ คลัสเตอร์ (Super Cluster) และประตูการค้าสำคัญของประเทศ  โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 150 คน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยในฐานะประธานเปิดการสัมมนาฯ ว่า ปัจจุบันทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปในรูปแบบคลัสเตอร์ เช่น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบซูเปอร์ คลัสเตอร์,แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้มีการเดินทางและขนส่งสินค้ามากขึ้น 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแผนพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัด สนับสนุนการค้าชายแดน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาดังกล่าว

สนข. จึงว่าจ้างที่ปรึกษา ทำการศึกษาและวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนพัฒนาระบบเครือข่ายโลจิสติกส์ ฯ เป็นระยะเวลา 8 เดือน เน้นการศึกษาใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ซูเปอร์ คลัสเตอร์ และจ.สระแก้ว จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นประตูการค้าสำคัญในชายฝั่งทะเลตะวันออก

เบื้องต้นการพัฒนาได้บรรจุโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side)และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ (Soft Side)101 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 342,000 ล้านบาท มีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560-2564

วงเงินส่วนใหญ่จะใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งโครงการต่อขยายและโครงการใหม่ เช่น การเชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 7 กับท่าเรือแหลมฉบัง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นต้น แต่วงเงินดังกล่าวยังไม่รวมโครงการรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) หรือโครงการที่ยังไม่มีความชัดเจน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง เชื่อม 3 ท่าอากาศยาน วงเงิน 2.19 แสนล้านบาท โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ของท่าอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท

ด้านมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลการจราจรและใช้ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจร การสร้างระบบบริหารจัดการขนส่งเที่ยวเปล่า มาตรการกำหนดเส้นทางขนส่งสินค้าอันตราย เป็นต้น

“คาดว่าจะส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้คณะกรรมการบริหารอีอีซีพิจารณาได้ภายในกลางเดือนนี้ จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซีที่มีท่านนายกฯ เป็นประธานพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามลำดับ โดยการศึกษาฉบับนี้จะเป็นแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์ในอีอีซีและแผนการใช้งบประมาณใน 5 ปีข้างหน้า การดำเนินงานนอกเหนือจากนี้จะทำไม่ได้” นายชัยวัฒน์กล่าว 

และคาดว่าเมื่อมีการพัฒนาตามแผนงานดังกล่าว ร่วมกับการพัฒนาเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวแล้วเสร็จจะส่งให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 4%ในปี 2564 และ 4.9%ในปี 2569 ส่วนจีดีพีของพื้นที่ 3 จังหวัดใน EEC คาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 18%ในปี 2564 และ 40%ในปี 2569

นอกจากนี้ จะสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ทางถนนได้ 2.67% และการขนส่งทางรางได้ 19.83% หรือทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เฉลี่ยรวมลดลง 2.69% จาก 1,333.3 ล้านบาทต่อวัน เหลือ 1,297.4 ล้านบาทต่อวัน ขณะเดียวกันทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.5% และทำให้รายได้เฉลี่ยสูงขึ้น 4.6%

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ