ข่าว

เพิ่มงบไฮสปีดเทรน“ไทย-จีน”ปิดทางถ่ายทอดเทคโนโลยีวิศวกรไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพิ่มงบไฮสปีดเทรน“ไทย-จีน”ปิดทางถ่ายทอดเทคโนโลยีวิศวกรไทย

 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 29ส.ค.60 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างสัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (Construction Supervision Consultant Service Agreement) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วง กทม.-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วง กทม.-นครราชสีมา) 

โดยปรับวงเงินจ้างที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นจากวงเงินเดิม 1,649.08 ล้านบาท เป็น 3,500 ล้านบาท โดยจะไม่กระทบวงเงินการก่อสร้างโครงการในภาพรวมที่ตั้งไว้ 1.79 แสนล้านบาท เนื่องจากใช้วิธีการปรับเปลี่ยนจากค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับวงเงินรวมของโครงการ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมชี้แจงเหตุผลในการปรับเพิ่มวงเงินในสัญญาที่ 2.2 ซึ่งเป็นสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างเป็นวงเงิน 3,500 ล้านบาท หรือปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500 ล้านบาท เนื่องจากในร่างสัญญาที่ไทยจะลงนามกับจีนเนื่องจากมีการเพิ่มเนื้องานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง

นอกจากนี้ยังพิจารณาปรับขอบเขตของงานในการบริหารจัดการบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับสัญญามาตรฐานการควบคุมงาน โดยกรอบวงเงินสัญญาจำนวนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 3% ของวงเงินการก่อสร้างงานโยธาที่มีวงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตาม อัตราค่าจ้างที่ปรึกษางานระบบราง ขั้นตอนงานบริหารและควบคุมการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ (มากกว่า 6 หมื่นล้านบาทขึ้นไป) ของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กระทรวงการคลังกำหนดอยู่ที่ระหว่าง3.5 - 4.5 %ของมูลค่าการก่อสร้าง 

รวมทั้งเงื่อนไขการปรับปรุงวงเงินดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างวิศวกรผู้ควบคุมโครงการชาวจีนกับวิศวกรชาวไทยเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่อกัน โดยสัญญามีระยะเวลาในการดำเนินการ 46 เดือน

โดยร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับที่ ครม.อนุมัติแล้วอยู่ภายใต้สัญญาที่ 2 ของสัญญารถไฟความเร็วสูง ที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของจีนรวมวงเงิน 43,748.69 ล้านบาทซึ่งในสัญญาที่ 2 ประกอบไปด้วย ร่างสัญญาที่ 2.1 สัญญาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 1,649.08 ล้านบาท ร่างสัญญาที่ 2.2 สัญญาที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง มูลค่า 3,500 ล้านบาท และที่รอเสนอเข้าครม.ในระยะต่อไปคือ สัญญาที่ 2.3 คือสัญญางานวางรางงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมทั้งจัดหาขบวนรถและฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 38,558.38 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นค่าบริหารจัดการก่อสร้างของฝ่ายไทยวงเงิน 1,233.33 ล้านบาท

ทั้งนี้สัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างที่ครม.ให้ความเห็นชอบในวานนี้ (29 ส.ค.)กระทรวงคมนาคมจะนำไปลงนามร่วมกับรัฐบาลจีนในระหว่างการประชุมยอดผู้นำ BRICS Summit ครั้งที่ 9 ในระหว่างวันที่ 4 - 5 ก.ย.นี้ที่ประเทศจีน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นสักขีพยานในการลงนาม ร่วมกับสัญญาการออกแบบที่ ครม.เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ขณะที่สัญญาที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดหาหัวรถจักรและขบวนรถเป็นสัญญาที่จะมีการหารือและลงนามร่วมกันในระยะต่อไป

ในวันเดียวกัน นายจุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกร อำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้เปิดการประชุมการมีส่วนร่วม ของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการ แนวเส้นทางโครงการ รูปแบบการก่อสร้าง และประโยชน์ของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

“ร.ฟ.ท. จะจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเสนอผลสรุปผลการศึกษาโครงการ ในช่วงเดือนต.ค. 2560 จากนั้น จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากผู้เข้าร่วมการประชุม นำมาพิจารณาประกอบรายงานผลการศึกษาโครงการฯ และจะจัดเตรียมส่งมอบให้กับกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ