ข่าว

"ยูเอซี"เตรียมจับมือพันธมิตรลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในลาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ยูเอซี"เตรียมจับมือพันธมิตรลุยลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในลาว ขนาด 5-6 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 1 พันล้านบาท คาดเห็นความชัดเจน ก.ย.นี้

             นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ารีไซเคิลขยะในประเทศลาว ขนาดกำลังผลิตประมาณ 5-6 เมกะวัตต์ โดยจจะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นที่ได้รับสัมปทานขยะนานกว่า 20 ปี และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับทางการลาว ซึ่งรูปแบบการลงทุน เบื้องต้น โครงการมีมูลค่า 1,000 ล้านบาท บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 51% และพันธมิตร ถือหุ้นสัดส่วน 49% คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเห็นความร่วมมืออย่างเป็นทางการได้ไม่เกินเดือนกันยายน 2560 นี้ หลังจากที่ได้ข้อสรุปแผนการลงทุนเบื้องต้นกับพันธมิตรไปแล้ว โดยหากโครงการเป็นไปตามที่วางแผนไว้ คาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้เร็วสุดปลายปีนี้และก่อสร้างเสร็จภายใน 2 ปี 
             “ในช่วง 2-3 ปีนี้ นโยบายรับซื้อไฟฟ้าของไทยยังไม่มีความชัดเจน บริษัทจึงต้องหันไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในรอบ ๆ บ้าน โดยเฉพาะ CLMV ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังเติบโต ทั้งเมียนมา ลาว และยังมองหาโอกาสลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น ขนาด 20 เมกะวัตต์ โดยจะจับมือกับพันธมิตร คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า” นายกิตติ กล่าว 
             สำหรับแหล่งเงินลงทุนเบื้องต้น บริษัทมีหุ้นกู้ที่ได้ขออนุมัติจากคณะกรรมการ(บอร์ด)ไว้แล้ว 1,000 ล้านบาท ซึ่งใช้ไปแล้ว 500 ล้านบาท และมีโอกาสที่จะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมได้ รวมถึงยังมีกำไรสะสมที่พร้อมนำมาใช้ในการลงทุนได้

             นอกจากนี้ ยังมีแผนนำบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์  แอนด์ เคมิคัลส์  จำกัด(UAPC) ที่เป็นผู้ผลิตลาเทคโพลิเมอร์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ในปลายปี 2561 ซึ่งจะช่วยให้บริษัท มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 
             ส่วนแผนการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรร่วมลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบผสมผสาน(ไฮบริด) แบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียร(เฟิร์ม) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี) หรือ เอสพีพี ไฮบริด เฟิร์ม จำนวน 300 เมกะวัตต์

              โดยมีแผนจะเข้าร่วมประมูล 2 โครงการ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดกำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ส่วนเชื้อเพลิงอาจผสมผสานระหว่างชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) ซึ่งมั่นใจว่าราคารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบฟีดอินทารีฟ(FIT)ไม่เกิน 3.66 บาทต่อหน่วยเป็นอัตราที่แข่งขันได้ 
             ปัจจุบัน บริษัท มีโรงไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)แล้ว 10.5 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ขนาด 1.5 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ จ.สุโขทัย ขนาด 7 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์รูฟท็อป ขนาด 2 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ จ.ขอนแก่น 2 โรง โรงละ 1.5 เมกะวัตต์ ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ยังไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) คงต้องรอการประมูลรับซื้อจากรัฐซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบเอสพีพีไฮบริด หรือ โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไฮบริดแบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียรชั่วคราว(เซมิ-เฟิร์ม)

              สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก(วีเอสพีพี) หรือ วีเอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม ที่จะเปิดรับซื้อ 269 เมกะวัตต์ รวมถึง โรงไฟฟ้า จ.สุโขทัย ในอนาคตยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 2 เมกะวัตต์
               นายกิตติ เผยอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2560 คาดว่า รายได้จะเติบโตตามเป้าหมาย 1.8 พันล้านบาท จากการรับรู้รายได้ธุรกิจพลังงาน 250 ล้านบาท และส่งผลดีต่อเนื่องถึงปี 2561 รวมถึงจะมุ่งเน้นธุรกิจเทรดดิ้งและเคมีภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตโรงงาน UAPC จาก 1 หมื่นตัน เพิ่มเป็น 2 หมื่นตัน จะแล้วเสร็จต้นปี 2561 คาดว่าจะทำให้รายได้โตเท่าตัว จากปัจจุบันมีรายได้ 400-500 ล้านบาทต่อปี 
             สำหรับแผนการลงทุนช่วง 3 ปี(ปี 2560-2562) บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 50 เมกะวัตต์ในปี 2562

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ