ข่าว

 กรมชลผนึกกนอ.สร้างเขื่อนน้ำจืดในทะเลรับโครงการ“อีอีซี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 กรมชลผนึกกนอ. สร้างเขื่อนน้ำจืดในทะเล เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ  รองรับโครงการ “อีอีซี”

           กรมชลประทานผนึกกำลังกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมเพิ่มน้ำสำรอง รองรับโครงการอีอีซี  โดยสร้างเขื่อนน้ำจืดออกไปในทะเล ถอดแบบจากมาริน่า บาร์เรจ  ของสิงคโปร์ แปลงพื้นที่น้ำเค็มเป็นน้ำจืดอีกประมาณ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง

              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงแนวทางการจัดหาน้ำสำรองเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ว่าจะมีแนวทางใดบ้าง นอกจากการใช้ 3 อาร์ คือ รียูส (Reuse) รีดิ๊วซ์ (Reduce) และรีไซเคิล (Recycle) หลังจากรัฐบาลมีแนวคิดผันน้ำจากเขื่อนสตรึงนัมของกัมพูชา ปริมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. เข้ามาใช้ ขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำสำรองในพื้นที่ด้วย นอกจากอ่างเก็บน้ำจาก 3 เขื่อนหลักที่มีอยู่แล้ว ซึ่งประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่  อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกราย ที่ป้อนน้ำจืดให้โรงงานนิคมฯ มาบตาพุด จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

            "ไม่ว่าอิสต์ วอเตอร์ หรือ การประปาส่วนภูมิภาค ก็ต้องไปหาน้ำสำรองเพิ่ม นอกจากทำ 3 R แล้ว ส่วนหนึ่งก็ต้องผลิตเอาจากน้ำทะเลมาใช้ การนิคมฯ มีที่อยู่ติดทะเล สามารถก่อสร้างอาคารกั้นน้ำในทะเล เพื่อแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดได้"

           รองอธิบดีกรมชลประทานเผยต่อว่า  สำหรับการสร้างเขื่อนหรืออาคารกั้นน้ำในทะเล สำหรับสร้างแหล่งน้ำสำรองในภาคอุตสาหกรรมนั้นมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ การแปลงน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดโดยผ่านกระบวนการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalination) โดยใช้เทคนิคก้าวหน้าเช่นเดียวกับประเทศอิสราเอล และการใช้น้ำจืดไล่น้ำเค็มแล้วเก็บน้ำจืดไว้ในเขื่อน โดยถอดแบบมาจากมารีน่า บาร์เรจ (Marina Barriage) ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งใช้เขื่อนในทะเลเป็นที่รองรับน้ำจืดในช่วงฤดูน้ำหลากมาเก็บกักไว้แทนปล่อยลงทะเล ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับเก็บกักน้ำสำรองในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปัจจุบันการสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่เกือบจะไม่มีแล้ว

              "เราต้องมาศึกษาว่าสามารถเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดเลยได้ไหม ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งสิงคโปร์เขาทำอยู่แล้วที่มารีน่า บาร์เรจ เขาก็พร้อมศึกษาให้โดยใช้งบศึกษาประมาณ 20 ล้านบาท   อีกทางหนึ่งเอาน้ำจืดมาจากอ่างเก็บน้ำของ 3 เขื่อนใหญ่ใน จ.ระยอง คือ คลองใหญ่ หนองปลาไหล และดอกกราย ในช่วงฤดูน้ำนอง ผันน้ำลงมาดีกว่าเอาทิ้งทะเลสูญเปล่า”

               การเตรียมระบบน้ำสำรองในพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมภาคตะวันออกนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน กับ กนอ. โดยกรมชลประทานรับผิดชอบด้านเทคนิคการก่อสร้างเขื่อนและการผันน้ำ ในขณะ กนอ. รับผิดชอบเรื่องพื้นที่เขื่อนรองรับน้ำ ซึ่งคาดว่าหากทำได้จะสามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 4-5 ล้านลูกบาศก์เมตร

                  ดร.สมเกียรติระบุอีกว่า ไม่ว่าแนวทางใดก็ต้องวางแผนทำ ปัจจุบันปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ตามเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่จะสามารถรองรับการใช้ได้อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวโตขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณการใช้น้ำยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การหาแหล่งน้ำสำรองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากไม่คิดหาทางตั้งแต่ตอนนี้พอถึงวันนั้นก็จะลำบาก ดังตัวอย่างในปี 2548 พื้นที่ภาคตะวันออกประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก จนต้องนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปช่วยภาคอุตสาหกรรม

               “เราจะทำแบบทูอินวัน คือทำสองอย่างไปพร้อมกัน ผลิตจากน้ำทะเลเป็นน้ำจืด และนำน้ำจากข้างบนมาเก็บไว้  เป็นแนวทางที่เรานำเสนอกับ กนอ.”

              ทั้งนี้  ในการเตรียมจัดหาน้ำรองรับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กรมชลประทานวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ 4 แห่ง ใน จ.จันทบุรี ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อผันน้ำลงมาที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ในช่วงน้ำหลาก เพื่อผันต่อมายังอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งที่มีอยู่แล้ว จากนั้นวางแผนผันน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรจากเขื่อนสตรึงนัม กัมพูชา เข้ามาเสริม และการสร้างเขื่อนในทะเลของ กนอ. เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำเป็นรายการล่าสุด

                  โครงการอีอีซี จะมีพื้นที่ดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีอุตสาหกรรมเดิม 5 ประเภท และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอีก 5 ประเภท มีการเตรียมการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมาย ไม่ว่าโครงข่ายถนน รถไฟความเร็วสูง  ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และ ฯลฯ คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มมากถึง 10 ล้านคน

                                                            ****************

                                                           

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ