ข่าว

ซีอีโอปตท.ลั่นธุรกิจฟื้น แผน5ปีลุยลงทุน“อีอีซี” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซีอีโอปตท.ลั่นธุรกิจฟื้น แผน5ปีลุยลงทุน“อีอีซี” 

  นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มปตท. ในปีนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยช่วงครึ่งแรกปี 2560 ปตท.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 77,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,937 ล้านบาท หรือ 59.6% จากในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 48,548 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.เคยมีกำไรสุทธิสูงกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยกำไรที่เติบโตขึ้นเป็นผลมาจากการลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุนต่ำลง ซึ่งในระยะยาวจะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งกลุ่ม ปตท.ยังตั้งเป้าปีนี้ เพิ่มกำไรก่อนต้นทุนทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBIT) ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจด้าน productivity improvement อีก 28,700 ล้านบาท จาก 24,000 ล้านบาท ในปี2559 ซึ่งช่วงครึ่งแรกของปีนี้สามารถทำได้แล้ว 13,077 ล้านบาท หรือ 46% ของเป้าหมาย ซึ่งEBIT ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ EBIT รวมในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ที่ทำได้ระดับ 130,504 ล้านบาท 

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ได้ระดมความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงและกรรมการบริษัท เพื่อกำหนดแนวทางขับเคลื่อนองค์กรให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้ความท้าทายต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น กระแสยานยนต์ไฟฟ้า,ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวน แต่คาดว่า ในปีนี้จะปรับขึ้นลงไม่เกิน 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และคงไม่กลับไปสูงเหมือนอดีต การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เป็นต้น ซึ่ง กลุ่ม ปตท.จะเป็นกลไกในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในอนาคต และกำหนดกรอบการลงทุนสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDG) มุ่งเน้นการลงทุนที่ให้สังคมและชุมชนมีส่วนร่วม (Inclusive Business) มากขึ้น 

โดยกลุ่ม ปตท.กำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้าน Treasure ภายใต้แนวทาง “PTT 3D” ต่อเนื่อง ประกอบด้วย กลยุทธ์ Do Now คือ การมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ, Decide Now ขยายการเติบโตที่ต้องเร่งตัดสินใจ และ Design Now คือการเร่งสร้างธุรกิจใหม่ให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต โดยการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองทิศทางโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าด้านไฟฟ้า (Electricity Value Chain) และธุรกิจใหม่ภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าด้านชีวภาพ (Bio-Based Value Chain) เป็นต้น 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.เตรียมลงทุนใน 5 ปี(ปี2560 - 2564) โดยเน้นลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ประกอบด้วย โครงการคลังแอลเอ็นจี โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โครงการปรับปรุงโรงกลั่นและปิโตรเคมี และโครงการธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เช่น โครงการของแนฟทาแครกเกอร์ ของบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC ที่จะก่อสร้างรองรับปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2563 ทำให้มีกำลังผลิตเอทิลีน 5 แสนตันต่อปีและโพรไพลีน 2.6 แสนตันต่อปี

โครงการขยายกำลังผลิตของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ซึ่งจะเพิ่มกำลังกลั่นจาก 2.75 แสนตันต่อปี เป็น 4 แสนตันต่อปี ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ,โครงการของFully Integrated Polypropylene ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC ขยายกำลังผลิตจาก 4.8 แสนตันต่อปี เป็น 7.8 แสนตันต่อปี ในปี 2563

รวมถึง การลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Industry) หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Robotics) และโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่ง ปตท. ได้ลงนามบันทึกข้อตก(MOU) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และองค์กรสนับสนุน 50 หน่วยงานในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ 

โดยปตท.เตรียมตั้งประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนจัดโครงสร้าง “กองทุนร่วมลงทุน” (Corporate Venture Capital หรือ CVC) และ “ทีมสรรหาธุรกิจใหม่” (Express Solutions หรือ ExpresSo) เพื่อลงทุนต่อยอดธุรกิจในอนาคต ซึ่งได้มีการร่วมลงทุนไปแล้ว 4 กองทุนในสหรัฐ วงเงินประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการแสวงหาธุรกิจใหม่สร้างการเติบโตในอนาคต

นายเทวินทร์ กล่าวว่า นโยบายเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติของภาครัฐ โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการนำร่องจัดหาแอลเอ็นจี ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ทำให้ในอนาคต ปตท. จะมีคู่แข่งในธุรกิจแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น มองว่า เป็นเรื่องดีสำหรับประเทศที่จะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน และในระยะต่อไปประโยชน์จะตกถึงผู้บริโภค 

นอกจากนี้ ปตท.อยู่ระหว่างเตรียมแผนแยกบัญชีธุรกิจท่อก๊าซฯ ให้เกิดความชัดเจนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จในปีนี้ ส่วนจะแยกออกเป็นบริษัทหรือหน่วยงานนั้น ยังอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมภายใต้นโยบายรัฐบาล เพราะหากแยกออกมาเป็นบริษัทแล้วทำให้เกิดภาระภาษี ซึ่งส่วนนี้จะตกอยู่ในกิจการท่อก๊าซฯ และอาจกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

“สเต็ปแรกวันนี้ เราแยกบัญชีได้แล้วในส่วนของค่าใช้จ่าย รายได้ แต่อยู่ระหว่างจัดสรรภาระดอกเบี้ย และภาษี อันนี้ไม่ยากก็แยกบัญชีได้ เสร็จแล้วจะแยกเป็นบริษัทหรือหน่วยธุรกิจขอพิจารณาต่อ เพราะมันมีเงื่อนไขตามมาอีกว่าด้วยบทบาทของผู้ดำเนินการบริหารการขนส่งก๊าซ(TSO)ที่อยากให้แยกออกไปจะต้องมีทรัยพย์ด้วยหรือไม่ ถ้ามีทรัพย์ก็มีประเด็นว่าถ้าแยกเป็นบริษัทจะมีภาระภาษีในการโอนซึ่งจะเป็นปัญหาหลักแต่ถ้าไม่มีทรัพย์สินก็น่าจะแยกการบริหารจัดการTSOเป็นบริษัทได้ ถ้ามีภาษีก็อาจจะแยกเป็นหน่วยธุรกิจ แต่การบริหารจัดจะแยกระหว่างการจัดหา และซื้อขายก๊าซชัดเจนได้” นายเทวินทร์ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ