ข่าว

หอค้าชี้พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน กระทบต้นทุนเอสเอ็มอี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หอค้าชี้พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน กระทบต้นทุนเอสเอ็มอี

 

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึงสมาชิกเพื่อขอให้แสดงความคิดเห็น และผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภทธุรกิจ โดยระบุว่า หอการค้าเล็งเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเอกชน จากการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีผ่านการประเมินมูลค่าที่ดินนั้น จะส่งผลสร้างความเหลื่อมล้ำกับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน และทำให้เอสเอ็มอีมีภาระต้นทุนเพิ่ม

“ผลกระทบที่ชัดเจน หากเอสเอ็มอีที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน แต่ทำธุรกิจต่างกัน มีรายได้ต่างกัน แต่เมื่อถูกจัดเก็บภาษีต้องจ่ายเท่ากัน ก็ทำให้เอสเอ็มอีมีความเหลื่อมล้ำ มีต้นทุนเพิ่มต่างกันแล้ว เพราะอีกรายมีกำไร แต่อีกรายอาจไม่มีกำไร แต่ต้องจ่ายภาษีเท่ากัน นอกจากนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ อัตราภาษีที่จะถูกจัดเก็บใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ทำเลทอง พื้นที่ในเมือง เช่น สีลม หากทำธุรกิจประเภทร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว แต่อยู่ในพื้นที่ทำเลดี จะต้องเสียภาษีแพงขึ้น” นายภูมินทร์ กล่าว และว่า 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าข้อกำหนดจัดเก็บภาษีใหม่จะระบุว่า ไม่จัดเก็บภาษีชนเพดานสูงสุด โดยจะพิจารณาจัดเก็บต่ำกว่านั้น แต่เมื่อมีการกำหนดจัดเก็บตามมูลค่าประเมินที่ดิน หากราคาที่ดินแพงขึ้นตามความเจริญของเมือง ก็ทำให้ต้นทุนภาษีที่เอกชนต้องแบกรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นต้องถามหาความเชื่อมั่น และความชัดเจนที่เอกชนจะได้รับ หากดำเนินธุรกิจ ขยายการลงทุนตามที่รัฐบาลส่งเสริม จะต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไหร่ และเมื่อไม่เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด ก็สร้างความสับสน และความไม่แน่นอน

รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังกล่าวอีกว่า ท่าทีของหอการค้าที่ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกตื่นตัวและแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมารอดูการหารือของภาครัฐมาโดยตลอด ซึ่งเห็นว่ามีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวที่เอกชนกังวล ทั้งในเรื่องของอัตราจัดเก็บที่ไม่คงที่ แต่ก็ไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงแนวทางแก้ไข มีเพียงทางออกที่จะระบุว่าไม่จัดเก็บภาษีชนเพดาน ดังนั้นเมื่อมีความไม่แน่นอนของผู้ประกอบการ หอการค้าจึงต้องออกมาขอความเห็นจากสมาชิก พร้อมรวบรวมข้อมูล ผลกระทบ วิเคราะห์แนวทางออก เพื่อเตรียมเสนอให้รัฐบาล

“ตอนนี้ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ประเด็นปัญหา ผลกระทบต่างๆ เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากนี้ โดยประเด็นหลักๆ อย่างให้เห็นชัดเลยว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเดิม ในพื้นที่เดิม เคยเสียภาษีอยู่เท่าไหร่ และเมื่อมีการจัดเก็บในรูปแบบใหม่จะต้องเสียเพิ่มเป็นเท่าไหร่ เพราะจากการประเมินเบื้องต้น พบว่าผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษีอยู่ราว 3 ล้านบาท หากคำนวณภาษีแบบไม่เต็มพิกัดเพดานในพื้นที่กิจการเดิม ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 9 ล้านบาท เป็น 12 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กในพื้นที่เขตบางรัก จากราคาที่ดินอาคารพาณิชย์มูลค่า 20 ล้าน ซึ่งประเมินในเบื้องต้น เมื่อเสียภาษีตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะพบว่าอาคารพาณิชย์ต้องเสียภาษี 2% หรือราว 4 แสนบาทต่อปี และหากที่ดินในเขตบางรักมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีมีต้นทุนสูงขึ้น นำมาซึ่งการปรับขึ้นของราคาสินค้า กระทบต่อผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน ตามข้อกำหนดของการจัดเก็บภาษีฉบับใหม่ ที่ดินว่างเปล่าถ้าไม่มีคนเช่าเพื่อทำกิจการก็ต้องเสียภาษี เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่กำหนดว่า หากไม่มีคนเช่าก็ไม่จำเป็นต้องเสีย ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งลงทุนธุรกิจในพื้นที่ อีกทั้งในแง่ของการพัฒนาสิ่งปลูกสร้าง อาคารพาณิชย์ หากพัฒนาอาคารขึ้นมา และพบว่าความต้องการของผู้เช่ามีน้อย อาคารพาณิชย์ไม่ได้รับการใช้งานเต็มที่ แต่เจ้าของที่ดินและอาคารพาณิชย์ต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนด ถือเป็นเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนทำธุรกิจที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอแนะการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ควรกำหนดการจัดเก็บภาษีให้เป็นอัตรา (Fixed Rate) เพื่อสะดวกในการจัดเก็บภาษี และลดอัตราภาษี เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้น พ้นจากการถูกครหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่น

กรณีการประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยทรัพย์ส่วนกลางนิติบุคคลอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร ไม่ควรที่จะถูกนำมาคำนวณเป็นฐานในการจัดเก็บภาษี เพราะเป็นทรัพย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้อยู่อาศัยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนา ถือเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่ก่อเกิดรายได้ ควรได้รับการลดหย่อนภาษี

ที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่ถูกรอนสิทธิ์ เช่น ที่ตาบอด ที่ดินที่อยู่ในเขตกำหนดผังเมืองห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้าง ควรได้รับการยกเว้นภาษี และไม่ควรกำหนดบทลงโทษการจำคุก ซึ่งมีความรุนแรงเกินไปกับการกระทำที่ไม่เจตนา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ